ส่องความคืบหน้า 'วัคซีนโควิด-19 ไทย' ป้องกันสายพันธุ์ไหนได้บ้าง

ส่องความคืบหน้า 'วัคซีนโควิด-19 ไทย' ป้องกันสายพันธุ์ไหนได้บ้าง

เมื่อ 'โควิด-19' ระบาดรุนแรง วัคซีน ดูจะเป็นความหวังในการป้องกันโรค แม้จะมีวัคซีนหลายยี่ห้อในขณะนี้ แต่ไวรัสกลายพันธุ์กลายเป็นความท้าทายใหม่ของผู้ผลิต รวมถึง 'วัคซีนโควิด-19 ไทย' ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและมีความคืบหน้าในการทดสอบระยะ 1 ในขณะนี้

'โควิด-19' ซึ่งมีความร้ายแรงพอๆ กับไข้หวัดสเปนเมื่อร้อยปีก่อน แต่ตอนนั้นยังไม่มีวัคซีนที่โดดเด่นเช่นปัจจุบัน ทำให้มีคนเสียชีวิตหลายล้านคน ปัจจุบัน วิวัฒนาการทำให้เกิดการคิดค้นวัคซีน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่ทำให้การระบาดยุติอย่างรวดเร็ว ร่วมกับมาตรการควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย รักษาระยะห่าง และตรวจเชิงรุกให้ได้มากที่สุด

ในช่วงการคิดค้น 'วัคซีนโควิด-19' ใหม่ๆ วัคซีนเจเนอเรชั่นแรก ที่ออกมาแข่งขันกัน คือ ประสิทธิภาพในการป้องกัน และความปลอดภัย แต่ขณะนี้ ดูเหมือนความท้ายใหม่ ของแวดวงผู้ผลิตวัคซีน คือ การรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งใช้เวลากลายพันธุ์เพียงไม่กี่เดือน และนอกจากสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ที่ดูเหมือนจะครองโลกแทนสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) แล้ว ไม่แน่ว่าในอนาคต จะพบสายพันธุ์อื่นๆ เกิดขึ้นมาอีกหรือไม่

  • คืบหน้า 'วัคซีนโควิด-19 ไทย'

ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) เดือน มิ.ย. 64 พบว่า มี 'วัคซีนโควิด-19' ที่อยู่ในขั้นการทดลองในมนุษย์กว่า 100 รายการ และอีก 184 รายการ อยู่ในขั้นศึกษาวิจัย สำหรับประเทศไทย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการพัฒนา วิจัย 'วัคซีนโควิด-19' เช่นกัน โดย 'วัคซีนโควิด-19 ไทย' ที่มีความก้าวหน้าและโดดเด่นในขณะนี้ อาทิ 

  • วัคซีน mRNA ไทย

"ChulaCov19” วัคซีนชนิด mRNA ที่สร้างขึ้นจากชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส 'โควิด-19' เช่นเดียวกับไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา พัฒนาโดย ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มศึกษาในมนุษย์ระยะแรกกลางเดือน มิ.ย. คาดจะรู้ผล ก.ค. นี้

  • วัคซีนโปรตีนพืช

Baiya SARS-CoV-2 Vax 1” วัคซีนชนิดโปรตีนที่ผลิตจากใบพืช โดยนำส่วนหนึ่งของไวรัสมาเป็นต้นแบบ และนำมาผ่านกระบวนการส่งสารพันธุกรรมเข้าไปในพืช ทำให้พืชสร้างโปรตีนที่เป็นชิ้นส่วนของไวรัสได้ และสกัดนำโปรตีนนั้นออกมาเพื่อทำเป็นวัคซีน พัฒนาโดย บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะโดยศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) อยู่ระหว่างรวบรวมอาสาสมัครเพื่อศึกษาในมนุษย์ช่วง ส.ค. คาดเริ่มทดลอง ก.ย. นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

  • วัคซีนเชื้อตาย องค์การเภสัชกรรม

HXP-GPOVac” 'วัคซีนโควิด-19' ชนิดเชื้อตาย ขององค์การเภสัชกรรม โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 64 “นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์” ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึง ความคืบหน้าการศึกษาวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเชื้อตายในมนุษย์ระยะที่ 1 ว่า การพัฒนาวัคซีน “HXP-GPOVac” เป็นความร่วมมือระหว่างคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ อภ. ซึ่งเริ่มทดลองในอาสาสมัครระยะที่ 1 เมื่อเดือน มี.ค. 64 ที่ผ่านมา จากนั้นได้ส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่ได้มาตรฐานจากหลายสถาบัน อาทิ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบางประเทศ

  • ผลระยะ 1 ภูมิฯ ตอบสนองดี

“ผลที่ออกมาเบื้องต้นพบว่าค่อนข้างดี มีภูมิคุ้มกันตอบสนองได้ดี เป็นที่น่าประทับใจมาก ทั้งนี้ จะมีการรายงานผลการทดสอบอย่างเป็นทางการในเดือน ก.ค.นี้ และจะเลือกวัคซีน 2 สูตรที่ให้ผลดีที่สุด จากที่มีการทดลองไป 5 สูตร เพื่อมาทำการทดลองระยะที่ 2 ในอาสาสมัคร 250 คนในราวเดือน ส.ค. 64 และเลือก 1 สูตรที่ดีที่สุด เพื่อลดลองในระยะที่ 3 ต่อไป” นพ.วิฑูรย์กล่าว

นพ.วิฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน 'วัคซีนโควิด-19' ทุกชนิดตั้งต้นพัฒนามาจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์อู่ฮั่น ซึ่งวัคซีน HXP-GPOVac ก็เป็นการทดลองกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น แต่ใช้เทคโนโลยีล็อคโปรตีนไวรัส 6 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับวัคซีนตัวอื่นที่มีการล็อคโปรตีนไวรัส 2 ตำแหน่ง

ซึ่งการล็อคตำแหน่งโปรตีนหลายจุดนั้นจะทำให้ร่างกายจดจำเชื้อได้หลากหลายกว่า สร้างภูมิคุ้มกันได้กว้างกว่า และผลการทดสอบของ อภ. ที่ออกมาก็พบว่าภูมิคุ้นกันขึ้นดีมาก และ เมื่อนำมาทดสอบกับสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ก็ให้ผลลัพธ์ค่อนข้างดี ภูมิคุ้มกันไม่ได้ลดลงมากนัก

  • ทดสอบ สายพันธุเดลต้า และ เบต้า

ขณะนี้ อยู่ระหว่างการทดสอบกับ สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) และสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) และส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อดูว่าวัคซีนตอบสนองกับสายพันธุ์ใดบ้าง สำหรับเทคโนโลยีนี้ ในรุ่นต่อไปจะมีการเปลี่ยนหัวเชื้อ เปลี่ยนเชื้อต้นแบบ อาจจะมีการนำเชื้อหลายสายพันธุ์มารวมกัน เอาสไปรท์โปรตีนของแต่ละสายพันธุ์รวมกัน เพื่อดูประสิทธิภาพของวัคซีน

“วัคซีนมีความปลอดภัยและกลุ่มอาสาสมัครเองก็ปลอดภัย อยู่ในเกณฑ์ดีหมดทุกคน อาจมีบางรายที่ตั้งครรภ์และออกจากการศึกษาไป และยังไม่มีผู้ที่แพ้วัคซีนรุนแรง” นพ.วิฑูรย์กล่าว

162481347416

 

  • ความท้าทายในการผลิต 'วัคซีนโควิด-19'

ด้าน “ภก.ดร.นรภัทร ปีสิริกานต์” รักษาการผู้อำนวยการกองผลิตวัคซีนจากไวรัส ฝ่ายชีววัตถุ องค์การเภสัชกรรม ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจ ว่า ความท้าทายหลักๆ ของวงการวัคซีน คือ วัคซีนที่ถืออยู่มีความสามารถในการรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ได้หรือไม่ และเราไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะมีสายพันธุ์อื่นๆ อีกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของ 'โควิด-19' มีส่วนสำคัญกับความก้าวหน้าของวัคซีนเป็นอย่างมาก เพราะว่าหากไม่มี 'โควิด-19' วัคซีนที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน จะเหลือแค่วัคซีนแพลตฟอร์มเดิมที่เคยใช้มาก่อน คือ วัคซีนเชื้อตาย วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนกำลัง วัคซีนโปรตีนซับยูนิต

  • จาก 'วัคซีนโควิด-19' ต่อยอดสู่การรักษา โรคแปลก

ส่วนวัคซีนตัวอื่นๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนบนโลกนี้ หรือมีน้อยมาก คือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับรหัสพันธุกรรม เป็นกลุ่มที่ไม่เคยมีวัคซีนสำเร็จมาก่อน เช่น mRNA มีการเริ่มใช้ใน 'โควิด-19' เป็นครั้งแรก เหมือนการเปิดตัวเทคโนโลยีแพลตฟอร์มชนิดใหม่ และหลายคนมองว่าเทคโนโลยีชนิดนี้ จะทำให้การรักษาโรคแปลกๆ ที่ไม่เคยรักษาได้เกิดขึ้น ได้ประโยชน์กับแพลตฟอร์มนี้ในอนาคตอันใกล้

หรือในหลายโรคที่มีวัคซีนอยู่แล้ว เช่น ไข้หวัดใหญ่ หากเปลี่ยนเป็น mRNA เชื้อว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะดีขึ้น รวมถึงโรคอื่นๆ ซึ่งอาจจจะต้องใช้ mRNA ในการรักษาก็จะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง mRNA จะเข้ามาทำให้การรักษาโรคที่ไม่เคยหายมาก่อน สามารถรักษาได้ สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การรักษาด้วยยีนส์บำบัด เป็นการขยับจากวงการวัคซีน ไปสู่การรักษาโรคทางพันธุกรรม และโรคติดเชื้อแปลกๆ ได้ในอนาคต

  • วัคซีน ไม่หยุดพัฒนา แค่ 'โควิด-19'

“การพัฒนาวัคซีนไม่ได้หยุดอยู่แค่ 'โควิด-19' ต้องเรียกว่าเป็นเทคโนโลยีสดใสมาก หลายคนบอกว่า mRNA เป็นเทคโนโลยีที่จะสามารถรักษาโรคที่ไม่เคยรักษาได้มาก่อน ให้รักษาได้ โดยเฉพาะโรคทางพันธุกรรม และโรคติดเชื้อที่ประหลาดหรือไม่เคยมีมาก่อน จะทำให้การรักษาโรคกลุ่มนี้เป็นความหวังของคนที่เคยติดโรค รวมถึงเอชไอวีด้วย

“ทั้งนี้ ที่ผ่านมา วัคซีนที่ประเทศไทย มีการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ “วัคซีนไข้สมองอักเสบ” ขององค์การเภสัช แต่ช่วงหลังมีเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ ปัจจุบันจึงไม่มีอีกต่อไป ซึ่งวัคซีนตัวดังกล่าวอยู่ในตลาด 15 ปี ถัดมา คือ “วัคซีนป้องกันโรคไอกรน” จากบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และ “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” ขององค์การเภสัชกรรม กรณีรับมือกับการระบาด และ หาก 'วัคซีนโควิด-19' สำเร็จ น่าจะเป็นวัคซีนสัญชาติไทยตัวที่ 4” ภก.ดร.นรภัทร กล่าว