‘ชะแนน – สะพานหิน’ อุทกธารแห่ง ‘ภูวัว’

‘ชะแนน – สะพานหิน’ อุทกธารแห่ง ‘ภูวัว’

เดินป่าหน้าฝน เที่ยวชมความเขียวขจีของแดนอีสาน สัมผัสความงดงามของ “น้ำตกชะแนน” และ “สะพานหิน” ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว

ภูวัว...เป็นชื่อของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเก่าแก่ แทบจะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ารุ่นแรกๆ ของประเทศไทยก็ว่าได้ คนที่ผลักดันอย่างมากก็คือนายผ่อง เล่งอี้ อดีตอธิบดีกรมป่าไม้  ที่ผลักดันตั้งแต่เพิ่งเริ่มตั้งฝ่ายอนุรักษ์ โดยเขตรักษาพันธุสัตว์ป่ารุ่นแรกก็เช่น เขตฯสลักพระ(นอกจากจะเป็นรุ่นแรกๆ แล้วเขตฯสลักพระ ยังเป็น เขตฯแห่งแรกของประเทศไทยด้วย) แล้วก็มีเขาสอยดาว มีภูเขียว ภูวัว อะไรพวกนี้ เขตฯภูวัวนั้น เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพียงหนึ่งเดียวของอีสานเหนือ ที่รูปทรงคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวเอียงๆ ด้านเหนือและทางตะวันออกเฉียงเหนือ จะทอดตัวขนานไปกับแม่น้ำโขง พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นลานหินทราย สลับป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดงดิบแล้ง แนวภูเขาทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ จะเป็นหน้าผาสูง แล้วเอียงลาดลงมาทางฝั่งตรงข้าม ดังนั้นเมื่อฝนตก น้ำจะซึมลงดินได้น้อย ส่วนใหญ่จึงไหลลาดมาตามแนวร่องหิน ลงทางด้านจะวันตกเฉียงใต้ ดังนั้นน้ำตกทั้งหลายแหล่จึงมาอยู่ทางด้านนี้เป็นส่วนใหญ่ มีเพียงไม่กี่แห่งที่ไหลไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ

162648303596

น้ำตกชะแนน และ สะพานหิน ที่ผมว่านี้ เป็นผลผลิตของลำห้วยชะแนน ที่รับน้ำมาจากหัวเขา แล้วค่อยๆ ไหลรวมมาเป็นลำห้วยขนาดใหญ่ ยิ่งในฤดูฝนฝนตกมาเท่าไร น้ำจะไหลลงมารวมกันหมดในลำห้วยชะแนน แล้วไหลลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้อย่างที่ผมว่า ยิ่งไหลลงไปไกล น้ำก็จะยิ่งมหาศาล เพราะลำห้วยเล็ก ลำห้วยน้อยหลายสายจะไหลมารวมกันมากขึ้น

แต่ “น้ำตกชะแนน” กับ “สะพานหิน” ที่ผมว่านี้เป็นแค่ปลายทาง ที่ใกล้จะออกนอกเขตแล้ว เพราะก่อนหน้านั้นจะมีแก่งน้ำและตาดน้ำอีกหลายแห่ง อย่างตาดไม้ซี้ ตาดท่าข้าม พวกนี้จะเป็นลักษณะแก่งหินขนาดใหญ่ ไหลต่อมาจึงมาเป็น น้ำตกถ้ำจระเข้ จากน้ำตกถ้ำจระเข้ ถึงจะไหลมาเป็นน้ำตกชะแนน และเป็นสะพานหิน ก่อนน้ำจะไหลออกนอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าออกไปใส่พื้นที่ลุ่มด้านนอก

162648307880

ด้านบนของน้ำตกชะแนน

ที่ “สะพานหิน” นั้นมีหน่วยพิทักษ์ป่าตั้งอยู่ด้วย แต่ก่อนมีทางรถก็จริง แต่ทางค่อนข้างลำบาก แต่เดี๋ยวนี้ง่ายแล้วครับ ทางรถดี รถเข้าไปถึงง่ายๆ ดังนั้นการจะไปเที่ยวน้ำตกชะแนนและสะพานหินยิ่งไม่ใช่เรื่องยากแล้ว เราเดินทางกันง่ายๆ โดยเริ่มต้นที่ตัวเมืองบึงกาฬ ให้ใช้ถนนหมายเลข 212 มุ่งหน้าไปทางนครพนม ไประยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ก่อนถึงทางเข้าน้ำตกถ้ำฝุ่น จะเป็นบ้านชัยพรจะพบทางแยกขวามือ เข้าไปตามทาง จะเป็นทางหลวงชนบทหมายเลข 3009 ทางเส้นนี้จะไปได้หมด ไปภูทอก ไปน้ำตกเจ็ดสี น้ำตกถ้ำพระ ไปจนถึงอำเภอบึงโขงหลง ไปถ้ำนาคาได้หมด ทางมันจะเชื่อมกันหมด จะมีป้ายตามทางแยก แล้วยังไปบรรจบทางหลวง 212 ที่แยกดงบัง ใกล้อำเภอบ้านแพงของนครพนมอีกด้วย

162648312754

ความลึกของสะพานหิน

มาเดินทางเราต่อ จากบ้านชัยพรให้ใช้ทางหลักไปเรื่อยๆ จนถึงบ้านโพนสว่าง จะมีทางเลี้ยวซ้ายเข้าไป จะผ่านวัดอ่างทอง แล้วทางก็จะเข้าไปตามชายป่า เข้าใจว่าบางช่วงจะเป็นทางดิน (ถ้ายังไม่มีการปรับปรุงก็คงเป็นทางดินเช่นเดิม แต่รถปิคอัพเข้าได้สบาย) ไปจนสุดทางที่หน่วยพิทักษ์ป่าพอดี ระยะทางจากบ้านโพนสว่างน่าจะไม่เกิน 10 กิโลเมตร เพราะจำได้ว่าสมัยก่อนไปเดินป่า แล้วรถเข้าไปรับไม่ได้ ต้องแบกเป้เดินออกมาตามทาง

ตรงที่ตั้งหน่วยพิทักษ์ป่านั่นแหละครับ คือที่ตั้งของ “สะพานหิน” สะพานหินนี้ เป็นหินทราย กว้างราว 7-8 เมตร อยู่ในระดับเดียวกับพื้น แต่น้ำที่ไหลมาจากห้วยชะแนน จะไหลลอดสะพานหินนี้ออกไป สะพานหินนี้เกิดจากการกัดเซาะของสายน้ำนี่แหละ โดยเซาะลงไปตามรอยแตกของหินทราย ซึ่งรอยแตกนี้อาจจะมีมาแต่ครั้งแผ่นดินเบียดกัน หรือแผ่นดินอาจจะมาไหวทีหลัง พอเกิดเป็นรอยแตก แล้วอยู่ในแนวน้ำไหล เดิมน้ำอาจจะมีไหลข้ามสะพานหิน (เพราะเห็นกุมภลักษ์บนสะพานหลายแห่ง) ขณะเดียวกันน้ำบางส่วนก็กัดเซาะรอยแตกใต้สะพานไปด้วย จนกระทั่งเป็นช่องขนาดใหญ่ ตลอดแนวจนลอดใต้สะพานได้ แล้วนับแต่นั้นมา  น้ำทั้งหมดก็ไหลลอดสะพาน แทนที่จะไหลด้านบน นานๆ เวลาที่น้ำมากจริงๆ ที่น้ำไหลลอดใต้สะพานไม่ทัน ก็ยังมีไหลเอ่อข้ามสะพานหินอยู่บ้าง แต่นานๆ จึงจะเกิดสักครั้ง

162648281594

ความกว้างของสะพานหินที่หน่วยฯชะแนน

ส่วน “น้ำตกชะแนน” นั้น จะมีทางเดินเท้า เดินเลาะเลียบไปตามริมลำห้วยราว 2-3 กิโลเมตร จะมีทางเดินชัดเจน ไม่มีเดินขึ้นเขา แต่มีข้ามลำห้วยและป่าไผ่ในบางช่วง ไปถึงจะเห็นน้ำตกขนาดใหญ่ ที่ไหลแผ่กระจาย ลาดลงมาตามลานหน้าผาหินทราย ช่วงที่กว้างสุดน่าจะเกือบ 100 เมตร เอียงราว 40 องศา เป็นทางยาวร่วมร้อยเมตร ระหว่างนั้นก็จะมีชั้นแยกย่อยลงมาอีกหลายชั้น เป็นน้ำตกที่ยิ่งใหญ่อลังการมาก ในช่วงฤดูฝนราวกรกฎาคม-ต้นตุลาคม จะมีดอกไม้ดินสารพัดขึ้นตามชายป่า ชายน้ำ และที่นี่ยังมีพืชเฉพาะถิ่น มีอยู่ที่เดียว คือ สิรินธรวัลลี (สามสิบสองประดง) ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific Name) ว่า Bouhinia SIRINDHOMIAE K.&S.S. Lasen อยู่ในวงศ์ (Famaly) :LEGUMINOSAE-) ทั้งยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดบึงกาฬด้วย พบที่นี่ที่เดียว เดินไปน้ำตกชะแนนก็จะเห็น มีดอกให้เห็นราว สิงหาคม-กันยายน

162648327587

พืชเฉพาะถิ่น สิรินธรวัลลี

162648285867

ความใหญ่โตของน้ำตกชะแนน

162648290094

ในน้ำตกชะแนนจะมีอีกหลายชั้น

นักท่องเที่ยวไปพักแรมที่ “สะพานหิน” ได้ ฤดูกาลที่น่าเที่ยวคือช่วงหน้าฝน กรกฎาคม-ตุลาคม นอกนั้นน้ำก็จะไม่สวยแล้ว มีไหลแต่ไม่มาก จนพอหน้าแล้งก็แห้งสนิท

ช่วงนี้เป็นฤดูฝน ผมจึงแนะนำแหล่งท่องเที่ยวทางอีสานค่อนข้างบ่อย เพราะเป็นเวลาทองของการเที่ยวธรรมชาติทางอีสาน แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วงสถานการณ์ที่โควิด-19 ยังระบาดอย่างมากในบ้านเรา ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทางรัฐบาลขอความร่วมมืองดการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ก็เอาเป็นว่า ดูข้อมูลไว้ก่อน พอเขาผ่อนคลาย ค่อยออกไปเที่ยวกัน ช่วงนี้ก็ดูแลรักษาตัวเองให้รอดปลอดภัยครับ...