'โรงงานกิ่งแก้วระเบิด' สารเคมีฟุ้ง เสี่ยงก่อมะเร็ง

'โรงงานกิ่งแก้วระเบิด' สารเคมีฟุ้ง เสี่ยงก่อมะเร็ง

จากเหตุ 'โรงงานกิ่งแก้วระเบิด' หลายฝ่ายกังวลถึง 'สารก่อมะเร็ง' ที่ฟุ้งในอากาศเสี่ยงก่อมะเร็ง นำมาซึ่งข้อเสนอในการป้องกันอันตรายจากสารเคมี จัดทำแผนกู้คืนสถานการณ์ระยะยาว รวมถึงข้อเสนอเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต

วันนี้ (5 ก.ค. 64) รศ. ดร.กิติกร จามรดุสิต ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการวิจัย การศึกษา และวิเคราะห์เชิงระบบของอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ที่มีผลต่อการหนุนเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยถึงการระเบิดรุนแรงภายใน บริษัท หมิงตี้เคมิคอล จำกัด ย่านกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ

ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้นของประเทศจีน ที่เข้ามาก่อตั้งในประเทศไทยนานกว่า 30 ปี เมื่อกลางดึกวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดเพลิงลุกไหม้อย่างรวดเร็วขยายวงกว้าง ทำให้ต้องมีการอพยพประชาชนผู้ที่อยู่อาศัยในรัศมี 5 กิโลเมตรออกจากพื้นที่ เพราะเกรงว่าจะได้รับอันตรายจากสารเคมี ว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าตกใจมากและจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันสารเคมีอันตรายและมาตรการฉุกเฉินในระยะยาว

  • 'สไตรีนมอนอเมอร์' สารก่อมะเร็ง


ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ตามข้อมูลพื้นฐาน สามารถสรุปสถานการณ์เพื่อป้องกันเบื้องต้นได้ว่า สถานที่เกิดเหตุเป็นโรงงานผลิตโฟมพลาสติกประเภทสไตรีน โดยสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิต คือ สไตรีนมอนอเมอร์ มอนอเมอร์เป็นชื่อเรียกของสารตั้งต้นโมเลกุลเล็กที่นำมาใช้สังเคราะห์ต่อเนื่องให้เป็นโมเลกุลใหญ่ขึ้นจนได้เป็นพอลิเมอร์หรือพลาสติก สารสไตรีนมีโครงสร้างหลักของโมเลกุลเป็นตัวเบนซีน

ซึ่งเป็นไฮโดรคาร์บอนประเภทวงแหวน 6 เหลี่ยม จัดเป็น สารก่อมะเร็ง และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย ซึ่งตามข้อกำหนดแล้วต้องมีเฉลี่ยในชั้นบรรยากาศได้ไม่เกิน 1.7 ไมโครกรัมต่อปริมาตรอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร ค่าเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมงไม่เกิน 7.6 ไมโครกรัมต่อปริมาตรอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร

162547615468

  • เผาไหม้ สูดดม  ระคายเคือง ก่อมะเร็ง

เมื่อเกิดระเบิดแล้วมีการเผาไหม้ สารเคมีเหล่านี้ จึงเกิดการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ สังเกตได้จากควันไฟสีดำและสีเทา โดยการเผาไหม้ของไฮโดรคาร์บอนทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอออกไซด์ ซึ่งปนกับสารที่เป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย เมื่อสูดดมเข้าไปจะหมดสติ วิงเวียนศีรษะ และหากสูดดมสไตรีนกับเบนซีน จะเกิดการระคายเคืองระบบหายใจ และก่อมะเร็ง

 

  • หน้ากากอนามัยโควิด-19 ป้องกันไมไ่ด้ 


สิ่งกังวล ผลกระทบระยะสั้น ที่เห็นชัดเจน คือ การสูดดมเป็นปัญหา หน้ากากอนามัยที่ใช้ป้องกันโควิด-19 ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย ต้องอาศัยหน้ากากที่ป้องกันสารอินทรีย์แต่จะปกคลุมอยู่นานแค่ไหนก็ต้องอาศัยโชคช่วยในเรื่องของลม ความชื้น และฝน หากฝนตกก็จะช่วยให้ลดในส่วนของควันก๊าซ

แต่ก็จะ ส่งผลต่อในระยะยาว กล่าวคือ หากสัมผัสกับความชื้นในอากาศ หรือมีฝนตก ก๊าซที่ลอยอยู่ในอากาศและสารตกค้างเหล่านี้จะตกลงสู่พื้นดินกระจายวงกว้างและส่งผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เกิดการปนเปื้อนทั้งต้นไม้ แหล่งน้ำผิวดิน และไหลซึมลงแหล่งน้ำใต้ดินได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องวางแผนการบริหารจัดการไม่ให้ส่งผลกระทบในระยะยาว รวมถึงต้องมีแผนการบริหารจัดการกู้คืนสถานการณ์ในระยะยาว

  • เสนอมาตรการความปลอดภัย


จากเหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม (กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) กระทรวงแรงงาน (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) หน่วยงานท้องถิ่น เป็นต้น

จะต้องกลับมาตั้งวงคุยกันถึงมาตรการการป้องกัน โดยเฉพาะโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีการเก็บสารเคมีไวไฟและเป็นอันตรายไว้จำนวนมาก ทั้งมาตรการความปลอดภัยในการจัดเก็บ มาตรการฉุกเฉินที่ไม่เฉพาะภายในโรงงานแต่ต้องคลอบคลุมถึงชุมชนโดยรอบอย่างเคร่งครัดและจริงจัง การซ้อมแผนอพยพชุมชน และอื่น ๆ อีกมากมาย

 

  • 5 ข้อเสนอ นายกสภาวิศวกร  

ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ในฐานะนายกสภาวิศวกร ได้โพสเฟซบุ๊คส่วนตัว ถึงเหตุการณ์การระเบิดของโรงงานโฟม กิ่งแก้ว 21 โดยเนื้อความระบุว่า กรุงเทพฯ ไม่เคยไกลจากภัยพิบัติ เพราะการป้องกัน จะทำก็ทำได้ อีกครั้ง เช้ามืดวันนี้ โรงงานระเบิดกลางพื้นที่ชุมชนถนนกิ่งแก้ว ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ และเส้นทางบางนาสายหลักเข้ากรุงเทพฯ ไฟไหม้รุนแรง และปล่อยก๊าซมลพิษ สร้างความเสียหายรุนแรงต่อสุขภาพคนเมือง

เมื่อปลายปีที่แล้ว ท่อแก๊สระเบิด แถวขอบกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ กลางวันแสกๆ มีผู้เสียชีวิต บ้านเรือนหลายหลังถูกเผาวอดวาย พี่เอ้ ในฐานะนายกสภาวิศวกร (และชาวบ้านคนหนึ่งที่มีครอบครัว) ขอเสนอ

1. การกำหนดพื้นที่เสี่ยง ที่มีโรงงานทำสารเคมี หรือบรรจุสารเคมีในกทม. หรือแนวที่ท่อแก๊สพาดผ่าน ให้ชาวบ้านได้รับรู้รับทราบ และได้พึงระวัง เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ ได้มีการป้องกันตน และการเตรียมการอพยพได้อย่างรวดเร็ว

อีกทั้งหน่วยงานดับเพลิงของกทม. ในพื้นที่เสี่ยง ที่มีโรงงานเคมี จะต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิง และอุปกรณ์ป้องกันสารเคมีแก่นักดับเพลิง ให้พร้อม!

2. อาจถึงจุดเปลี่ยน ที่โรงงานอันตราย ควรย้ายออกจากพื้นที่เมือง แน่นอนโรงงานเขาอาจมาก่อน ชุมชนเมืองขยายตามมาเอง........แต่รัฐและเมือง ในต่างประเทศ ได้เสนอความช่วยเหลือทางภาษีและอื่นๆ หากโรงงานเต็มใจย้าย (ที่จริง ขายที่ก็กำไรอภิมหาศาล แล้วนำกำไรไปขยายโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมได้!)

3. สำนักงานเขต ต้องขึ้นทะเบียนโรงงานทุกประเภท เพื่อจำแนกประเภทเสี่ยงมาก เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงน้อย (ทุกโรงงานมีความเสี่ยง) เพื่อตรวจสอบ ประเมินทุก 6 เดือน และให้โรงงานส่งรายงานการประเมินตนเอง แบบนี้ได้ความกระตือรือร้น ความเสี่ยงต่อชาวบ้าน ลดน้อยลงทันที!

4. ต้องรายงานมลพิษ และสารก่อมะเร็งในอากาศ อย่างตรงไปตรงมา เพื่อประชาชนได้ป้องกันสุขภาพตนเองและครอบครัว เพราะสารดะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ที่เกิดจากเพลิงไหม้เม็ดพลาสติก อันตรายถึงชีวิต

5. ถึงเวลาพัฒนานวัตกรรม การควบคุมเพลิงสารพิษ เพราะในอดีตเกิดความสูญเสียของนักดับเพลิงจำนวนมาก เพราะฉีดน้ำข่วยลดความร้อนเท่านั้น มิได้ผลยับยั้งเพลิงจากสารเคมี ที่ต้องใช้โฟม

"ระเบิดในกทม. แบบนี้ เราเจอมาตั้งแต่เด็ก ไม่อยากให้ลูกหลานเรา ต้องพบเจอต่อๆ ไป" นายกสภาวิศวกร ระบุ