'โอลิมปิก2020' ชวนรู้ 'เสื้อกีฬา' มีผลกับประสิทธิภาพการแข่งขัน

'โอลิมปิก2020' ชวนรู้ 'เสื้อกีฬา' มีผลกับประสิทธิภาพการแข่งขัน

รู้หรือไม่? "เสื้อกีฬา" ส่งผลต่อประสิทธิภาพการแข่งขันของนักกีฬาแต่ละประเภท โดยเฉพาะการแข่งขันระดับโลกอย่าง "โอลิมปิก2020" หรือ "โตเกียว2020" จะเห็นว่าหลายชาติลงทุนเรื่องเสื้อผ้านักกีฬาไม่น้อย

จากกรณีดราม่าเรื่อง "เสื้อกีฬา" ของนักกีฬาไทย ที่เข้าร่วมการแข่งขัน "โอลิมปิก2020" หรือ โอลิมปิก โตเกียว 2020 แฟนกีฬาหลายคนได้แสดงความเห็นในโลกโซเชียลว่า เสื้อผ้าของนักกีฬาไทยมีความเหมาะสมกับประเภทกีฬาหรือไม่? และกังวลว่าอาจจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการแข่งขัน 

หากใครยังคิดว่า "เสื้อกีฬา" จะใส่แบบไหนก็คงเหมือนๆ กัน ขอแค่เรียบร้อยสุภาพเป็นพอ คุณอาจคิดผิด! เพราะมีข้อมูลยืนยันว่า เสื้อผ้านักกีฬาที่ออกแบบมาอย่างเหมาะสมกับกีฬาแต่ละชนิด มีส่วนช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการแข่งขันอย่างมาก ขนาดที่ว่าทำให้ตัวเต็งเหรียญทอง อาจสะดุดจนคว้ามาได้แค่เหรียญเงิน!

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปเจาะลึกเรื่องเสื้อผ้านักกีฬาที่มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพในการแข่งขันกีฬา ให้เข้าใจกันมากขึ้น ล้อมวงมาอ่านตรงนี้.. 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

1. ทำไม "เสื้อกีฬา" ช่วยให้แข่งขันได้ดีขึ้น

การออกแบบเสื้อผ้ากีฬาแต่ละประเภทนั้น ในปัจจุบันผู้ผลิตต้องมีความรู้ลึกรู้จริงในเรื่องคุณสมบัติสุนทรียศาสตร์และพลศาสตร์ด้านการกีฬาให้รอบด้าน เพื่อผลิตเสื้อผ้ากีฬาออกมาได้ตรงกับลักษณะการใช้งานให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปลักษณ์ที่น่าดึงดูด สวยงาม ให้ความสบายเป็นพิเศษ

และที่สำคัญคือ.. ต้องส่งเสริมสุขภาพของผู้สวมใส่ ตลอดจนมีฟังก์ชันที่ช่วยรักษาหรือปรับปรุงประสิทธิภาพการแข่งขันของนักกีฬาได้อีกด้วย

โดยเสื้อผ้าสำหรับใส่แข่งขันกีฬาในเบื้องต้นควรมีน้ำหนักเบา นุ่มสบาย ทนทาน และแห้งเร็ว ต่างจากเสื้อผ้าที่สวมใส่ไปยิมทั่วไป

2. รู้จักเทคโนโลยีเสื้อกีฬาขั้นสูง มีอะไรบ้าง?

มีข้อมูลจากบทความเรื่อง เสื้อผ้าประสิทธิภาพสูง (RM Rossi, 2018) ระบุว่า ชุดกีฬาสามารถช่วยให้นักกีฬาเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของพวกเขาได้ โดยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสิ่งทอเกี่ยวกับชุดกีฬาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการนำวัสดุและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เช่น

  • ใช้ผ้าเส้นใย Filament ช่วยระบายความร้อน ปรับอุณหภูมิร่างกายนักกีฬาได้
  • ใช้ผ้า Lycra ที่มีความยืดหยุ่นสูง ช่วยเรื่องเคลื่อนไหวได้ดี
  • ใช้เซ็นเซอร์ฝังเข้าไปในชุดกีฬา เพื่อตรวจสอบสถานะทางสรีรวิทยา เช่น อัตราการเต้นหัวใจ
  • ใช้วัสดุ Aerogels (ของแข็งที่เบาที่สุดในโลก มีคุณสมบัติเป็นฉนวนความร้อน)
  • ใช้โพลีเมอร์มาทอเป็นผ้าในระดับนาโน เพื่อให้เสื้อกีฬาดูดซับเหงื่อได้ดีที่สุด แห้งเร็ว
  • พัฒนาโครงสร้างการทอเสื้อกีฬา เพื่อแอโรไดนามิกที่ดีขึ้น (ไม่ต้านลม/อากาศผ่านเสื้อผ้าได้ดี)
  • ออกแบบเสื้อผ้าให้เข้ากับรูปร่างของนักกีฬาและการเคลื่อนไหวเฉพาะแต่ละชนิดกีฬา 

3. ปัจจัยการเลือก "เสื้อกีฬา"

อธิบายให้ลึกลงไปก็คือ การจะเลือกเสื้อกีฬามาให้นักกีฬาสวมใส่สักชิ้น โค้ชหรือผู้ดูแลต้องจำเพาะเจาะจงให้ได้ว่ากีฬาประเภทนั้นๆ ต้องใช้แรงกำลังมากน้อยแค่ไหน แข่งในร่มหรือกลางแจ้ง การเคลื่อนไหวของนักกีฬามากหรือน้อย ฯลฯ

ยืนยันจากบทความ Engineering Textiles (Y.E. El Mogahzy, 2009) ที่ระบุถึงลักษณะสมรรถนะของชุดกีฬาแต่ละประเภทเอาไว้ว่า การแข่งขันกีฬาที่แตกต่างกัน อาจต้องการคุณลักษณะด้านประสิทธิภาพของเสื้อผ้าที่แตกต่างกันด้วย โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่

  • (a) ประเภทกีฬา
  • (b) ระดับของการใช้แรง/พละกำลัง
  • (c) กีฬาแบบทีมหรือกีฬาส่วนบุคคล
  • (d) กีฬาอาชีพหรือมือสมัครเล่น
  • (e) สภาพอากาศ-กีฬาในร่มหรือกลางแจ้ง
  • (c) ความถี่ในการใช้งานชุดกีฬานั้นๆ
  • (d) เพศ + (e) อายุ
  • (f) ฟังก์ชันพิเศษอื่นๆ เช่น ความพอดี การยืดหยุ่น และการบำรุงรักษา

4. รู้จักชุดกีฬา ตามคุณลักษณะ/ประสิทธิภาพ

ในบริบทของการเลือกใช้ "เสื้อกีฬา" ให้เหมาะกับประเภทกีฬา จึงต้องเน้นคุณลักษณะด้านประสิทธิภาพของชุดกีฬาเป็นหลัก แบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ คือ 

  • กลุ่มชุดกีฬาที่เน้นความทนทานต่อการกัดกร่อน(คลอรีนในสระว่ายน้ำ) ยืดหดตามสรีระร่างกาย เช่น ว่ายน้ำ 
  • กลุ่มชุดกีฬาที่เน้นความทนทานเป็นพิเศษ ป้องกันการฉีกขาด และมีความยืดหยุ่นสูง (stretchability) เช่น ยกน้ำหนัก วิ่ง ปั่นจักรยาน ยิมนาสติก 
  • กลุ่มชุดกีฬาที่เน้นต้านทานกลิ่นตัว เช่น มวย ฟุตบอล รักบี้ 
  • กลุ่มชุดกีฬาที่เน้นต้านทานต่อรังสียูวี เช่น กลุ่มกีฬากลางแจ้ง วิ่ง ปั่นจักรยาน ยิงเป้าบิน กอล์ฟ

จะเห็นได้ว่ากีฬาบางประเภทที่มีการใช้พละกำลังอย่างมาก เสื้อผ้ากีฬาที่เหมาะสมกับกีฬากลุ่มนี้จึงต้องมีความทนทานเป็นพิเศษ ส่วนกีฬาที่ต้องแข่งความเร็ว เช่น วิ่ง, ปั่นจักรยาน, ว่ายน้ำ, พารามอเตอร์ ฯลฯ ก็ต้องเป็นชุดกีฬาที่เบา สบาย ไม่ต้านลม ไม่ต้านน้ำ และช่วยระบายความร้อน (อุณหพลศาสตร์)

ชุดกีฬาบางประเภทจึงต้องการทรงหลวม บางประเภทต้องการทรงรัดรูป และบางประเภทจึงต้องการทรงพอดีตัวระดับกลาง 

5. ชุดกีฬา "แบดมินตัน" ควรเป็นแบบไหน?

เมื่อรู้จักเสื้อกีฬาที่ต้องการสมรรถนะที่แตกต่างกันไปตามประเภทกีฬาแล้ว หลายคนมีคำถามว่า แล้วถ้าเป็นกีฬา "แบดมินตัน" ล่ะ? ต้องใช้เสื้อกีฬาแบบไหนจึงจะเหมาะสม

เรื่องนี้มีคำตอบจาก  Liam Walsh นักกีฬาแบดมินตันมืออาชีพและโค้ชชาวอังกฤษ ที่คร่ำวอดในวงการมานานกว่า 17 ปี ให้ข้อมูลผ่านบทความ What do you wear to play Badminton? (ก.ค. 2021) ระบุว่า การแข่งขันกีฬาแบดมินตันนั้น ชุดกีฬาที่เหมาะสมสำหรับนักกีฬาหญิงคือ การสวมกางเกงขาสั้นหรือกระโปรงกับเสื้อยืดกีฬา ที่ผลิตจากใยสังเคราะห์น้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี ขนาดกระชับพอดีตัว และควรหลีกเลี่ยงเสื้อแขนยาว เพราะนักกีฬาจำเป็นต้องเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ 

อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงเสื้อกีฬาที่ทำจากวัสดุผ้าฝ้าย เพราะจะดูดซับเหงื่อ ทำให้เสื้อหนัก เคลื่อนไหวได้ช้าลง และการสวมเสื้อยืดผ้าฝ้ายที่มีเหงื่อเปียกแฉะขณะเล่นแบดมินตัน จะทำให้ผู้เล่นรู้สึกไม่สบายตัวอีกด้วย

-------------------------

อ้างอิง : 

sciencedirect

badmintonsbest