'ซีพี' ยกชั้นอุตสาหกรรมอาหารหนุนอาหารยั่งยืน

'ซีพี' ยกชั้นอุตสาหกรรมอาหารหนุนอาหารยั่งยืน

เครือซีพี มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนตามแนวทางยูเอ็น ผนึกกำลังเกษตรกรและบริษัทในเครือสร้างระบบอาหารยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตอบโจทย์สุขภาพ สิ่งแวดล้อม

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand – GCNT) ได้จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “บทบาทภาคเอกชนไทยในการส่งเสริมการพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2564 เพื่อยกระดับการจัดการด้านระบบอาหารที่ยั่งยืนจากภาคธุรกิจเอกชนไทยสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบการประชุมสุดยอดด้านระบบอาหารของสหประชาชาติ

โดยข้อสรุปจากเสวนาครั้งนี้จะรวบรวมเป็นข้อเสนอแนะจากภาคธุรกิจไทยสู่การประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit 2021) ที่จะจัดขึ้นในปลายปีนี้ เพื่อพัฒนาระบบอาหารโลกให้เกิดความแข็งแรงและยั่งยืน โดยในงานมีผู้เข้าร่วมจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม กว่า 100 คน

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ประสานงาน UN Food System Summit National Convener กล่าวว่า ภาคเอกชนมีส่วนสำคัญในการเสนอแนวทางการพัฒนาการจัดระบบอาหารโลกให้ยั่งยืน โดยข้อเสนอแนะจากงานเสวนานี้จะนำไปเชื่อมโยงกับข้อเสนอจากผู้ที่มีบทบาท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบการผลิตในแต่ละภาคส่วนของประเทศไทย เพื่อนำไปเป็นแนวทางและข้อเสนอจัดทำนโยบายแผนงานการปฏิรูประบบอาหารและการเกษตรอย่างมั่นคงในการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก UN Food Systems Summit 2021 เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายในปี 2573

โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบความมั่นคงและเป็นจุดเปลี่ยนทางด้านอาหารโลกที่หลายประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นครัวของโลก จะต้องนำประสบการณ์การจัดการระบบอาหารของประเทศไทยภายใต้นโยบาย 3 S คือ Safety, Security และ Sustainability ของภาคเกษตรและระบบอาหารให้มีความยั่งยืน ผู้ประกอบการทางด้านภาคเกษตรจะต้องปรับตัวนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ต่อกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

และเน้นไปสู่รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ โดยมุ่งเป้าหมายด้าน Zero Waste ลดขยะให้เป็นศูนย์เพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน พร้อมกับการพัฒนาอาหารในอนาคต Future Food ที่จะต้องเน้นในเรื่องของการพัฒนาสมุนไพรไทย และการพัฒนาอาหารจากพืช รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการอาหารสัตว์ ซึ่งจะเป็นการจัดการทั้งระบบของอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน

162739074042

นายนพปฏล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในฐานะเลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจเอกชนต่างๆได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้ดำเนินการตามแนวทางพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืน หรือ Food Systems Sustainability ภายใต้กรอบของสหประชาชาติที่มีความท้าทายในเรื่องการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนต่อประชากรทั้งโลก 9 พันล้านคนภายในปี 2050 โดยมีความท้าทายตั้งแต่การผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการจำนวนมาก

ตลอดจนการผลิตและจัดการอาหารให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมให้มากที่สุด ซึ่งในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา แม้โลกจะพัฒนาด้านความยั่งยืนดีขึ้นหลายด้านตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะประเทศไทยที่ได้พัฒนาตามแนวทาง SDGs เป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน และอยู่ในลำดับต้นๆของเอเชีย แต่การจะบรรลุสู่เป้าหมาย SDGs ในปี 2030 ไม่ใช่เรื่องง่าย และขณะนี้เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การพัฒนาเพื่อความยั่งยืนต่างๆถดถอย อาทิ

เป้าหมายที่ 2 ของ SDGs คือ No Hunger ที่ผลกระทบของโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนประชากรโลกที่ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามสหประชาชาติได้พยายามสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนที่เป็นระบบมากขึ้นผ่าน UN Food Systems Summit ที่กำลังจะมีการจัดประชุมเร็วๆนี้ และเล็งเห็นว่าประเด็นการจัดการอาหารโลกที่ยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญระดับโลกเช่นเดียวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

162739077460

ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงภาพรวมของกระบวนการ UN Food Systems Summit ซึ่งเป็นการประชุมที่เน้นให้ความสำคัญการร่วมมือของทุกภาคส่วนในการร่วมกันจัดการระบบอาหารโลกตลอดห่วงโซ่อุปทานให้เกิดความยั่งยืน โดยเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กฯ เป็นกลุ่มภาคเอกชนที่มีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจที่ควบคู่กับความยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือและข้อเสนอแนะจากประเทศไทยสู่การประชุมระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นภายใต้กรอบแนวทางการพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืนทั้ง 5 แนวทางที่จะเป็นแนวทางสร้างเครือข่ายความร่วมมือยกระดับการเติบโตของภาคเกษตร การจัดการระบบอาหารไทยสู่ระบบอาหารโลกให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

ขณะที่ตัวแทนกลุ่มธุรกิจจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยนางสาวอินทิรา พฤกษ์รัตนนภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักพัฒนาและประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมเสวนาใน Action Track 1 :อิ่มถ้วนหน้า ส่งเสริมการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ โดยกล่าวว่า เครือซีพีและซีพีออลล์ให้ความสำคัญกับระบบอาหารที่ยั่งยืนทำให้ประชากรเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อช่วยลดอัตราการป่วยจากการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตามยังมีประชากรบางกลุ่มประสบปัญหาทุพโภชนาการ ซึ่งการสร้างสุขภาพและสุขภาวะประชากรที่ดีต่อประชาชนในแต่ละประเทศเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศนั้นๆ ประเทศไทยในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมธุรกิจอาหารและเกษตรในภูมิภาคนี้จึงมีส่วนสำคัญที่จะผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้ประเทศพัฒนา ซึ่งนโยบายของเครือซีพีและซีพีออลล์ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เราร่วมสร้างระบบอาหารโลกที่ยั่งยืนตั้งแต่การสร้างสรรค์สินค้าที่มีโภชนาการที่ดี เข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลาย และสร้างความมั่นคงอาหารให้ประเทศไทย โดยนำนวัตกรรมที่ได้ศึกษามาต่อยอดสร้างอาหารที่ถูกหลักโภชนาการมีความปลอดภัยตลอดจนร่วมสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วยการบริหารจัดการคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

นางสาวศิรภัสสร สกุลวิวรรธน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้ร่วมเสวนาใน Action Track 5: อิ่มทุกเมื่อ เสริมสร้างความมั่นคงเข้มแข็งของระบบอาหาร กล่าวว่า ซีพีเอฟได้ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารมาโดยตลอดตามแนวทางอาหารมั่นคง สังคมมั่นคง ดินน้ำป่าคงอยู่ โดยเฉพาะการสร้างแหล่งอาหารให้ชุมชนที่ดำเนินการมากว่า 30 ปี โดยการสร้างองค์ความรู้ให้ชุมชนมีศักยภาพผลิตอาหารได้ด้วยตัวเอง ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งในภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้

นอกจากนี้ยังได้นำองค์ความรู้เข้าสู่ชุมชนเพื่อร่วมพัฒนาระบบอาหารยั่งยืนผ่านหลากหลายโครงการ อาทิ โครงการไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน โครงการอิ่มสุขปลูกอนาคต โดยสร้างองค์ความรู้ให้เยาวชนได้เข้าใจการผลิตอาหารที่ถูกโภชนาการได้ด้วยตัวเอง และร่วมรักษาเสถียรภาพความมั่นคงในระบบห่วงโซ่อุปทาน แบ่งปันและถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับเกษตรกรรายย่อยโดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติตลอดจนดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ