'จุฬาฯ-ใบยา' เร่งพัฒนาวัคซีนเพื่อคนไทย เตรียมทดสอบในมนุษย์กลางปีนี้

'จุฬาฯ-ใบยา' เร่งพัฒนาวัคซีนเพื่อคนไทย เตรียมทดสอบในมนุษย์กลางปีนี้

ใบยา ไฟโตฟาร์ม เตรียมพร้อมรับมือการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา เร่งพัฒนาวัคซีนเพื่อคนไทยด้วยแพลตฟอร์มผลิตโปรตีนจากใบพืชรุ่นที่สองและรุ่นต่อไป หากมีการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย เตรียมทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในมนุษย์ช่วงกลางปีนี้ 

ข่าวการพบไวรัสโควิด-19 ในอังกฤษและแอฟริกาใต้กลายพันธุ์ในผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและกักตัวใน State Quarantine เป็นเหตุให้หลายฝ่ายกังวลว่าวัคซีนที่นำเข้ามาอาจใช้ไม่ได้ผลนั้น ศูนย์โรคอุบัติใหม่ฯ รพ.จุฬาฯ มั่นใจว่าปัจจุบันมาตรการต่างๆ ของรัฐ โดยเฉพาะการตรวจเชิงรุกยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อติดตามการแพร่ระบาด และศูนย์โรคอุบัติใหม่ฯ ยังคงติดตามการเปลี่ยนแปลงสารรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมพร้อมรับมืออยู่ตลอด

อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเอาชนะไวรัสนี้ได้ แต่การมีแพลตฟอร์มพัฒนาวัคซีนได้เองในประเทศจะยิ่งสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขไทยได้ไม่ว่าไวรัสจะกลายพันธุ์ไปก็ยังสามารถปรับวัคซีนสู้ได้ทัน ล่าสุด บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เตรียมพร้อมรับมือการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาไว้แล้วเร่งพัฒนาวัคซีนเพื่อคนไทยด้วยแพลตฟอร์มผลิตโปรตีนจากใบพืชรุ่นที่สองและรุ่นต่อไป พร้อมรับการกลายพันธุ์แล้วหากมีการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย เตรียมทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในมนุษย์ช่วงกลางปีนี้ 

161457583950

"รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ" อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เปิดเผยว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัดได้เตรียมพร้อมรับมือกับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาไว้แล้ว โดยทีมนักวิจัยค้นคว้าหาข้อมูลจนทราบพัฒนาการของเชื้อไวรัส ทันทีที่เราทราบรหัสพันธุกรรมของไวรัสที่กลายพันธุ์ นักวิจัยของใบยาได้ใช้เทคโนโลยีของเราเองพัฒนาต้นแบบวัคซีนได้อย่างรวดเร็วใช้เวลาเพียง 9 วันเท่านั้น

ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นเตรียมทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนในระดับห้องปฏิบัติการแล้ว ซึ่งหากไวรัสกลายพันธุ์นี้ระบาดในประเทศไทยเมื่อไหร่ วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันวันนี้อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการพัฒนาวัคซีนเป็นของเราเอง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่มิอาจทราบล่วงหน้าได้

  • “ใบยาฯ”ทดสอบวัคซีนในคนกลางปี64

"บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด" สตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดยนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ โปรดักส์แรกที่เริ่มทำเป็นการผลิตสารที่ใช้ในเครื่องสำอาง เป็น Raw Material ที่ใช้ในเครื่องสำอางในลักษณะ B2B  ล่าสุดทำ “วัคซีนโควิด-19” และได้วัคซีนโควิดประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เห็นว่าบริษัทได้ทำในสิ่งที่มีประโยชน์ก็ร่วมบริจาคเงินจึงนำเงินเหล่านี้มาทดสอบอย่างต่อเนื่องทั้งปี 2563

ต่อมามีการสร้างทีมไทยแลนด์ และหาพาร์ทเนอร์บริษัทจินเคนไบโอเทคจำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการทำโปรตีนบริสุทธิ์รวมถึงองค์การเภสัชกรรมในการส่งวัคซีนที่ได้ไปบรรจุและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเนื่องจากโจทย์ที่ต้องการทำวัคซีนโควิด-19 ให้เร็วบริษัทใบยาฯจึงไม่สามารถทำทั้งหมดได้ด้วยตัวเอง

161457584152

โดยจุฬาฯได้ตั้งมูลนิธิ ซียู เอ็นเตอร์ไพรส์ ขึ้นมาเพื่อระดมทุนด้วยการเปิดรับบริจาค 500 บาทจำนวน 1 ล้านคนซึ่งเงินจำนวน 500 ล้านบาทนั้น 150 ล้านบาทจะนำไปปรับปรุงสถานที่ตึกหนึ่งในจุฬาฯที่จะเป็นไพลอท สำหรับบริษัทให้เป็น GMP facility ที่ได้มาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด สามารถผลิตยาอื่นๆที่บริษัทพัฒนาได้ด้วย

นอกจากวัคซีนโควิด-19 เช่น ยามะเร็ง ที่เป็นยาราคาแพงซึ่งขณะนี้ได้โปรโตไทป์ (Prototype)จะนำไปเทสต์ในสัตว์ทดลองต่อไปยารักษาโรคพิษสุนัขบ้า ยารักษาอีโบล่าฯลฯโดยเป็นเหมือนโรงงานต้นแบบที่ทำให้สามารถผลิตยาออกมาใช้ได้ถ้าหากเกิดโรคระบาดเกิดขึ้น

ส่วนอีก 300-400 ล้านบาทนำไปการทำทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในมนุษย์เฟส 1, 2 และ 3 คาดว่าจะเริ่มประมาณเดือนมิถุนายน 2564 หากสำเร็จจะใช้เวลา 2-3 เดือนและจะดำเนินการในเฟส3ต่อไปคาดว่าวัคซีนโควิด-19 น่าจะมีให้คนไทยได้ใช้ในสิ้นปี 2564 หรือต้นปี 2565 เบื้องต้นตั้งเป้าว่า เมื่อทำเสร็จจะสามารถทำวัคซีนได้อย่างน้อย 1 ล้านโดสต่อเดือนและสูงสุด 5 ล้านโดสต่อเดือน

161457584638

  • รับบริจาคต่อเนื่องถึงสิ้นปี64

รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดีด้านการวางและกำหนดยุทธศาสตร์นวัตกรรมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ กล่าวว่า ขณะนี้คนไทยมีความหวังและกำลังรอคอยวัคซีนโควิด-19 เราจึงกำลังพยายามกระชับกระบวนการทุกขั้นตอนให้สามารถทดสอบในมนุษย์ได้ทันภายในกลางปีนี้ โดยเรายังคงมุ่งมั่นตั้งใจเดินหน้าทำเพื่อคนไทยต่อไป’ โดยมีเป้าหมายระดมทุนบริจาคให้บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดยนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ จึงได้เพิ่มช่องทางรับบริจาคให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น อาทิ ช่องทางสื่อสารหลักผ่านเพจ CUEnterprise, เปิดร้านค้าออนไลน์ของมูลนิธิ CUEnterprise บน K PLUS, จับมือเพจสถาบันการศึกษาชั้นนำและพันธมิตรมากมาย, เปิดรับทีมไทยแลนด์จากทั่วประเทศและการสนับสนุนต่าง ๆ จากภาคเอกชน และยังคงเปิดรับบริจาคอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2564

ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ ได้เปิดรับการ สนับสนุนโครงการหลากหลายรูปแบบ เพื่อนำรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายมาสนับสนุนโครงการ เป็นกำลังใจให้นักวิจัยคนไทยที่กำลังสู้ไม่หยุดเพื่อวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืช ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตที่คนไทยทำได้เองตั้งแต่ต้นน้ำในประเทศ เพื่อให้คนไทยอีกกว่าสามสิบล้านคนเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงปลายปีนี้ พร้อมกับไขข้อข้องใจที่คนไทยอยากรู้เกี่ยวกับการวิจัยพัฒนาและจัดหาวัคซีนเพื่อคนไทย เมื่อโควิด-19 กลายพันธุ์ แค่วัคซีนคงยังไม่พอ ผ่านเฟซบุ๊ก CUEnterprise และ Chula Alumni  ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.CUEnterprise.co.th เฟซบุ๊ก CUEnterpriseOfficial และ ไลน์ @CUEnterprise

161457584066

  • ตรวจเชิงรุกระวังโรคอุบัติใหม่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ‘ไวรัสโคโรนา สามารถกลายพันธุ์ปรับเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จีนค้นพบเชื้อไวรัสโคโรนาในค้างคาว ตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งนอกจากจะมีไวรัส SARS แล้วยังพบว่ามีไวรัสชนิดอื่นแฝงอยู่ด้วย จนทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าหากไวรัสรวมตัวกันอาจก่อให้เกิดโรคอุบัติใหม่อย่าง โควิด-19 ขึ้นมาได้อีก ซึ่งถือเป็นกระบวนการตามธรรมชาติของไวรัสที่อาจกลายพันธุ์เพื่อให้อยู่รอดได้ในทุกสภาวะ ไม่ว่าจะแพร่จากสัตว์สู่มนุษย์ หรือมนุษย์สู่มนุษย์ ย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

161457584159

ดังนั้น เราจึงต้องพัฒนาแพลตฟอร์มหรือกระบวนการผลิตวัคซีนรองรับเหตุการณ์ หรือโรคอุบัติใหม่ให้ทันการณ์ อย่างไรก็ตามเวลานี้ ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าไวรัสโควิด-19 จะกลายพันธุ์ไปได้อีกกี่สายพันธุ์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ซึ่งศูนย์โรคอุบัติใหม่ฯ คาดการณ์ว่าจะเริ่มตรวจเชิงรุกภายในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งไม่ได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพียงอย่างเดียวแต่ยังช่วยตรวจหาเชื้อไวรัสชนิดอื่นรวมถึงเชื้อไข้หวัดใหญ่ H5N8 ด้วย