‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘อ่อนค่า’ ที่32.63บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘อ่อนค่า’ ที่32.63บาทต่อดอลลาร์

แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในไทย และเงินหยวนอ่อนค่า ขณะที่เฟดยืนไม่เร่งขึ้นลดคิวอีอาจทำให้ตลาดการเงินกลับมาเปิดรับเสี่ยง คาดกรอบเงินบาทวันนี้ 32.60-32.70บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.63 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.60 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.70 บาทและดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากปัจจัยหลัก คือ ปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ในไทย โดย เราประเมินว่า สถานการณ์การระบาดในไทยยังมีแนวโน้มเลวร้ายลง ซึ่งปัญหาการระบาดจะทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

ทั้งนี้เรามองว่า แรงกดดันค่าเงินบาทอาจมาจากการอ่อนค่าลงของเงินหยวนจีน ได้ โดยเรามองว่ามีโอกาสที่เงินหยวนจะผันผวนและอ่อนค่าลง กดดันให้สกุลเงินในฝั่งเอเชียอ่อนค่าลงตามได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนมีการฟื้นตัวที่ชะลอลงมากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวจะยิ่งหนุนให้ ธนาคารกลางจีนใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ขณะเดียวกัน นักลงทุนก็อาจชะลอการลงทุนในตลาดทุนจีนไปก่อน ทำให้เงินหยวนขาดแรงหนุนด้านแข็งค่าจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ

ถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ยืนกรานว่า เฟดจะไม่เร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น หรือ ลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE Tapering) จนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวเป็นที่น่าพอใจ ได้ช่วยหนุนให้ ตลาดการเงินโดยรวมพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อีกครั้ง โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +0.12% โดยส่วนหนึ่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มการเงินที่รายงานผลกำไรออกมาดีกว่าคาด อาทิ Well Fargo (+3.98%) ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงกดดันจากความผันผวนของหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวลดลงหนัก ตามราคาน้ำมันดิบ WTI และ เบรนท์ ที่ลดลงมากกว่า -3% หลังมีรายงานว่า ซาอุดิอาระเบียและ UAE สามารถบรรลุข้อตกลงการเพิ่มกำลังการผลิตได้ ซึ่งจะเป็นการปูทางไปสู่แผนการเพิ่มกำลังการผลิตโดยกลุ่ม OPEC+ ต่อไปนอกจากนี้ ยอดสต็อกน้ำมันดิบสำเร็จรูป ทั้งน้ำมันเบนเซินและน้ำมันดีเซล รวมถึง heating oil ก็ปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดสะท้อนความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปิดบวกราว +0.12% ตามการเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม และ หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคฯ  ASML +1.58%, Infineon +1.40%, Adyen +0.81% รวมถึงกลุ่มการเงิน ING +0.68%, Santander +0.68%, Intesa Sanpaolo +0.64% จากความหวังแนวโน้มผลกำไรหุ้นในกลุ่มดังกล่าวที่อาจออกมาเติบโตได้ดีในไตรมาสที่ 2

ในฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ย้ำจุดยืนว่า เฟดจะยังไม่รีบปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง ได้หนุนให้ ผู้เล่นในตลาดบอนด์มีความมั่นใจในการถือบอนด์ระยะยาวอยู่ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงกว่า 7bps สู่ระดับ 1.34% นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ และถ้อยแถลงของประธานที่ยังสนับสนุนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ ได้กดดันให้ เงินดอลลาร์ พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงสู่ระดับ 92.40 จุด ส่งผลให้สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ1.183 ดอลลาร์ต่อยูโร เงินปอนด์ (GBP) ก็ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.385 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ส่วนเงินเยนก็แข็งค่าหลุดระดับ110 เยนต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงและบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้หนุนให้ ราคาทองคำ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,830 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตาม แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ที่โดยรวมโมเมนตัมการฟื้นตัวเริ่มอ่อนแรงลงมากขึ้นสะท้อนผ่าน ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมิถุนายน ที่จะขยายตัว 10.9%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกับ ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) และ ยอดการลงทุนสินทรัพย์คงทน (Fixed Asset Investment) ที่จะโตราว 8.0%y/y และ 12%y/y ตามลำดับ แต่ก็เป็นการชะลอตัวลงจากช่วงต้นปี นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่2 จะขยายตัวราว 8.0%y/y ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่โตถึง 18.3%y/y ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องน่ากังวลนัก เพราะไตรมาสแรกขยายตัวแข็งแกร่งนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากฐานที่ต่ำของปี 2020

นอกจากประเด็นข้อมูลเศรษฐกิจจีน เราประเมินว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7-day Repo Rate) ไว้ที่ระดับ 0.50% หลังเกาหลีใต้ก็เริ่มเจอการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ทั้งนี้ เราประเมินว่าหากการระบาดสงบลงและเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น BOK อาจเป็นธนาคารกลางแรกในเอเชียที่จะขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงปลายปีนี้ หรือ ต้นปีหน้า

นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าว ตลอดทั้งสัปดาห์ ตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ของบรรดาจดทะเบียนต่อไป