ใช้ 'Antigen Test Kit'ในกทม.เจอผลบวกผิดราว 3 %

ใช้ 'Antigen Test Kit'ในกทม.เจอผลบวกผิดราว 3 %

นำร่องใช้Antigen Test Kit ในกทม.แล้วกว่า 5 หมื่นราย พบผลบวกผิดพลาดไม่เกิน 3 %เตรียมขยายใช้ชุดตรวจในรพช.-รพ.สต.ทั่วประเทศ

   เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 22 ก.ค. 2564 ในแถลงข่าวสถานการณ์โควิด19 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ตั้งแต่ 12 ก.ค.เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)มีนโยบายที่จะใช้ชุดตรวจ Antigen Test  Kit (ATK)มาตรวจคัดกรองกรณีผู้ป่วยสงสัยติดโควิด19 ซึ่งช่วง2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สปสช.ร่วมกับกทม. และสธ.ทดลองตรวจนำร่องในชุมชนและพื้นที่ต่างๆ พบว่า สามารถใช้ชุดตรวจนี้ในการที่จะตรวจอย่างรวดเร็ว ซึ่งที่ผานมามีการตรวจไป 5 หมื่นกว่าราย พบว่าได้ผลบวกประมาณ 10 % และเมื่อนำผลบวกนี้ไปตรวจกับวิธีมาตรฐาน RT-PCR พบว่ามีการตรวจผิดพลาดไม่เกิน 3 % ทำให้พบว่าชุดตรวจนี้ใช้ได้ผลดี

    

     

สัปดาห์นี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)มีมติที่จะ ขยายให้มีการเพิ่มชุดตรวจไปยังประชาชนในกลุ่มเสี่ยงบางส่วนได้ตรวจเอง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดหาและทีมวิชาการของกรมควบคุมโรคกำลังวางแผนกระจายชุดตรวจให้ประชาชน  ทั้งนี้ เมื่อใช้ชุดตรวจแล้ว หากได้ผลบวกจะมีการนำเข้าระบบHome Isolation หรือ Community Isolation แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงก็จะรับเข้ารักษาในรพ.หรือมีอาการเปลี่ยนไปในทิศทางแย่ลงนำเข้าระบบการรักษารพ.ต่อไป

      “ขณะนี้ได้นำเร่งสื่อสารกับคลินิกชุมชนอบอุ่นในกทม.ที่มีอยู่ประมาณ 200 กว่าแห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ก็เริ่มทยอยตรวจมากขึ้น  นอกจากนี้ ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลชุมชน(รพช.)ทั่วประเทศและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลฆ(รพ.สต.)ทั่วประเทศก็จะทยอยการตรวจในกลุ่มดังกล่าวด้วย”นพ.จเด็จกล่าว

   ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ชุดตรวจ ATK เป็นชุดตรวจที่ตรวจได้ด้วยตัวเอง ทราบผลเร็วใน 15 นาที ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถคัดกรองผู้ติดเชื้อได้มาก อย่างไรก็ตามการตรวจด้วยวิธีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องตรวจทุกคน คนที่ควรตรวจคือกลุ่มเสี่ยง เช่น มีญาติ มีคนใกล้ชิด มีการสัมผัสใกล้ชิดกัน หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยง แล้วมีอาการ เช่น น้ำมูก ไอ จาม มีไข้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ขณะนี้ยังมีความรุนแรง ดังนั้น หากผลตรวจออกมาเป็นลบท่านยังต้องปฏิบัติตนเหมือนว่ามีความเสี่ยงตลอดเวลา เพื่อป้องกันตัวเอง และป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นด้วย หากผลตรวจออกมาเป็นบวกให้โทรสายด่วน สำคัญคือ 1330 และดูตัวเองเบื้องต้น 

         นพ.รุ่งเรือง กล่าวด้วยว่า กรณีหน่วยตรวจเชิงรุก และสถานพยาบาล เมื่อใช้ชุดตรวจดังกล่าวแล้ว พบผลเป็นบวก ทางบุคลากรจะมีการประเมินอาการว่ามีความจำเป็นต้องเข้ารพ.หรือไม่ เช่น หอบเหนื่อย จะนำส่งรพ.เพื่อรักษาต่อ ส่วนอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ แต่ผลเป็นบวก จะให้ดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) โดยจะมีทีมบุคลากรสาธารณสุข คอยติดตามอาการ มีทั้งฟ้าทลายโจร และยารักษา ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดระดับออกซิเจน ให้ด้วย อย่างไรก็ตามขอย้ำว่า ในกลุ่มที่ผลเป็นบวก จะต้องตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR เพื่อยืนยันผล

         กรณีคนที่มีอาการหวัดซึ่งอาจจะใช่ หรือไม่ใช่โควิดก็ได้ หากผลออกมาเป็นลบ สามารถตรวจซ้ำได้หลังตรวจครั้งล่าสุด  3-5 วันได้ ระหว่างนี้ก็ต้องแยกตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างจากผู้อื่น ตนขอย้ำว่าผลตรวจออกมาจะมีความถูกต้องมากที่สุดอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าท่านเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ หรือถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงและมีอาการ ชุดตรวจจะมีความแม่นยำสูง แต่ก็อาจจะมีผลลวงเช่นกัน แต่ไม่มาก ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของชุดตรวจว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ถึงได้ย้ำให้มีการซื้อในร้านขายยา ไม่ควรซื้อออนไลน์ ซึ่งมีโอกาสเป็นชุดตรวจปลอมสูง นอกจากนี้ การเก็บตัวอย่างตรวจด้วยตัวเองก็สำคัญ

     “สถานการณ์จำนวนเตียงขณะนี้ ในส่วนของอัตาครองเตียงสีแดง และสีเหลือง มากกว่า 95 % มีช่องว่างที่จะรับผู้ป่วยเพิ่มจำกัดมากๆ สิ่งสำคัญที่แก้ปัญหาขณะนี้ คือ การดูแลที่บ้านหรือHome Isolation เพื่อให้เตียงที่ดูแลผู้ป่วยสีเขียว ที่ดูแลผู้ป่วยอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเพิ่มให้ดูแลผู้ป่วยสีแดงได้ ขณะนี้มีเตียงผู้ป่วยหนักดเหลือน้อยกว่า  5% และ1 สัปดาห์ที่มีการให้การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน มีแพทย์ พยาบาล มียา เครื่องมือต่างและพร้อมนำผู้ป่วยที่ดูแลที่บ้านเข้าระบบการรักษา ซึ่งการขยายขอบเขตดังกล่าวจะทำให้เตียงรองรับมีช่องว่างมีเตียงเพิ่มมากขึ้น ที่จะดูแลผู้ป่วยอาการหนักและอาการหนักไม่มากแต่เสี่ยงที่จะป่วยหนัก”นพ.รุ่งเรืองกล่าว