ส่องโลก “รีสตาร์ท” หลังโควิด ขาช้อปไทยนำเทรนด์ออนไลน์

ส่องโลก “รีสตาร์ท” หลังโควิด ขาช้อปไทยนำเทรนด์ออนไลน์

โควิด-19 ยังคงเร่งพฤติกรรมผู้บริโภคให้ “ชอปปิงออนไลน์” โตพรุ่งพรวด ต่อให้ปีหน้าโลก “รีสตาร์ท” ไวรัสคุกคามเริ่มคลี่คลาย แต่การค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซยังเป็นพระเอก ตอบโจทย์นักช้อป และคนไทยพลิกพฤติกรรมซื้อออนไลน์แซงหน้าโลก

พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่การระบาดของโรคโควิด-19 กว่า 1 ปีที่ผ่านมา เป็นปฏิกิริยา “เร่ง” ให้คนหันมาชอปปองออนไลน์เติบโตอย่างมาก ต่อให้สถานการณ์โรคคลี่คลาย โลก “รีสตาร์ท” ใหม่ การซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซจะยังเบ่งบานต่อเนื่อง

วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย เผยผลสำรวจนักช้อปแห่งอนาคต 2021 หรือ Future Shopper 2021 พบว่าผู้บริโภคชาวไทยกำลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำเทรนด์การช้อปปิ้งออนไลน์ทั่วโลก ดังนั้น แบรนด์ต้องวางแผนธุรกิจและการลงทุนรองรับการเติบโตในระยะยาว

มัวรีน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย ฉายภาพ การชอปปิงออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อผู้บริโภคมากขึ้น ยิ่งเกิดโรคโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเติบโตสูงมาก แต่ยอมรับว่าสัดส่วนยังต่ำ เมื่อเทียบกับช่องทางค้าปลีกที่ครองตลาดใหญ่อยู่ แต่แนวโน้มในอนาคตหลังโควิดคลี่คลาย ภาพรวมทั้งโลกรีสตาร์ทออนไลน์จะยังทรงพลัง 

ดังนั้น หากมองนักช้อปแห่งอนาคต พบการเปลี่ยนแปลงดังนี้ 1.โควิดระบาดทำให้คนไทย 94% ชอปปิงออนไลน์ เป็นสัดส่วนสูงสุดในโลกซึ่งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 72% เมื่อคนคุ้ยเคยช้อปออนไลน์ ทำให้ปีหน้า 90% ยังคงใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวซื้อสินค้าต่อเนื่อง สูงกว่าทั่วโลกเฉลี่ย 60% เท่านั้น กลับกันผู้บริโภค 62% ยังกลัวการไปช้อปช่องทางหน้าร้าน ห้างค้าปลีกหรือออฟไลน์ด้วย 

“ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการชอปปิงไปสู่โลกออนไลน์แล้ว การใช้จ่ายไม่จำกัดแค่สินค้า และครอบคลุมบริการต่างๆด้วย ยิ่งกว่านั้นยังยินดีใช้เงินผ่านออนไลน์ตั้งแต่ 1,000-8,000 บาท”

2.ผู้บริโภคต้องการประสบการณ์ชอปปิงออนไลน์ที่รวดเร็ว ครบถ้วนมากขึ้น ดังนั้นแบรนด์จึงต้องตอบโจทย์ด้านเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และลดรอยต่อระหว่างหน้าร้าน การชำระเงินรวดเเร็ว สะดวก ถือเป็นการสร้างจุดสัมผัสที่ดีกับทุกเส้นทางการซื้อสินค้าของผู้บริโภค 3.ผู้บริโภคคาดหวังจากแบรนด์สูงขึ้นต่อเนื่องจากชอปปิงออนไลน์ เนื่องจาก 1 ปีที่ผ่านมา ความคุ้นเคยในการซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซแล้ว จากนี้ไปผู้บริโภคจะยิ่งคาดหวังบริการที่ดียิ่งขึ้นทั้ง การตอบข้อความที่รวดเร็ว ส่งสินค้าคืนโดยไม่ต้องเสียเงิน ฯ 

การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค แบรนด์ที่ค้าขายออนไลน์ ต้องปรับตัวตาม เพราะหากยังใช้กลยุทธ์ การทำตลาดแบบเดิมๆ อาจให้คู่แข่งฉกชิงลูกค้าและยอดขายได้อย่างง่ายดาย โดย 4 แนวทางต้องพลิกสูตรรบ ได้แก่ 1.การจัดพื้นที่และวางแผนการขายในส่วน Curbside Shopping ให้ดี: ลองมองไปถึงการขายไขว้ และขายเพิ่ม อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่อาจไม่เข้าไปเลือกซื้อในร้านอีกต่อไป 2.ตอบโจทย์ความสะดวกให้ลูกค้าเลือกซื้อและกลับออกนอกร้านได้อย่างรวดเร็ว เช่น หาทางลดเวลา ณ จุดชำระเงิน  

3.ทบทวนการจัดพื้นที่ร้านใหม่ อดีตสินค้ายอดฮอต ของจำเป็นจะถูกจัดไว้ลึกสุดของร้าน ถึงเวลานำมาวางให้เด่นเตะตาซื้อได้ง่ายและเร็วขึ้น 4.สร้างประสบการณ์ช้อปทุกช่องทางขายหรือออมนิ แชนแนล ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ โดยแกนสำคัญในการสร้างประสบการณ์ให้ผู้บิรโภค แบรนด์ต้องโปร่งใส จริงใจ ให้ข้อมูลตรงไปตรงมา การตอบข้อความต้องรวดเร็ว เป็นต้น

นอกจากนี้ ด้านความคาดหวังชอปปิงออนไลน์ของผู้บริโภคที่สูงขึ้น มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การทำให้เส้นทางการซื้อสินค้าสั้นกระชับ ยิ่งเร็วยิ่งดี เพื่อปิดการขาย ปัจจุบันแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ผู้บริโภค 70% ช้อปมากสุด คือมาร์เก็ตเพลสทั้งลาซาด้า ช้อปปี้ ตามด้วยโซเชียลคอมเมิร์ซ ขณะที่การค้นหา(Search Engine)ไม่ใช่จุดหมายหลักอีกต่อไป สำหรับสินค้าที่ที่มีการซื้อบนออนไลน์มากสุด ได้แก่ สินค้าเพื่อความงาม และเสื้อผ้า รวมถึงของเล่น สินค้าฟุ่มเฟือย ของแต่งบ้าน ฯ 

อีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังตกขบวน คือช่องทางขายตรงถึงผู้บริโภคหรือ D2C ที่แบรนด์พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ของตัวเอง เพราะมาร์เก็ตเพลสยังทรงพลัง แบรนด์จึงเน้นช่องทางดังกล่าว จึงแนะนำว่าแบรนด์อย่าละเลยเว็บไซต์ หน้าร้านออนไลน์ตัวเอง เพราะนอกจากจะเป็นช่องทางขายสินค้า ยังเป็นแหล่งเก็บขุมทรัพย์ข้อมูล(ฺBig Data)ของผู้บริโภค นำไปวิเคราะห์ วางแผนการทำตลาดเจาะความต้องการได้แม่นยำด้วย