ส่องผลลัพธ์ 'วัคซีนโควิด-19' เมื่อ 'เดลต้า' ระบาดเกือบทั่วโลก

ส่องผลลัพธ์ 'วัคซีนโควิด-19' เมื่อ 'เดลต้า' ระบาดเกือบทั่วโลก

'WHO' รายงานว่าขณะนี้ 'เดลต้า' ได้ระบาดไปเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยที่มีสัดส่วนเกินครึ่ง ขณะเดียวกันในประเทศที่มีการฉีด 'วัคซีนโควิด-19' จำนวนมาก มาดูกันว่าผลลัพธ์ในขณะนี้เป็นอย่างไร

คำเตือนจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ว่า ขณะนี้สายพันธุ์ เดลต้า มีการกระจายไปกว่าร้อยประเทศ และกำลังเป็นสายพันธุ์หลักในการระบาดทั่วโลก การที่ระบาดเร็ว ติดเร็ว อาจทดแทนสายพันธุ์เดิม ขณะเดียวกัน ดร.แอนโทนี เฟาชี ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการในการรณรงค์เรื่องโควิด-19 ในสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนสหรัฐฯ ให้เฝ้าดูสหราชอาณาจักร ซึ่งตอนนี้มีการระบาดของ เดลต้า กว่า 95% 

“ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการแถลงข่าว อัปเดตสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกและในประเทศไทย : ถอดบทเรียนเพื่อก้าวผ่านวิกฤติ โดยระบุ ว่า สองสัปดาห์หลังจากที่แอนโทนี เฟาชี่ ได้ออกมาเตือน บทความของ องค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 64 ได้ออกมาระบุถึงข้อมูล WHO สายพันธุ์เดลต้าแพร่ระบาดเร็ว รุนแรง โลกกำลังเข้าสู่ยุคของอันตรายอย่างใหญ่หลวงจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า

  • เดลต้า ระบาดทุกรัฐในสหรัฐฯ

สหรัฐฯ ข้อมูลเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 64 พบ เดลต้า ในทุกรัฐ ปัจจุบัน มีมากกว่า 50% ของสายพันธุ์ที่แพร่ระบาด จากเมื่อ 4 สัปดาห์ที่แล้วมีเพียง 10% แต่เพิ่มขึ้น 5 เท่าใน 4 สัปดาห์ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค​สหรัฐฯ (CDC) ได้ออกมาเตือนอย่างเป็นทางการและเฝ้าระวังเดลต้า ขณะที่ สหราชอาณาจักร ที่คุ้นเคยกับสายพันธุ์อัลฟ่า ตอนนี้อัลฟ่ากลายเป็นส่วนน้อย และมีเดลต้ามาทดแทน ตอนนี้ ครอบคลุม 95% ของสายพันธุ์ที่แพร่ระบาด

หลังจากที่เดลต้ากระจายเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก ข้อมูล 10 ก.ค. พบว่า เมื่อมีการฉีดวัคซีน อัตราต่างๆ ทั่วโลกดูดีขึ้น อัตราการติดเชื้อต่อวันลดลง รวมถึงการเสียชีวิตลดลงเช่นกัน แต่เห็นกราฟชันขึ้นเพราะสายพันธุ์เดลต้า แต่ข้อดี คือ จากเดิมผู้ป่วยรายใหม่ 9 แสนรายต่อวัน ตอนนี้เหลืออยู่ที่ราว 5 แสนรายต่อวัน แต่อัตราการเสียชีวิตยังคุมได้ค่อนข้างดีราว 7-8 พันรายต่อวัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

  • สถานการณ์ต่างประเทศ หลังเดลต้าระบาด

ข้อมูล วันที่ 10 ก.ค. 64 ทั่วโลกฉีดวัคซีนแล้ว 3,392,898,953 โดส ฉีดวันละ 31,470,724 โดส (ประชากร 7,878,543,880 คน)

  • สหรัฐฯ เสียชีวิตจากหลักพัน เป็นหลักร้อย

“สหรัฐฯ” เมื่อปลายปีที่แล้วถึงต้นปีนี้ มีผู้ป่วย 3 - 4 แสนรายต่อวัน ขณะเดียวกัน อัตราการเสียชีวิตถึงต้นปีนี้วันละ 3-4 พันรายต่อวัน หลังจากมีการระดมการฉีดวัคซีน เปลี่ยนผู้บริหารประเทศ เปลี่ยนนโยบาย การฉีดวัคซีนถูกรณรงค์มากขึ้น เริ่มเห็นจำนวนมีคนติดเชื้อ 1-2 หมื่นต่อวัน แต่อัตราการเสียชีวิตจากเดิมหลายพัน มาเป็นหลักร้อย

สหรัฐฯ ฉีดวัคซีนแล้ว 333,565,404 โดส ฉีดวันละ 513,550 โดส (ประชากร 331,002,651 คน) 55.4% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 47.9% ได้ครบโดส

  • สหราชอาณาจักร ติดเชื้อเพิ่ม ตายต่ำ

“สหราชอาณาจักร” คล้ายสหรัฐ เมื่อปลายปีที่แล้วสถานการณ์แย่มากติดเชื้อ 6-7 หมื่นคนต่อวัน จนต้องเร่งฉีดวัคซีนตั้งแต่ 8 ธ.ค. 63 เมื่อมีการฉีดมากพอ ตัวเลขการติดเชื้อก็ลดลง คู่ขนานกับอัตราการเสียชีวิต จุดต่างเริ่มเห็นตรงนี้ ในช่วง พ.ค. เริ่มมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น จำนวนติดเชื้อต่อวันละ 2-3 หมื่นรายต่อวัน อัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ที่อาละวาด คือ เดลต้า แต่สังเกตว่า กราฟผู้เสียชีวิตยังต่ำอยู่ในเลขสองหลัก

แปลว่าขณะที่มีการติดเชื้อเยอะขึ้น แต่การเสียชีวิตไม่ได้เยอะขึ้น นี้เป็นผลส่วนหนึ่งของวัคซีน เป้าหมายหลักของการฉีดวัคซีน คือ ลดคนไข้ที่อาการรุนแรง ลดการเสียชีวิต สหราชอาณาจักร ฉีดวัคซีนแล้ว 80,327,639 โดส ฉีดวันละ 255,682 โดส (ประชากร 67,886,011 คน) 68.5% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 51.7% ได้ครบโดส

“แม้การติดเชื้อเยอะขึ้น แปลว่า วัคซีนอาจมีประสิทธิภาพลดลง แต่หากดูคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อในสหราชอาณาจักร ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่ง ถึงแม้ฉีดครบก็ยังติดเชื้อแต่การเสียชีวิตต่ำ”

  • ฝรั่งเศส ติดเชื้อหลักพัน ตายหลักสิบ

“ฝรั่งเศส” เป็นอีกประเทศที่มีการติดเชื้อหลักหมื่นเมื่อต้นปี อัตราเสียชีวิตค้อนข้างเยอะ แต่หลังจากเน้นการฉีดวัคซีน ตอนนี้ ฉีดวัคซีนแล้ว 60,348,002 โดส ฉีดวันละ 569,900 โดส (ประชากร 65,273,511 คน) 55.1% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 42.0% ได้ครบโดส แม้จะติดเชื้อต่อวันเป็นพัน แต่การเสียชีวิตเป็นหลักสิบ ไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพวัคซีนเริ่มแสดงออกทั้งสองขา คือ ลดการเสียชีวิต ลดความรุนแรง และหากฉีดเยอะพอจะเริ่มลดอัตราการติดเชื้อ

  • เยอรมัน ตาย 1-2 หลักต่อวัน

“เยอรมัน” ช่วงต้นปีผู้ป่วยรายใหม่ 3-4 หมื่นคนต่อวัน มีการระดมฉีดวัคซีน โดย ขณะนี้ ฉีดวัคซีนแล้ว 81,333,461 โดส ฉีดวันละ 719,303 โดส (ประชากร 84,059,654 ล้าน) 58.3% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 42.1% ได้ครบโดส สิ่งที่เกิดขึ้น คือ จำนวนการติดเชื้อต่อวันเหลือสามหลัก และอัตราการเสียชีวิตเหลือ 1-2 หลัก

 

  • อิตาลี ติดเชื้อเดลต้าเพิ่ม ตายน้อย

“อิตาลี” ปีที่แล้วมีการติดเชื้อและเสียชีวิตเยอะ หลังจากนั้นระลอกสองเกิดขึ้น และมีการเร่งฉีดวัคซีน ขณะนี้ ฉีดวัคซีนแล้ว 56,917,775 โดส ฉีดวันละ 402,415 โดส (ประชากร 60,461,826 คน) 57.9% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 38.1% ได้ครบโดส ประเทศเหล่านี้ปัจจุบันถูกโจมตีด้วยเดลต้าเหมือนกัน ดังนั้น ตัวเลขการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเพราะเดลต้า แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ได้สูงขึ้น

  • รัสเซีย เร่งฉีดวัคซีน หลังติดเชื้อสูง

รัสเซีย” เป็นประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากระลอกสองและยังไม่ลง ฉีดวัคซีนแล้ว 45,000,000 โดส ฉีดวันละ 700,000 โดส (ประชากร 145,998,542 ล้าน) 20.4% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 10.2% ได้ครบโดส เชื่อว่ารัฐบาลรัสเซียเร่งกระบวนการจาก 5 แสนโดสต่อวันเป็น 7 แสนโดสต่อวัน อัตราการติดเชื้อต่อวันเยอะขึ้น เสียชีวิตต่อวันก็ยังเยอะอยู่

  • ไทย ติดเชื้อเพิ่มอย่างรวดเร็ว 

“ประเทศไทย” ตั้งแต่ช่วง เม.ย. 64 มีการติดเชื้อและไม่เคยลงอีกเลย การติดเชื้อต่อวันเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มอย่างรวดเร็วในระยะใกล้ๆ ตัวเลข 10 วันที่ผ่านมา จาก 5 พัน ขึ้นมา 8-9 พัน อัตราการเสียชีวิตจากหลักเดียว มาเป็นเลขสองหลัก

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้มีสายพันธ์เดลต้า เป็นสายพันธุที่กระจายเร็วกว่าอัลฟ่า 1.4 เท่า เมื่อกระจายเร็วเป็นธรรมชาติของไวรัส หากกระจายเร็ว ติดเร็ว จะทดแทนสายพันธุ์เดิม เมื่อการติดเชื้อเยอะ คนไข้ที่เข้ามา รพ. เยอะขึ้น สัดส่วนของคนที่มีอาการหนักเยอะขึ้น มา รพ. เยอะขึ้น เมื่อไหร่ที่ศักยภาพของรพ.ไม่ไหว อัตราการเสียชีวิตจะเริ่มสูงขึ้นไปอีก เพราะเครื่องช่วยหายใจอาจไม่เพียงพอ ยาไม่พอ นำมาซึ่งอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น           

ข้อมูล เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 64 ไทยฉีดวัคซีนแล้ว 11,975,996 โดส ฉีดวันละ 242,481 โดส (ประชากร 69,980,009 ล้าน)12.6% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 4.6% ได้ครบโดส

และล่าสุดวันนี้ (13 ก.ค. 64) ฉีดไปแล้วกว่า 13 ล้านโดส ตอนนี้ กระทรวงสาธารณสุขเร่งฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 3-4 แสนโดส เพื่อให้ทันกับปลายปี เรามีประชากรกว่า 69 ล้านคน แปลว่า แต่ตอนนี้มีราว 13% ที่ได้รับวัคซีน 1 โดส และเพียง 5% ที่ได้รับครบโดส จะเห็นว่าเหมือนรัสเซีย เรามีการฉีดวัคซีนค่อนข้างน้อย ทำให้การติดเชื้อกระจายเร็ว และการเสียชีวิตเร็ว เพราะยังไม่เห็นผลของวัคซีนดีพอ 

  • เร่งพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 สู้ เชื้อกลายพันธุ์

เนื่องจาก โควิด-19 มีการกลายพันธุ์ ตอนนี้ทั่วโลก บริษัทที่ผลิตวัคซีน กำลังเข้าสู่การผลิตวัคซีนรุ่นที่ 2 ซึ่งมี 2 กลุ่ม คือ วัคซีนใหม่ ที่อยู่ในระยะการศึกษาในคน และ วัคซีนเดิม ที่พัฒนาให้มีคุณสมบัติสำคัญมากขึ้น มุ่งเป้าประสิทธิภาพสูงขึ้น ให้ครอบคลุมไวรัสกลายพันธุ์ และบางบริษัท ใช้เอไอเข้าไปช่วยดูว่าโควิด-19 จะกลายพันที่จุดไหนได้อีก เพื่อพัฒนาวัคซีนให้ครอบคลุม

หลักการใหญ่ๆ คือ ต่อไปวัคซีนราคาจะถูกลง การจัดเก็บไม่จำเป็นอุณหภูมิต่ำมาก ผลิตได้เยอะ ภูมิคุ้มกันจะอยู่นาน มีการออกแบบอย่างน้อยปีหนึ่ง บริษัทมองระยะยาวว่า ต่อไปจะต้องฉีดวัคซีนแบบนี้ปีละ 1 ครั้ง โดยวัคซีนโควิด-19 รุ่นสอง คาดว่าจะออกมาในต้นปีหน้า

  • ติดตามศึกษา 'เดลต้า' + อัลฟ่า 

สำหรับ กรณีประเทศไทยพบสายพันธุ์ผสมระหว่างอัลฟา กับเดลต้า ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ อธิบายว่า ปรากฎการณ์นี้ไม่ได้เพิ่งเกิดในประเทศไทย แต่ยังบอกไม่ได้ว่าคนเหล่านี้จะมีอะไรแตกต่างหรือไม่ เพราะแต่ละสายพันธุ์จะมีลักษณะไม่เหมือนกัน โดยอัลฟาและเดลตา คล้ายคลึงกัน เพราะแพร่เร็ว ความรุนแรงอาจไม่สูงมากนัก จึงไม่เห็นอาการแตกต่างกันมาก แต่หากไปเจอสายพันธุ์เบตา และมาเจอกับสายพันธุ์อัลฟา หรือเบตาเจอกับเดลฟาจะยุ่ง

ตอนนี้จึงยังไม่มีการรู้ว่า การเจอสองสายพันธุ์จะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน แต่ตามธรรมชาติ หากสองสายพันธุ์มีการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมก็อาจเกิดผลเชิงบวกหรือลบได้ แต่เท่าที่ทราบคนงานที่เจอสองสายพันธุ์ 7 คน ยังไม่มีอาการแตกต่างจากคนอื่น ซึ่งตอนนี้เราจึงต้องเฝ้าติดตาม ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ

ส่วนคนที่ติดเชื้อสองสายพันธุ์เมื่อแพร่กระจายเชื้อ จะเป็นสายพันธุ์ไหน ไม่มีใครตอบได้ ต้องเฝ้าระวัง แต่สายพันธุ์ไหนแพร่เร็ว อีกสายพันธุ์ก็จะหายไป ตอนนี้ไม่มีใครบอกรายละเอียดอะไรได้ เพราะข้อมูลยังน้อย ตอนนี้รู้ว่ามี และรอดู

“ตอนนี้ไวรัสโควิดที่กลายพันธุ์มีเป็นพันๆ ถ้าทำให้ติดช้าลงมันจะสลายไปเอง ดังนั้น ต้องติดตามดูกลุ่มที่ติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ต่อไป ส่วนการแพร่เชื้อต่อจะแพร่ตัวไหนนั้น ไม่มีใครตอบได้ แต่หลักการอย่างที่บอกว่าสายไหนแพร่เร็วสายพันธุ์นั้นคงอยู่ หากแพร่ช้าก็หายไป ตอนนี้หาอู่ฮั่นยากมาก หรือในอังกฤษก็หาสายพันธุ์อัลฟาได้น้อย กลายเป็นเดลตาไปหมดแล้ว” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว ในการเริ่มดำเนินการ ยุทธวิธี The Hammer & The Dance ไทยมีผู้ป่วยต่อวัน 188 ราย และผ่อนคล้ายในวันที่ 3 พ.ค. 63 และหลังจากนั้น 6 ระลอก สามารถดึงลงได้ใน 7 สัปดาห์ ตอนนี้เราอยู่จุดที่หลายคนกลัวจะทะลุหลักหมื่นหากเราไม่ทำอะไร หากยังไม่รีบทุบให้ลง และยังผ่อนผันธรรมดาทั่วไป สุดท้ายคาดการณ์ไม่ได้จริงๆ ว่าจะไปถึงกี่หมื่นต่อวัน

  • 3 มาตรการ + วัคซีน สู้โควิด

แนวทางการรับมือวิกฤติโควิด-19 จากสายพันธุ์เดลต้า ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ แนะว่า  อันดับแรก คือ การลดความเสียหายที่เกิดจากวิกฤติทีเกินศักยภาพของระบบการดูแลสุขภาพ หลายรพ.เพิ่มจำนวนเตียง ทรัพยากร ทั้งคน ยา เต็มที่จนล้น ณ วันนี้มีคนไข้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจนอกห้องไอซียู เพราะไม่มีไอซียูให้อยู่ ดังนั้น เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิต มาตรการที่จะช่วยตรงนี้ได้ ต้องเร่งลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อให้เร็วที่สุด ผ่าน 3 มาตรการหลัก คือ

มาตรการทางการปกครอง การล็อกดาวน์ประเทศเป็นสิ่งจำเป็

มาตรการทางการสาธารณสุข (การบริหารจัดการควบคุมโรค การพัฒนาศักยภาพการตรวจหาผู้ติดเชื้อ การบริหารจัดการเตียง สถานพยาบาล) การรักษาตัวที่บ้าน Home Isolation ซึ่งต้องทำ แต่ต้องทำอย่างถูกต้อง

มาตรการส่วนบุคคล และทางสังคม การชี้แจงเหตุและมาตรการให้รับทราบและต้องวินัยในการปฏิบัติ ศึกนี้เป็นศึกของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง

“รวมไปถึงการเร่งฉีด วัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์กลางน้ำที่สำคัญ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรค  ต้องฉีดมากและเร็ว พร้อมกับ ทบทวนรูปแบบการฉีดวัคซีน 2 เข็มที่ต่างกัน และ การพิจารณาฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในระหว่างที่ยังไม่มีวัคซีนรุ่นที่ 2 ต้องรีบคิด หากจำเป็นต้องทำก็จะได้ทำ เพราะตราบใดที่วัคซีนรุ่นที่ 2 ยังไม่ออก เรายังมีโอกาสได้รับความรุนแรงจากเดลต้า สุดท้าย คือ เปิดโอกาสและเร่งกระบวนการจัดหาวัคซีนทางเลือก เชื่อว่าการมีวัคซีนที่มีอยู่ไม่กี่ชนิด อาจจะสู้การมีวัคซีนหลายชนิด เพื่อฉีดได้เยอะ ฉีดได้เร็ว น่าจะเป็นตัวที่นำไปสู่ความสำเร็จ” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว