'โรงงานกิ่งแก้ว' ระเบิด ต้องรู้วิธีป้องกัน 'สารเคมี' ในอากาศ

'โรงงานกิ่งแก้ว' ระเบิด ต้องรู้วิธีป้องกัน 'สารเคมี' ในอากาศ

จากเหตุไฟไหม้ "โรงงานกิ่งแก้ว" ในพื้นที่ "กิ่งแก้ว21" และตรวจสอบพบว่ามี "สารเคมี" อันตรายปนเปื้อนในอากาศรอบบริเวณ ชวนประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง มารู้วิธีป้องกันตัวเองจากสารพิษอันตราย

จากเหตุระเบิดรุนแรงจนเกิดเพลิงไหม้ ณ "โรงงานกิ่งแก้ว" ในพื้นที่ "กิ่งแก้ว21" ภายหลังทราบว่าสถานที่เกิดเหตุคือ บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด และจากรายงานข่าวพบว่าเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ ต้นเพลิงมาจากถังสารเคมีในโรงงานทำให้สารเคมีไหลออกมาปะปนในอากาศของพื้นที่โดยรอบ

ล่าสุด.. กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) และเจ้าหน้าที่กรมโรงงานฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมี ลงพื้นที่ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้เพลิงไหม้โดยเร็ว และป้องกันการรั่วไหลของสารพิษ พร้อมประกาศอพยพประชาชนในรัศมี 5 กม.แล้ว ส่วนในรัศมีที่ไกลออกไปประมาณ 7-10 กม.ให้เฝ้าระวัง 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมวิธีป้องกันตัวเองจากสารเคมีอันตรายจากเหตุ "ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว" มาฝากกัน ดังนี้

1. รมว.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่ด่วน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้เจ้าหน้าที่กรมโรงงานฯ ลงพื้นที่ด่วน เพื่อไปติดตามสถานการณ์โรงงานไฟไหม้ใกล้ชิด

ซึ่งทาง กรอ. ได้ร่วมประชุมกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ และหน่วยงานในพื้นที่เพื่อเร่งหาสาเหตุและแนวทางอพยพช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เป็นการเร่งด่วน

สำหรับมาตรการเร่งด่วนในขณะนี้การดำเนินการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ ที่ กรอ. กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยรอบ พร้อมตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณสารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

2. สารเคมีอันตราย ก่อมะเร็ง

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่าในเบื้องต้น กรอ.ได้เคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ไปยังพื้นที่ปลอดภัย โดยให้ห่างจากพื้นที่ที่สามารถติดไฟได้ พร้อมกับล้างสารเคมีที่เหลือด้วยน้ำปริมาณมากๆ

โดยสารสไตรีนโมโนเมอร์ (StyreneMonomer) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นผลิตโฟม มีคุณสมบัติติดไฟได้ง่าย ส่วนสารพอลิสไตรีนนั้น เมื่อถูกความร้อนสูงจะให้สาร 2 ชนิดคือ สไตรีน (Styrene) และเบนซีน (Benzene)

โดยเบนซีนเป็นสารพิษอันตราย มีความเป็นพิษสูง และเป็นสารก่อมะเร็ง โดยอาการของผู้ที่ได้รับเบนซีนเมื่อหายใจเข้าไปในระดับสูงและเป็นเวลานาน คือในระยะแรกๆ จะเกิดอาการซึม วิงเวียน คลื่นไส้ หมดสติ ใจสั่น เมื่อสูดดมเป็นเวลานานจะทำให้เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือด (Leukemia) ได้

สไตรีนมอนอเมอร์ เป็นชื่อเรียกของสารตั้งต้นโมเลกุลเล็กที่นำมาใช้สังเคราะห์ต่อเนื่องให้เป็นโมเลกุลใหญ่ขึ้นจนได้เป็นพอลิเมอร์หรือพลาสติก สารสไตรีนมีโครงสร้างหลักของโมเลกุลเป็นตัวเบนซีน ซึ่งเป็นไฮโดรคาร์บอนประเภทวงแหวน 6 เหลี่ยม จัดเป็น สารก่อมะเร็ง และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้ให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Sonthi Kotchawat โดยระบุว่า 

สารสไตรีนโมโนเมอร์ เป็นสารระเหย ถ้าหายใจเข้าไป จะเกิดการระคายระบบทางเดินหายใจ คือ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และมึนเมา ถ้าได้รับสารปริมาณสูง จะชักและเสียชีวิตได้ หากการหายใจเข้าไปในระยะนานๆ อาจมีอาการทางสายตา การได้ยินเสื่อมลง และการตอบสนองช้าลง 

162548658333

3. วิธีป้องกันตัวเองจาก "สารเคมี"

ด้าน กรมอนามัย ได้โพสต์ข้อความเตือยประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงเหตุ "ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว" ระบุว่า ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย เพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดมกลิ่นควันไฟจากโรงงานโฟมระเบิด เนื่องจากเป็นสารเคมี "สไตรีนโมโนเมอร์" ซึ่งเป็นสารอันตรายต่อร่างกายและเป็นสารก่อมะเร็ง

162547709965

มีอีกแหล่งข้อมูลหนึ่งจาก รศ. ดร.กิติกร จามรดุสิต ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำแนะนำว่า การสูดดมควันที่พัดมาจากเหตุเพลิงไหม้ฯ จะเป็นปัญหาในเวลานี้ และหน้ากากอนามัยไม่สามารถป้องกันได้ เพราะเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย ต้องอาศัยหน้ากากที่ป้องกันสารอินทรีย์ (N95)

อ่านเพิ่ม :  'โรงงานกิ่งแก้วระเบิด' สารเคมีฟุ้ง เสี่ยงก่อมะเร็ง

อีกทั้ง มีข้อมูลจากกองปราบปรามได้ออกมาแชร์ 7 วิธีปฏิบัติตัว หากอยู่พื้นที่เหตุเพลิงไหม้โรงงานกิ่งแก้ว ดังนี้ 

- ไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัย เช่น พื้นที่เหนือลม
- หากไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ อาจหลบในบ้าน-อาคาร ที่มีหน้าต่างน้อย โดยนำผ้าชุดน้ำปิดกั้นตามรอยต่อของหน้าต่าง-ประตู เพื่อป้องกันสารเคมีเข้าบ้าน
- สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
- ใช้ผ้าชุดน้ำ เช็ดตามร่างกาย
- หากระคายเคืองมาก ใช้น้ำล้างหน้า ล้างตา ล้างตัว
- คนที่อยู่ในรถ ควรใช้ระบบอากาศแบบปิด ไม่ควรให้อากาศภายนอกเข้าไปในรถยนต์
- หากหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เหนื่อย หรือไอ ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที

162547710213

4. วิธีปฐมพยาบาลหากสัมผัส "สารเคมี"

- ผู้ที่ได้รับอันตรายจากสารเคมีที่ผิวหนัง : ให้ล้างผิวหนังบริเวณที่ถูกสารเคมีจะระคายเคือง มีอาการแสบ แดง โดยใช้น้ำสะอาดล้างให้มากที่สุด เพื่อให้เจือจาง ถ้าสารเคมีเป็นกรดให้รีบถอดเสื้อผ้าออกก่อน 

- ผู้ที่ได้รับอันตรายจากสารเคมีที่ตา : เช่น เคืองตา แสบตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที โดยเปิดเปลือกตาขึ้นให้ไหลผ่านตาอย่างน้อย 15 นาที ป้ายขี้ผึ้งป้ายตา แล้วรีบนำส่งแพทย์โดยเร็ว 

- ผู้ที่ได้รับอันตรายจากสารเคมีในการสูดดม : ให้ย้ายผู้ที่ได้รับสารไปที่อากาศบริสุทธิ์ ประเมินการหายใจ และการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่มีให้ทำการ CPR 

162547726046

---------------------------

อ้างอิง : กรมอนามัย, กองปราบปราม, SaftyinThai, Sonthi Kotchawat