ส่องแผนกระจาย 'Antigen Test Kit' สำหรับประชาชน 8.5 ล้านชุด

ส่องแผนกระจาย 'Antigen Test Kit' สำหรับประชาชน 8.5 ล้านชุด

เปิดแนวทางกระจาย Antigen Test Kit สำหรับประชาชน 8.5 ล้านชุด แบ่ง 6 ล้าน ลง 76 จังหวัด ขณะที่ กทม. 1 ล้านชุด อีก 1.5 ล้านชุด สำรองรองรับสถานการณ์

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 8/2564 (วาระพิเศษ) เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติจัดซื้อชุดตรวจโควิดกว่า 8.5 ล้านชุด วงเงิน 1,014 ล้านบาท เพื่อจัดหาชุดตรวจ Antigen Test Kit ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงใช้ตรวจเอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

วันนี้ (4 ส.ค. 64) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในงานประชุม “แนวทางการกระจายชุดตรวจโควิด-19 แอนติเจน เทสท์ คิท (Antigen Test Kit: ATK) เพื่อแจกประชาชน และประเด็นการจ่ายชดเชยค่าบริการ Covid-19 ที่เปลี่ยนแปลง” ว่า มติ บอร์ด สปสช. อยากให้มีการจัดหาชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนตรวจเอง เบื้องต้น 8.5 ล้านชุด เพื่อให้มีการตรวจเชิงรุกให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดซื้อโดย องค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดย สปสช. สนับสนุนในเรื่องงบประมาณ

  • แนวทางการกระจายชุดตรวจ ATK

สำหรับแนวทางการกระจายชุดตรวจ ATK เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ "นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ" ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ปัจจุบัน ได้มีการแบ่งระดับพื้นที่ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 36 จังหวัด และ พื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด โดยแบ่งพื้นที่ 3 ส่วน และดูตามจำนวนประชากรของแต่ละจังหวัดในการจัดสรร และ 8.5 ล้านชุด เป็นครั้งแรกในการจัดสรร  และอยากให้แต่ละจังหวัดเตรียมบริหารจัดการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

  • หลักการกระจาย ATK

ทั้งนี้ หลักการกระจาย ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ได้แก่

1. สำรองคงคลังเพื่อจัดสรรตามสถานการณ์จำนวน 1.5 ล้านชุด

2. จัดสรรให้กทม. จำนวน 1 ล้านชุด

3. จัดสรรให้กับจังหวัดที่เหลือ 76 จังหวัด จำนวน 6 ล้านชุด

4. จัดลำดับการจัดส่งโดยเรียงจากกลุ่มพื้นที่สีแดงเข้ม  

162807591337

"เป็นการจัดสรรครั้งแรก แต่ก็อยากให้ทุกจังหวัดมีความพร้อมในการบริหารจัดการในส่วนของ ATKที่จะลงไป โดยกระบวนการส่งมอบจะส่งมอบครั้งละ 1 ล้านชุด และส่งครั้งสุดท้าย 1.5 ล้านชุด ซึ่งจะเก็บไว้สำรอง หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงจะจัดสรรให้ทันที" นพ.กรกฤช กล่าว

  • กรอบการจัดสรร 76 จังหวัด

สำหรับกรอบการจัดสรรใน 76 จังหวัด ได้แก่

1. จากการคำนวณขั้นต้น หากประชากรไม่มาก และผู้ป่วยไม่มาก จะได้ขั้นต่ำประมาณ จังหวัดละ 40,000 ชุด

2. จัดสรรในพื้นที่สีแดงเข้มก่อน

3. จำนวนประชากร น้อยกว่า 5 แสนคน 40,000 ชุด , 5 แสน -  8 แสนคน 60,000 ชุด , 8 แสน – 1 ล้านคน 70,000 ชุด , 1 ล้าน – 1.3 ล้านคน 80,000 ชุด และ มากกว่า 1.3 ล้านคน 90,000 ชุด

162807591335

 

  • แผนการจัดสรรภาพรวม

การจัดสรร หลักๆ จะมี 8 รอบ โดย 7 รอบแรก แบ่งเป็น รอบที่ 1-2  จัดสรรให้กับพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด จำนวน 2 ล้านชุด , รอบที่ 3 – 6 พื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม และพื้นที่สีแดง 30 จังหวัด จำนวน 4 ล้านชุด , รอบที่ 7 เพิ่มเติมจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม (กทม.) จังหวัดพื้นที่สีแดง 6 จังหวัด และจังหวัดพื้นที่สีส้ม 11 จังหวัด 1 ล้านชุด ทั้งนี้ หากเป็นไปตามคาด ATK จะมาทุกวัน วันละ 1 ล้านชุด และวันสุดท้าย จะมา 1.5 ล้านชุด สำหรับสำรองเพื่อจัดสรรตามสถานการณ์

162807591483

  • แผนการจัดสรร ATK รายจังหวัด

นพ.กรกฤช กล่าวต่อไปว่า จากแผนการจัดสรร ATK เบื้องต้นในรายจังหวัด หากจังหวัดใดไม่เพียงพอ จะเร่งนำที่สำรอง 1.5 แสนชุด จัดสรรให้ในส่วนที่ขาดหรือมีความจำเป็นเร่งด่วน ขณะที่จังหวัดที่ได้จำนวน ATK น้อย คือจังหวัดที่มีขนาดเล็ก เช่น กระบี่ น่าน ซึ่งแม้จะดูมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแต่ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น เพราะฉะนั้น ในระยะแรกขอจัดสรรแบบนี้ไปก่อน

162807591486

  • จัดอบรมเจ้าหน้าที่ รพ.สต. 

“สำหรับข้อเสนอ คือ ควรมีการจัดอบรมบุคลากรทางการแพทย์ ที่ปฏิบัติงานในสถานบริการระดับปฐมภูมิ ก่อนที่จะมีการจัดสรร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ที่รับ ATK  ไปแล้ว สามารถให้บริการกับประชาชนผู้สูงอายุ ที่ทำไม่เป็น เพื่อให้ผลตรวจที่แม่นยำมากขึ้น ขณะที่ จังหวัด และกทม. ก่อนได้รับ ATK อยากให้ทำแผนการกระจายชุดตรวจไป รพ.สต.ให้ได้ก่อน ควรจะวางแผนไว้ก่อน และอยากให้มีการจัดระบบบริการรองรับผู้ป่วยกรณีมีผลบวก เช่น การอบรม รพ.สต. ในการนำผู้ป่วยเข้าระบบ ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละจังหวัด” นพ.กรกฤช กล่าว