4 หุ้นเทพกลุ่มชิ้นส่วนฯ ทำกำไรไตรมาส 2 โตต่อเนื่อง 

4 หุ้นเทพกลุ่มชิ้นส่วนฯ   ทำกำไรไตรมาส 2 โตต่อเนื่อง 

ตลอดเดือนก.ค.ภาพเศรษฐกิจโลกล้วนแต่ไปในทิศทางการฟื้นตัว และยังหนุนภาพการส่งออกของไทยออกมาดีกว่าคาดการณ์ไว้ บวกกับความต้องการสินค้าไอทีและระบบดิจิทัลทำให้หุ้นส่งออกในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นหุ้นเทพที่เอาชนะโควิดด้วยผลกำไรเติบโตต่อเนือง

ผนวกกับทิศทางค่าเงินบาทของไทยถือว่าเป็นตัวหนุนกำไรเพิ่มขึ้นในกลุ่มนี้ จากต้นเดือนก.ค. ซึ่งเข้าสู่ไตรมาส 3 ปี 2564 ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องมาอยู่ที่ 32.06 บาท ต่อดอลลาร์ วานนี้ (19 ก.ค.) ปิดที่ 32.84 บาท ต่อดอลลาร์ เป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 15 เดือน จนมีโอกาสที่บาทแตะ 33 บาทต่อดอลลาร์

เฉพาะในกลุ่มชิ้นส่วนฯ ได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทหรือ เรียกว่า  “กำไรจากค่าเงิน”  (FX Gain) จึงทำให้หุ้นในกลุ่มเหล่านี้จะมีความคาดหวังกำไรออกมาบวกต่อเนื่อง สะท้อนจากราคาหุ้นในกลุ่มดังกล่าวจะปรับตัวสวนทางกับภาวะตลาดหุ้นที่มีปัจจัยลบ หลังสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศทำสถิติสูงสุดมาตลอดจนต้องเพิ่มระดับควบคุมใน 13 จังหวัดเป็นการเพิ่มเติม

หุ้นใหญ่และยกเป็นพี่ใหญ่ในกลุ่ม บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ที่คงแทบไม่ต้องพูดถึงด้านราคาหุ้นเพราะเคยขึ้นไปร้อนแรงสุดขีดที่ระดับ 800 บาท จนตลาดหลักทรัพย์เตรียมจะออกเกณฑ์มาควบคุมด้วยบริษัทมีฟรีโฟลตต่ำ แต่มีขึ้นลงกับดัชนี

หากประเมินจากพื้นฐานบริษัทแล้วต้องยอมรับเลยว่า DELTA มีการปรับธุรกิจเข้าสู่สินค้าและบริการดิจิทัลเต็มตัว พร้อมกับลดต้นทุนโรงงานที่ซ้ำซ้อนและกำไรน้อยออกจากธุรกิจตั้งแต่ปี 2562 ด้วยการตัดขายบริษัทย่อยในต่างประเทศ เช่นสหรัฐ และเน้นฐานการผลิตในกลุ่มเอเชียเป็นหลัก ทำให้ลดต้นทุนและหันมาสร้างมาร์จิ้นมากขึ้น และทยอยประกาศ เพิ่มธุรกิจผลิตที่ชาร์ทไฟสำหรับรถ อีวีที่รองรับการเติบโตในอนาคต

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ คาดยอดขายไตรมาส 4 ปี 2564 อยู่ที่ 2.05 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ที่กลุ่ม data center และยานยนต์ มีกำไรที่ 1.7 พันล้านบาท (-15% YoY, +14% QoQ) และกำไรจากธุรกิจหลักครึ่งปีแรกอยู่ที่ 3.2 พันล้านบาท (+22% YoY) มาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นเพราะอุปสงค์ที่แข็งแกร่งและอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ถัดมาบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE เป็นบริษัทผลิตและส่งออก 100 % แผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า PCB ซึ่งถือได้ว่าติดอันดับต้นๆ ของโลกกลุ่มลูกค้าหลักเป็นกลุ่มยานยนต์ 80 % รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต 12.5 % และยังมีสินค้าโภคภัณฑ์ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร ซึ่งด้วยการแข่งขันที่สูงเพราะด้วยผู้เล่นในตลาดต่างชาติถึง 2,000 กว่ารายทำให้บริษัทหันไปขายสินค้าที่มีอัตรากำไรที่สูงขึ้น

อานิสงค์จากตลาดยานยนต์ในยุโรป ความต้องการอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์และการขนส่งที่มีปัญหาจากการขาดแคลนตู้ขนเทนเนอร์ทำให้มีคำสั่งซื้อมาล่วงหน้าลากยาวไปจนถึงปลายปี 2564 ทำให้ KCE สามารถปรับราคาขายขึ้นได้ตามความต้องการที่ล้น

 นอกจากคาดการณ์กำไรปรับตัวขึ้นแล้วยัง มองครึ่งปีหลังมีการเพิ่มประมาณการณ์กำไร 2564-2565 ขึ้นอีก 17% จากคำสั่งซื้อ KCE ยังแข็งแกร่ง (เนื่องจากปัญหาขาดแคลน chip ทำให้ เกิดความกังวลชิ้นส่วนอื่นจะขาดแคลนไปด้วย ) นอกจากนี้บริษทยังมีกำลังผลิตใหมเพิ่มเข้ามาครึ่งปีหลัง

ด้านบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ในสหรัฐเป็นชิ้นส่วนที่ใช้ในอุปกรณ์สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใช้ชีวิตในช่วงโควิด-19 หันมาพึ่งพิงเทคโนโลยีมากขึ้น

ด้วยยอดขายแข็งแกร่งและคาดกำไร 552 ล้านบาท เพราะอุปสงค์จากกลุ่มยานยนต์, cloud computing และ smartphones (จากเทคโนโลย 5G) ท่ามกลางคนส่วนใหญ่ทั่วโลกต้องทำงานจากที่บ้าน (WFH) คาดอัตรากำไรขั้นต้น 14.2% (-1.1ppts YoY, +2.3ppts QoQ) สะท้อนถึงการอ่อนค่าของเงินบาท

และบริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI ที่อยู่ในกลุ่มสินค้าเซมิคอนดัคเตอร์โดยตรง เช่นวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ คาดกำไรจากธุรกิจหลัก 148 ล้านบาท (-9% YoY, +22% QoQ) และในครึ่งปีแรก 269 ล้านบาท (+17% YoY) บริษัทมีผลกระทบจากค่าใช้จ่ายSG&A กลับสู่ระดับปกติ แต่ได้ผลดีจากอุปสงค์เพิ่มขึ้นและค่าเงินบาทออนค่าลง