โรงเรียนกวดวิชาในจีนปรับกลยุทธรับกฏใหม่รัฐ

โรงเรียนกวดวิชาในจีนปรับกลยุทธรับกฏใหม่รัฐ

โรงเรียนกวดวิชาในจีนปรับกลยุทธรับกฏใหม่รัฐ ซึ่งมาตรการนี้ถือเป็นการให้ความสำคัญกับสุขภาพ การเติบโตอย่างเหมาะสมกับช่วงวัย และปกป้องสิทธิในการพักผ่อนของเด็ก

บรรดาโรงเรียนกวดวิชาในจีนเร่งประเมินผลการดำเนินงานและปรับเปลี่ยนกลยุทธการดำเนินธุรกิจหลังรัฐบาลปักกิ่งประกาศให้สถาบันกวดวิชาทุกแห่งในประเทศขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ห้ามระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และห้ามจัดการเรียนการสอนในวันหยุดเมื่อวันที่ 24 ก.ค.

มาตรการนี้ถือเป็นการให้ความสำคัญกับสุขภาพ การเติบโตอย่างเหมาะสมกับช่วงวัย และปกป้องสิทธิในการพักผ่อนของเด็กและภายใต้กฏระเบียบใหม่นี้ สถาบันกวดวิชาที่รัฐบาลปักกิ่งมองว่าเป็นธุรกิจแขนงหนึ่ง หมดสิทธิที่จะระดมทุนและขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของจีนได้ ทั้งยังครอบคลุมถึงการที่บริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของจีนไม่สามารถเข้าไปลงทุน หรือซื้อกิจการของโรงเรียนกวดวิชาได้

หลังจากรัฐบาลปักกิ่งเผยแพร่กฏนี้ได้ไม่นาน ราคาหุ้นบริษัทสกอร์ลาร์ เอดูเคชัน กรุ๊ป( Scholar Education Group) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงร่วงลงกว่า 43% ขณะหุ้นนิว โอเรียนทอล เอดูเคชัน แอนด์ เทคโนโลยี กรุ๊ป(New Oriental Education & Technology Group) ร่วงลง 41%

“แอลอีเค” บริษัทวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐ ระบุว่า ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาของจีนมีมูลค่ามากถึง 260,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2561 เหตุผลที่ธุรกิจนี้มีมูลค่าสูงมากเนื่องจากการศึกษาในจีนมีการแข่งขันในระดับสูงมาก และนี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่คู่สมรสยุคใหม่ในจีนไม่อยากมีลูก สวนทางกับการที่รัฐบาลปักกิ่งหันมาสนับสนุนให้คู่สมรสในประเทศมีลูกได้มากถึง 3 คน ด้วยความหวังว่าจะเพิ่มจำนวนประชากรในประเทศ

ขณะที่ข้อมูลของบริษัทไอรีเสิร์ช ระบุว่า ในช่วงปี 2559 และปี 2562 ธุรกิจการศึกษาของจีนขยายตัว 79% มีมูลค่า 925.1 พันล้านหยวน หลังจากหดตัวไปในปี 2563 สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนในปีนี้ เคยมีการคาดการณ์กันว่า ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาในจีนจะขยายตัวเท่ากับระดับปี 2562 แต่ตอนนี้คาดว่าตัวเลขจะลดลงอย่างมาก ​

ในช่วงที่ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาเฟื่องฟู รายได้ของบริษัทนิว โอเรียนทอล เอดูเคชัน แอนด์ เทคโนโลยี กรุ๊ปเพิ่มขึ้น 16% เป็น 3,500 ล้านดอลลาร์ในปีงบการเงินสิ้นสุดเดือนพ.ค.ปี 2563 ส่วนรายได้ของทีเอแอล เอดูเคชัน กรุ๊ปเพิ่มขึ้น 37% เป็น 4,400 ล้านดอลลาร์ในปีงบการเงินสิ้นสุดเดือนก.พ.ปี 2564 แต่เมื่อทางการจีนออกกฏหมายมาควบคุม คาดว่ารายได้ของทั้งสองบริษัทจะร่วงลงอย่างหนัก

“แคนดิส ชาน”จากไดวา แคปิตัล มาร์เก็ตส์ ฮ่องกง คาดการณ์ว่ารายได้โดยรวมของนิว โอเรียนทัล อาจจะลดลงประมาณ 42% -64% ในปีงบการเงิน 2565 และปีงบการเงิน 2566 ส่วนรายได้โดยรวมของทีเอแอล เอดูเคชัน คาดว่าจะลดลงประมาณ 35%-66% ตั้งแต่ปีงบการเงิน 2565 ถึงปีงบการเงิน 2567 เนื่องจากไม่สามารถเปิดสอนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ รวมทั้งช่วงวันหยุดฤดูร้อนและฤดูหนาว

เมื่อเดือนที่แล้ว “ทีเอแอล เอดูเคชัน กรุ๊ป” ซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียนกวดวิชาประมาณ 1,100 แห่ง ประกาศว่าจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่โรงเรียนกวดวิชาภาษาต่างประเทศที่มีอยู่และสนับสนุนการศึกษาในต่างประเทศ นำโรงเรียนกวดวิชาทั้งหมดให้มารวมอยู่ในแบรนด์เดียวเพื่อสนับสนุนการรับรู้ในแบรนด์ของผู้บริโภคชาวจีน ทั้งยังมีแผนที่จะเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย

กฎระเบียบใหม่ของจีนที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ถือเป็นการสกัดกั้นการเติบโตของบริษัทใหญ่ที่เข้าไปลงทุนเป็นเม็ดเงินมหาศาลในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการเรียนการสอนในรูปแบบกวดวิชา 3 แห่งคือทีเอแอล เอดูเคชัน กรุ๊ป ,นิว โอเรียนทัล เอดูเคชัน แอนด์ เทคโนโลยี กรุ๊ปและGaotu Techedu Inc.

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจสถาบันกวดวิชาในจีนได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนทั่วโลกซึ่งรวมถึงจากกลุ่มบริษัทระดับโลกอย่างไทเกอร์ โกลบอล แมเนจเมนท์(Tiger Global Management),เทมาเส็ก โฮลดิงส์(Temasek Holdings) และซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป คอร์ป(SoftBank Group Corp)ซึ่งคำสั่งของรัฐบาลจีนส่งผลให้กลุ่มบริษัทจากต่างชาติเข้ามาลงทุนยากขึ้น

การเคลื่อนไหวในธุรกิจด้านการศึกษาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลจีนในการจัดการกับกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีของจีนที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างบริษัทติตี้ โกลบอล อิงค์(Didi Global Inc. )และอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิง จำกัด