'สูงอายุ' ป่วยหนัก 10 เสียชีวิต 1 ราย เร่ง 'ฉีดวัคซีน' สูงวัย-7 กลุ่มโรค

'สูงอายุ' ป่วยหนัก 10 เสียชีวิต 1 ราย เร่ง 'ฉีดวัคซีน' สูงวัย-7 กลุ่มโรค

ศบค. ปรับแนวทางเร่ง 'ฉีดวัคซีน' ผู้สูงอายุ และ '7 กลุ่มโรค' เนื่องจากเสี่ยงป่วยโควิด-19 หนัก เสียชีวิตสูง หลังพบผู้สูงอายุป่วย 10 ราย เสียชีวิต 1 ราย

วันนี้ (7 ก.ค. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์​การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวันที่ 7 ก.ค. 64 ว่าที่ประชุมมีการรายงานลักษณะความรุนแรงของผู้ป่วยแยกตามเขียว เหลือง แดง

ก่อนหน้านี้ที่มีการแพร่ระบาดในต้นเดือนเมษายน 64 ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80% มีอาการระดับเขียว เหลือง 15 % แดง 5% ตอนนี้ตัวเลข ผู้ป่วยสีเขียวเหลือ 70% เหลือง 20% และ แดง 10% ผู้ป่วยที่มีอาการหนักระดับสีแดง 10 ราย มีอยู่ราว 4-5 รายจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และในจำนวนที่ใช้เครื่องช่วยหายใจทุก 10 ราย จะมีรายงานผู้เสียชีวิต 1-2 คน เป็นตัวเลขที่ทางกระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และนำไปสู่มาตรการการจัดการเตียงและระดมการรักษาที่สามารถไปทิศทางบริบทที่พบตอนนี้

  • เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคเรื้อรัง

จากการที่มีรายงานผู้เสียชีวิต 54 ราย ที่รายงาน เสียชีวิตในกทม. 30 ราย ปัตตานี 4 ราย สมุทรปราการและปทุม จังหวัดละ 3 ราย นครราชสีมา ยะลา และสมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย เชียงราย เพชรบุรี ชลบุรี นครปฐม ชัยภูมิ นราธิวาส นครศรีธรรมราช พระนครศรีอยุทธยา จังหวัดละ 1 ราย

ปัจจัยเสี่ยงและความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่ยังเป็นโรคเรื้อรัง เบาหวาน ไขมัน ความดัน ยังเป็น 3 อันดับแรก อายุ 26 – 89 ปี เป็นชาวไทย 49 ราย เมียนมา 3 ราย ลาว 1 ราย และญี่ปุ่น 1 ราย ค่ากลางระยะเวลาวันที่ทราบผลติดเชื้อจนถึงเสียชีวิต 9 วัน นานสุด 62 วัน

  • สูงอายุป่วย 10 ราย เสียชีวิต 1 ราย 

การกระจายของผู้ติดเชื้อหากเป็นคนทั่วไป อายุน้อย อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า ใน 1000 ราย จะมีผู้เสียชีวิต 1 ราย แต่ตัวเลข จากกรมควบคุมโรค จะพบว่า ทุกๆ ผู้สูงอายุ 10 ราย จะมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ถือเป็น 10% ซึ่งค่อนข้างสูง ทำให้ทิศทางนโยบาย ที่ขอให้เร่งระดมฉีดวัคซีนแก่ผู้สูงอายุ

  • ฉีดวัคซีนแล้ว 11.3 ล้านโดส

ขณะที่สรุปยอดฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ 11,328,043 โดส ผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 223,268 คน สะสม 8,245,297 คน ผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม 46,385 คน สะสม 3,082,746 คน พยายามเน้นย้ำไปยังการฉีดใน กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 12.5 ล้านคน ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว 1,616,977 คน คิดเป็นร้อยละ 12.9 เข็มที่ 2 จำนวน 106,274 คน คิดเป็น ร้อยละ 0.9 , กลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค 5.35 ล้านคน ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 835,916 คน ร้อยละ 15.6 เข็มที่ 2 จำนวน 187,586 คน ร้อยละ 3.5 

 

  • เร่ง 'ฉีดวัคซีน' สูงอายุ' และ '7กลุ่มโรค'

สำนักอนามัยกทม. ปรับแผนฉีดวัคซีนโดยให้ หน่วยฉีดวัคซีนของ ทปอ. คือ จุดฉีดของมหาวิทยาลัยต่างๆ , สถานีกลางบางซื่อ ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม และสำหรับ ผู้ประกันม.33 ในความดูแลของกระทรวงแรงงาน ทุกจุดฉีดในการเน้นย้ำปกป้องผู้ สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรค ให้เร็วขึ้น

ขณะเดียวกัน กทม. รายงานว่ามีผู้ป่วยสีแดง ที่รอเตียงราว 40-50 ราย ต่อวัน สีเหลือ 200-300 รายต่อวัน ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่มีอาการเหนื่อยหอบ และมีอาการระบบทางเดินหายใจ หรือ ยังไม่มีอาการแต่ถือเป็นผู้มีความเสี่ยง สูงอายุ โรคประจำตัว ต่อให้ยังไม่มีอาการทางเดินหายใจก็จัดอยู่ในกลุ่มสีเหลืองด้วย สีเขียว 300-400 รายต่อวัน โดยตัวเลขสะสม 2 สัปดาห์ พบว่า แต่ละวันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งระดับ เขียว เหลือง แดง เข้ามาสูงขึ้นหลักพัน ขณะที่ การส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษา โดยเจ้าภาพหลัก คือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์เอราวัณ ก็มีศักยภาพในการขนผู้ป่วยที่ประมาณ 500 เที่ยวต่อวัน

  • ส่งผู้ป่วยสีแดงเข้าระบบทันที

ที่ประชุมทั้ง ศบค. ชุดเล็ก และ EOC เช้านี้ จึงได้มีการพูดถึงมาตรการจัดการ 2 ส่วนด้วยกัน คือ เพิ่มศักยภาพในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังศูนย์บริการที่จะได้รับการดูแล ให้ความสำคัญผู้ป่วยเหลืองแดง โดยสีแดง จะต้องเข้าระบบทันที สีเหลืองต้องมีระยะเวลาในการรอคอยน้อยที่สุด อาจจะ 1 วัน ให้นำทุกคนเข้าสู่ระบบ ที่เหลือสีเขียว หรือ กลุ่มสีขาว ที่ไม่มีอาการแข็งแรง จะได้รับการจัดสรรให้ไปอยู่ในศูนย์พักคอย

 

  • กทม.เปิด 5 ศูนย์พักคอยรับสีเขียว

กทม. เปิดศูนย์พักคอยรอเตียง 5 ศูนย์ ได้แก่ อาคารปฏิบัติธรรม วัดอินทรวิหาร 175 เตียง , วัดสะพาน เขตคลองเตย เปิด 1 พ.ค. จำนวน 250 เตียง , ค่ายลูกเสือ วันวาน เขตหนองจอก 200 เตียง , วัดศรีสุดารามวรวิหาร บางกอกน้อย 90 เตียง และศูนย์สร้างสุขทุกวัย บางแค 150 เตียง และที่เหลือจะทยอยเปิดภายใน 9 ก.ค. นี้ โดยจะมี รพ. พี่เลี้ยงของศูนย์พักคอย ได้แก่ รพ.กลางร.พ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.สิรินธร รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ รพ.ตากสิน โดยผู้ป่วยไม่มีอาการจะได้รับการจัดสรรไปที่ศูนย์พักคอย หากมีอาการเปลี่ยนแปลงจะได้รับการส่งต่อไปยัง รพ.ที่เหมาะสม

  • ขยาย รพ.ระดับสูง สุวรรณภูมิ 5,000 เตียง

จะมีการจัดตั้ง รพ. สนาม ระดับสูง ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เตรียมการราว 3 สัปดาห์ คาดว่าจะเปิดรับผู้ป่วยได้ราว ส.ค. 5,000 เตียง โดยสำรองผู้ป่วยสีแดงวิกฤติ 1,360 เตียง ที่เหลือเป็นสีเหลือสีเขียว ซึ่งก่อนหน้านี้รพ.บุษราคัม เพิ่มได้อีก 1,500 เตียง มทบ. 11 ซึ่งความช่วยเหลือของ รพ.เอกชน เครือธนบุรี ร่วมกับ กรมสบส. และ สธ. เปิดอีก 58 เตียง

  • เน้นตรวจเชื้อรพ. 2 กลุ่มจำเป็น

ผู้ช่วยโฆษกศบค. อธิบายว่า การตรวจแล็บหรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการ นั้นจะมีปรับระบบการตรวจ คือเน้นในการค้นหาสอบสวนการระบาด ตามไทมไลน์ผู้ติดเชื้อ ตามว่าสัมผัสเสี่ยงกับใครบ้าง แต่หากประชาชนไม่ได้เข้าข่ายอยากตรวจเอง ที่ประชุมมีการหารือว่าในระยะใกล้นี้อาจจะ เปิดศูนย์วอล์คอินแล็บ ที่นิมิบุตร หากตรวจแล้วมีผลติดเชื้อ ก็จะมีการจัดการพิจารณาเขียวเหลือแดง ขอให้ติดตามรายงานในระยะนี้ ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการตรวจ การจัดการเตียง และการแยกกักที่บ้านทุกวัน