วิกฤติ ’โควิด-19’ ป่วยหนักล้น รพ.ปิดรับ ‘ไอซียูเต็มขยายไม่ได้’

วิกฤติ ’โควิด-19’ ป่วยหนักล้น รพ.ปิดรับ ‘ไอซียูเต็มขยายไม่ได้’

ในตอนนี้การระบาด ‘โควิด-19’ ดูจะไม่แผ่ว ผู้ป่วยรายใหม่ยังคงแตะระดับ 3-4 พันรายต่อวัน ‘ผู้ป่วยหนัก’ และต้อง ‘ใส่เครื่องช่วยหายใจ’ มีแนวโน้มสูง ‘เตียงเต็ม’ เข้าขั้นวิกฤติ ‘ไอซียูเต็มขยายไม่ได้’ บุคลากรด่านหน้ายังคงมีจำนวนเท่าเดิม

จากสถานการณ์ 'โควิด-19' ที่ไม่มีทีท่าว่าจะชะลอการระบาด กรมการแพทย์ ได้ระบุถึงปัญหา เตียงรองรับผู้ป่วย โควิด-19 ในพื้นที่ กทม.เริ่มขาดแคลน โดยเฉพาะเตียงไอซียู เตียงสีแดงในภาครัฐเหลือ 20 เตียง จาก 400 กว่าเตียง มีผลต่อการการส่งต่อ ผู้ป่วยหนัก ภาคของการรักษาโรคหนักมาก เตียงไอซียูขยายยาก เพราะทุกรพ. ทั้งรัฐ โรงเรียนแพทย์ มีการขยายศักยภาพไปมาก รวมถึงนำแพทย์ฝึกหัด เรสซิเดนท์ของสาขาต่างๆ เข้ามาช่วยกันทำงาน ส่วนเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียวของภาครัฐค่อนข้างตึง ใช้วิธีหมุนวันต่อวัน

ขณะที่ ทางกระทรวงสาธารณสุข มีแผนที่จะจัดทำ รพ.สนาม 4 มุมเมือง โดยใช้ประสบการณ์จาก รพ.บุษราคัม ในการจัดตั้ง รพ. ที่มียา ออกซิเจน และเครื่องไฮโฟลว สามารถจัดได้ภายใน 7 วัน เป็นการอัพเกรดจาก รพ.สนาม ที่มีอยู่แล้วในจังหวัดต่างๆ 4 มุมเมือง รอบ กทม.โดยพิจารณา รพ.ที่รองรับได้ราว 200 เตียง หากหาได้ 5 แห่ง ก็รองรับได้ 1,000 เตียง พอๆ กับศักยภาพ รพ.บุษราคัม ที่รองรับได้ราว 1,200 เตียง

อย่างไรก็ตาม ในทางการแพทย์ ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าในตอนนี้ ยังมีความเป็นห่วง และกังวล เนื่องจากในตอนนี้ สถานการณ์เตียงเริ่มตึง จนต้องหยุดคัดกรองชั่วคราว ขณะที่บุคลากรการแพทย์ที่ทำงาน ยังคงมีจำนวนเท่าเดิม

เมื่อไปดู สถานการณ์รายวันในวันนี้ พบ ผู้ป่วยรายใหม่ยังมากถึง 4,108 ราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยใหม่ใน กทม. กว่า 1,359 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย อาการหนัก 1,564 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 445 ราย หายป่วยกลับบ้าน 1,578 ราย

  • รพ.จุฬาฯ ปิดคัดกรองโควิด 24 - 27 มิ.ย. 64

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha) โดยระบุถึง การคัดกรอง 'โควิด-19' ของ รพ.จุฬาฯ ที่จำเป็นต้องปิด 4 วัน ระหว่าง 24 – 27 มิ.ย. 64 เนื่องจาก 'เตียงเต็ม' ไม่มีเตียงรับ ซึ่งทุก รพ. น่าจะเหมือนกันหมด คือ แม้จะเปิดโรงพยาบาลสนามสีแดง รักษาคนไข้อาการหนัก จนกระทั่งสอดท่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ปัญหา คือ เอาหมอพยาบาลและเจ้าหน้าที่มาจากไหน เพราะแต่ละจังหวัดเตรียมตัวรับได้เลยอีกไม่นานอาจจะเหมือนกัน

ขณะที่ การคัดกรองที่ทำมาตลอดเชิงรับตั้งแต่ปีที่แล้วถึงปัจจุบันมีรุกเป็นบางจุด ส่งผลให้เห็นชัดเจนว่าไม่สามารถป้องกันการระบาดได้และยกระดับเป็นอาการหนักทั้งหมด ส่วนวัคซีนที่ใช้ในโลกแห่งความจริง เห็นแล้วว่ามีติดได้ ถึงแม้จะน้อยลงแต่ข้อสำคัญคือเมื่อติดแล้วยังแพร่ต่อได้ปริมาณไวรัสมีจำนวนสูงจนน่าตกใจส่วนอาการอาจจะลดทอนลงบ้างแต่คงต้องห้ามทะนงตัวเด็ดขาด ทั้งนี้ ทุกคนในโรงพยาบาลทั้งคนรักษาพยาบาลและคนป่วยมีสิทธิ์ติดเชื้อได้หมดแม้ดูเหมือนคนปกติ สถานการณ์โควิดในเชิงตั้งรับมาตลอดเช่นนี้มาหนึ่งปีครึ่ง เหมือนกับหลายประเทศที่ผ่านมา มนุษย์ไม่เคยเรียนจากความผิดพลาด ต้องการแต่คำสรรเสริญความสำเร็จ

  • รพ.ศิริราช ปิดตรวจโรค 23 – 30 มิ.ย.64

รพ.ศิริราช ได้ออกประกาศลงวันที่ 23 มิ.ย. 64 เรื่อง ปิดให้บริการผู้ป่วยหน่วยตรวจโรคแพทย์เวร ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค COVID-19 ใจความว่า เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความรุนแรงมากขึ้น  โดยมีการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อในหน่วยตรวจโรคแพทย์เวรเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีผู้ป่วยเข้ารับบริการที่หน่วยตรวจโรคแพทย์เวรเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดความแออัด ยากแก่การรักษาระยะห่าง

เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID-19) ที่อาจเกิดขึ้นกับ ผู้มารับบริการ โรงพยาบาลศิริราช จึงขอปิดให้บริการผู้ป่วยทั่วไปที่หน่วยตรวจโรคแพทย์เวร ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 1  ตั้งแต่วันพุธที่ 23 – วันพุธที่ 30 มิถุนายน 2564 

สำหรับ ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เร่งด่วน หรือฉุกเฉิน สามารถมารับบริการได้ที่หน่วยตรวจโรคฉุกเฉิน (Emergency Room)  และผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ แต่ต้องการพบพบแพทย์  แนะนำให้รับบริการผ่านระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และรับยาทางไปรษณีย์  หรืออาจพิจารณาพบแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้านแทน  

162452257098

  • รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ลดบริการแผนกฉุกเฉิน

ทั้งนี้ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ แจ้งผ่านหน้าแฟนเพจ โดยระบุว่า ขอเรียนแจ้งให้ทราบว่า แผนกฉุกเฉิน (ER) จำเป็นต้องลดการให้บริการชั่วคราว เนื่องจากขณะนี้มีผู้ป่วย COVID-19 ที่กำลังรอการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น ผู้ป่วยฉุกเฉินที่ไม่ติดเชื้อ COVID-19 จำนวนมาก และห้อง ICU ของโรงพยาบาลเต็มทั้งหมด

ทั้งนี้ ขอรับเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือฉุกเฉินเร่งด่วนเท่านั้น ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

162452950581

  • ด่านหน้า รามาฯ โอด หมอพยาบาล เท่าเดิม

ขณะที่ นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสผ่านเฟซบุ๊ค Suppachok NeungPeu Kirdlarp เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 64 โดยระบุว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะสังเกตว่ายอดคนไข้ใหม่รายวันนั้นไม่ลดลงเลย มีแต่จะเพิ่มเรื่อยๆ และแนวโน้ม admit ต่อวันก็ยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง Testing: PCR swab: หลายๆ ที่ก็ทำการตรวจได้จำกัด และบางสถานพยาบาลได้จำกัดการตรวจต่อวันจริง (ซึ่งเข้าใจและเห็นใจ เพราะบางรพตรวจกันจนเกินศักยภาพที่เจ้าหน้าที่จะทำไหวแล้ว)

เชื่อว่า ที่เห็นยอด 4000 คน/วันนั้น อาจจะไม่ใช่ยอดที่แท้จริง เพราะถ้าตรวจได้มากพอ อาจจะยอดติดเชื้อจริงสูงมากกว่านี้

  • หาเตียงยาก 'เตียงเต็ม'

ทั้งนี้ นพ.ศุภโชค ได้กล่าวถึงระบบส่งต่อผู้ป่วย ประสานงาน ซึ่งขณะนี้คนไข้ยังบ่นรอเตียงนาน และหลายครั้งโรงพยาบาลส่งโควต้ารายชื่อเข้าระบบส่วนกลางเพื่อหาเตียง ตามความรุนแรงหนักเบา แต่ปรากฎว่า คนไข้ไม่ได้ admit 3-4 วัน จนอาการแย่ลง ท้ายสุด จนท ก็บอกปลายสายว่า swab ที่ไหน ก็ไปนอนที่นั่น

  • ผู้ป่วยสีเขียว กลายเป็น 'ผู้ป่วยหนัก'

บางโรงพยาบาลเริ่มบอกว่า “เราไม่รับตรวจแล้ว ให้ท่านไปตรวจที่อื่นเอง” เกิดปรากฏการณ์ผึ้งแตกรัง คนต้องดิ้นรนกระจายตัวไปหาตรวจเอง แล้วพอเกิดการเดินทางไปๆมาๆ การแพร่กระจายเชื้อโรค คุมไม่ได้แน่ๆ คนไข้จากที่เป็นสีเขียว ก็กลายเป็นสีเหลือง จากสีเหลือง ก็กลายเป็นสีส้ม แดง พอส้ม หรือแดง ('ผู้ป่วยหนัก') …ก็ต้องใช้ ICU/intermediate ward ต้องใช้ รพ ศักยภาพสูงมากอีก แต่เตียง ICU มันเต็มจริง เพราะ ICU 1 case นอนทีกินเตียง 2-4 weeks กันอย่างน้อย บางคนนอน 2 เดือน บางคน 'ใส่เครื่องช่วยหายใจ' เอาออกไม่ได้ ต้องเจาะคอ

จะเพิ่มศักยภาพอย่างไร ก็ไม่มีทางทำได้แล้ว พยาบาล หมอก็มีเท่าเดิม (และมีแต่จะลดลงเรื่อยๆ เพราะบางส่วนก็ติดเชื้อด้วย) จะเปิด รพ. สนามเพิ่มอีกกี่ที่ ก็ไม่ไหว ไม่มีคนแล้ว ระบบ node ที่จะส่งต่อเคสที่หนักเมื่อเกินศักยภาพของแต่ละรพ. ก็เริ่มติดขัดฝืดเคืองมากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดก็ไปต่อไม่ได้

  • กทม. 'ไอซียูเต็มขยายไม่ได้'

ล่าสุดมีศูนย์ nursing home แห่งหนึ่งที่ติดเชื้อกว่า 40 คน และผู้สูงอายุอายุ 80-90ปี ทยอยแย่ลงเรื่อยๆ แต่ไม่สามารถรับเข้าไปรักษาใน รพ ได้อีกแล้ว ในที่สุดมีผู้ป่วยบางส่วนเริ่มทยอยสิ้นลม และเปลี่ยนเป็นสถานที่ดูแลระยะสุดท้าย (palliative care) เหมือนในต่างประเทศที่เคยปรากฎมา และมันกำลังจะเกิดแบบนี้ในทุกๆ ที่

ปัญหาการหาเตียง ทั้งสามัญและ ICU ในตอนนี้ของ กทมและปริมณฑลนั้นคือวิกฤตมากๆๆๆๆ และเราอาจจะเป็นแบบที่อินเดียประสบพบในไม่ช้านี้

ยังไม่นับว่าสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) กำลังจะมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดกับสายพันธุ์เบต้า(น้องแอฟริกาใต้) จากเจ้าตลาดเดิม (สายพันธุ์อัลฟา อังกฤษ) ตอนนั้น คิดไม่ออกเลยว่าจะเป็นเช่นไร รัฐเคยดีใจกับอันดับ6 ในการรักษา/จัดการ 'โควิด-19' แต่ตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันของเราแซงหน้าสหรัฐอเมริกาไปแล้ว …. จากวันละ 2 แสนคน/วัน เหลือแค่หลักพัน หลังฉีด high potency vaccine อย่าง Pfizer/Moderna/JJ ไปกว่า 150 ล้านโดส

กลับมามองที่เรา เราใช้ sinoVac (ที่มาแบบซื้อง่ายขายคล่อง)/ Astra (ที่มาแบบจำกัดจำเขี่ย) และอัตราการฉีดแบบม้าตีนต้น และจำนวนการฉีดยังน้อยมากๆ และยังงงว่า ทำไมไม่หา 2P modification vaccine ที่สามารถต่อกรกับสายพันธุ์ใหม่ๆได้อย่าง Pfizer/Moderna/JJ มาให้ไวกว่านี้ เค้าว่าๆ เราจะได้ Q4 (แต่ทำไมประเทศอื่นๆ deal ได้ก่อนเรามากๆ ?)

ผมไม่เคยเชื่อว่าเราจะเปิดประเทศด้วย sinoVac ได้เลย เพราะเราก็เห็นตัวอย่างมากมายที่ฉีด sinoVac แล้วต้องกลับมา lock down กันมากมาย เหมือนที่ผมเคยได้กล่าวไว้หลายเดือนก่อน ช่วง vaccine forum และผมคิดว่า อะไรที่เรายังไม่มีข้อมูล ถ้าเป็นนักวิชาการที่ยังซื่อสัตย์กับ profession ของตัวเอง ก็จงอย่าพูดอะไรที่ยังไม่มีแม้แต่งานวิจัย หรือpublication มาพูด เพราะไอ้ของที่ดี มีงานวิจัยรองรับมากๆ มีข้อมูล real world settingดีๆมาชัดเจน ประสบการณ์ใช้ที่มากพอ ทำไมไม่ยอมพูด ไม่ยอมใช้ และไม่ยอมพูดตามข้อมูลความจริงที่มีปรากฎ จนงงว่า เราจะนำพาประเทศไปแบบนี้หรือ

เราอยากมีคนอย่าง Dr Fauci ที่คอยให้คำปรึกษากับผู้มีอำนาจของประเทศไทย และเราก็ยังหวังลึกๆ ว่าเราจะมีคนแบบนี้มานำพาให้เราพ้นวิกฤตได้จริง “ทีมบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้ากำลังต่อสู้สงครามประหนึ่งชาวบ้านบางระจัน ที่ใส่ชุดตะเบงมานและเอาจอบ ขวาน มีด มาสู้ศึก ขอปืนใหญ่ไปแต่ไม่ได้มา ได้แต่ปืนแก๊บ และตอนนี้พยายามหล่อปืน ตีดาบใช้ตามมีตามเกิด”

  • สถานการณ์เตียง 21 มิ.ย. 64

162451535035

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

  • เสนอล็อคดาวน์ กทม. 7 วัน สกัด 'โควิด-19'

ก่อนหน้านี้ นายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ทำจดหมายเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัว พิจารณาสถานการณ์โควิดใน กทม. ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเสนอว่า คำตอบสุดท้ายสำหรับวิกฤติโควิดระลอกสี่ คือ การล็อกดาวน์กรุงเทพอย่างน้อย 7 วัน เพื่อเร่งจัดการปัญหาค้างคา และลดปัญหาใหม่ที่จะพอกพูนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า ที่กว่ามาตรการเด็ดขาดเพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชนจะเห็นผล และที่สำคัญถ้าจะทำตามที่เสนอนี้ ต้องห้ามไม่ให้คนกรุงเทพแตกรังออกต่างจังหวัด เหมือนที่เราทำพลาดมาแล้วช่วงสงกรานต์

  • หวั่น คนกระจายกลับภูมิลำเนา

อย่างไรก็ตาม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. ระบุว่า ที่ประชุม ศบค. ได้รับทราบข้อเสนอดังกล่าว พร้อมรับทราบว่าการล็อกดาวน์เป็นเรื่องที่ได้ผลดี แต่ในทางปฏิบัติปัจจุบันนี้ดำเนินการอยู่ แต่เป็นลักษณะจุดเฉพาะ ที่เกิดเหตุตรงไหนก็จัดการตรงนั้น เช่น แคมป์คนงาน โรงงาน หลายแห่งหลายที่ได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ละมาตรการนั้นจะมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่ต้องนำมาไตร่ตรองกัน การปิดพื้นที่โรงงานอาจทำให้เกิดการกระจายของคนที่ไม่มีงานทำก็จะเดินทางไปต่างจังหวัดเพิ่มปัญหาไปอีก ดังนั้น ต้องพิจารณาไตร่ตรองกันอย่างดี

“การปิดกทม.อย่างที่ทราบกันว่าคนกรุงจริงไม่ได้มีมาก แต่จะเป็นแรงงานที่มาจากต่างจังหวัด ถ้าปิดกทม.อาจเป็นการเคลื่อนย้ายกลับไปต่างจังหวัด ทำให้เกิดการติดเชื้อในต่างจังหวัดด้วยก็ได้”

  • สธ. ยืนยันดูแลเต็มที่

          ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึง ข้อเสนอให้มีการล็อคดาวน์ กทม.ว่า  รับฟังทุกความเห็นเพื่อนำมาประเมิน โดยมีคณะทำงาน คณะกรรมการและ ศบค.พิจารณา เพราะความคิดเห็นที่มีคุณจากอาจารย์แพทย์เป็นสิ่งที่ต้องรับฟังอย่างยิ่ง และนำมาคิดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ทั้งนี้ การดำเนินการในกทม.ก็มีกรุงเทพมหานครดูแลพื้นที่อย่างเต็มที่ ส่วนของ สธ.และกรมการแพทย์ก็พร้อมเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนเต็มที่

  • ใกล้วิกฤติ 'เตียงเต็ม'

กรณีปัญหาเรื่องเตียงรองรับผู้ป่วยที่ค่อนข้างวิกฤต นายอนุทิน กล่าวว่า กำลังบริหารจัดการเต็มที่ ขณะนี้ใช้ระบบเขตสุขภาพในการมาช่วยกันรองรับ ซึ่งหากมองเป็นกระจุกจะเห็นความแน่นหนา ดูแล้วจะถึงจุดที่ไม่เพียงพอ แต่ถ้ามองทั้งระบบสาธารณสุขยังพอบริหารจัดการได้ นอกจากนี้ จะขอหารือร่วมกับประธานเมืองทองธานีถึงแนวทางที่จะเป็นไปได้ในการที่จะขอขยายเวลาการตั้ง รพ.บุษราคัม ในพื้นที่ออกไปอีก 2-3 เดือนได้หรือไม่ รวมถึง มองหาสถานที่อื่นๆ ที่จะสามารถจัดตั้งโมเดลแบบ รพ.บุษราคัม

“ระบบสาธารณสุขไม่มีวันล่มสลาย กระทรวงสาธารณสุขไม่มีวันยอมให้ระบบสาธารณสุขล่มสลาย จะช่วยกันคิดทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ถ้าจำเป็นต้องระดมทั้งประเทศก็ทำมาแล้ว อย่างรพ.บุษราคัมก็ระดมสรรพกำลังบุคลกรเข้ามาร่วมกันทำงานหมุนเวียน 1-2 สัปดาห์ ขณะนี้แพทย์และพยาบาลมีประสบการณ์ในเรื่องการบริหารจัดการปฏิบัติงานภาคสนามจำนวนหลายทีมแล้ว และทุกคนก็เก่งทั้งนั้นประกอบเครื่องมือต่างๆได้เอง ขอให้มีความมั่นใจว่าจะไม่ไปถึงจุดนั้น” นายอนุทินกล่าว  

ผู้สื่อข่าวถามว่าสถานการณ์ในต่างจังหวัดก็เริ่มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อการหมุนเวียนทรัพยากรบุคคลมาช่วยเหลือในส่วนกลางหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ต่างจังหวัดก็ต้องทำมาตรการบับเบิลแอนด์ซีลให้ดี อีกทั้ง ต่างจังหวัดรพ.ส่วนใหญ่อยู่ในสังกัด สธ.สามารถบริหารจัดการได้ เช่น กรณีที่ จ.เชียงใหม่ ก่อนหน้านี้ ได้มีการกำหนดให้รพ.2-3 แห่งเป็นรพ.รองรับผู้ป่วย 'โควิด-19' โดยเฉพาะ

ในส่วนของรพ.ใหญ่ก็ต้องบริหารจัดการเตียงไอซียูให้ดี ส่วน รพ.ระดับอำเภอ ก็มีการเปิดหอผู้ป่วยรวม (cohort ward) ในการดูแลผู้ป่วยโควิดเฉพาะ หากมีอาการเปลี่ยนแปลงก็มีระบบส่งต่อผู้ป่วย ขณะนี้น้ำหนักสถานการณ์โควิดอยู่ที่กทม. ปริมณฑล และ2-3 จังหวัดเท่านั้น ยังพอที่จะกระจายและระดมบุคลกรจากพื้นที่อื่นมาช่วยเหลือในพื้นที่ที่มีสถานการณ์หนักได้

  • สปสช. ดีล รพ.เอกชนขยายเตียงเพิ่ม

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึง สถานการณ์เตียงสำหรับรองรับผู้ติดเชื้อ 'โควิด-19' ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เริ่มตึงตัวเนื่องจากปริมาณผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ที่ระดับ 2,000-3,000 ราย/วัน โดยระบุว่า เข้าใจว่าทางกระทรวงสาธารณสุขก็พิจารณาสถานการณ์และอาจเตรียมการขยายเตียงเพิ่มเติมไปยังพื้นที่โดยรอบเอาไว้แล้ว

ในส่วนของ สปสช.เองมีบทบาทในเรื่องการดูแลค่าใช้จ่าย ค่ารักษาพยาบาล ระบบการประสานจัดหาเตียง ตลอดจนหาแนวทางสนับสนุนด้านงบประมาณให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในสถานการณ์ที่เตียงเริ่มตึงตัวขณะนี้ สปสช.ก็ได้ประสานกับเครือโรงพยาบาลเอกชนต่างๆเพื่อขยายเตียงให้มากขึ้น

"ในแง่งบประมาณในการรักษา ขณะนี้เราเตรียมไว้เพียงพอ แต่จำนวนผู้ป่วยยังไม่ค่อยลดลง ยังอยู่ที่วันละประมาณ 2,000-3,000 คน โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล ก็เป็นแรงกดดันทำให้เตียงในโรงพยาบาลมีจำกัดมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะสร้างโรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel จัดห้องดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล แต่ถ้าดูลักษณะการระบาดจะเจอเป็นคลัสเตอร์ ก็ทำแรงกดดันก็ยังคงเพิ่มขึ้น"

"ซึ่งในส่วนของระบบจัดหาเตียงขณะนี้เราก็ยังทำอยู่ รวมทั้งพยายามประสานกับโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งขอให้ขยายเตียงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel ตรงนี้จะเป็นมาตรการเสริมเพื่อลดแรงกดดัน ซึ่งจากการหารือกันขณะนี้คาดว่าจะขยายได้อีกประมาณ 1,000 เตียง" นพ.จเด็จ กล่าว

  • สถานการณ์ 'ผู้ป่วยโควิด 19' ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.-24 มิ.ย.2564

1 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 2,230 ราย
  • ผู้เสียชีวิต 38 ราย
  • อาการหนัก 1,236ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 378 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 3,390 ราย

2 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 3,440 ราย
  • เสียชีวิต 38 ราย
  • อาการหนัก 1,247 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 381 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 2,843 ราย

3 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 3,886 ราย
  • เสียชีวิต 39 ราย
  • อาการหนัก 1,208 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 373 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 3,626 ราย

4 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 2,631 ราย
  • เสียชีวิต 31 ราย
  • อาการหนัก 1,182 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 376 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 2,493 ราย

5 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 2,817 ราย
  • เสียชีวิต 36 ราย
  • อาการหนัก 1,195 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 361 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 3,396 ราย

6 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 2,671 ราย
  • เสียชีวิต 23 ราย
  • อาการหนัก 1,209 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 361 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 2,424 ราย

7 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 2,419 ราย
  • เสียชีวิต 33 ราย
  • อาการหนัก 1,233 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 355 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 2,999 ราย

8 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 2,662 ราย
  • เสียชีวิต 28 ราย
  • อาการหนัก 1,281 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 359 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 2,483 ราย

9 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 2,680 ราย
  • เสียชีวิต 35 ราย
  • อาการหนัก 1,286 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 355 ราย
  • หายป่วยกลับ บ้าน 4,253 ราย

10 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 2,310 ราย
  • เสียชีวิต 43 คน
  • อาการหนัก 1,295 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 359 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 3,035 ราย

11 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 2,290 ราย
  • เสียชีวิต 27 ราย
  • อาการหนัก 1,287 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 352 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 5,711 ราย

12 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 3,277 ราย
  • เสียชีวิต 29 ราย
  • อาการหนัก 1,242 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 362 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 5,273 ราย

13 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 2,804 ราย
  • เสียชีวิต 18 ราย
  • อาการหนัก 1,215 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 351 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 4,143 ราย

14 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 3,355 ราย
  • เสียชีวิต 17 ราย
  • อาการหนัก 1,261 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 360 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 3,530 ราย

15 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 3,000 ราย
  • เสียชีวิต 19 ราย
  • อาการหนัก 1,249 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 365 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 4,774 ราย

16 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 2,331 ราย
  • เสียชีวิต 40 ราย
  • อาการหนัก 1,306 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 364 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 4,947 ราย

17 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 3,129 ราย
  • เสียชีวิต 30 ราย
  • อาการหนัก 1,313 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 376 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 4,651 ราย

18 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 3,058 ราย
  • เสียชีวิต 22 ราย
  • อาการหนัก 1,360 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 378 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 4,094 ราย

19 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 3,667 ราย
  • เสียชีวิต 32 ราย
  • อาการหนัก 1,343
  • รายใส่เครื่องช่วยหายใจ 383 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 4,948 ราย

20 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 3,682 ราย
  • เสียชีวิต 20 ราย
  • อาการหนัก 1,374 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 390 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 2,401 ราย

21 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 3,175 ราย
  • เสียชีวิต 29 ราย
  • อาการหนัก 1,436 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 395 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 2,030 ราย

22 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 4,059 ราย
  • เสียชีวิต 35 ราย
  • อาการหนัก 1,479 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 410 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 2,047 ราย

23 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 3,174 ราย
  • เสียชีวิต 51 ราย
  • อาการหนัก 1,526 ราย 
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 433 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 1,941 ราย

24 มิ.ย. 64

  • ผู้ป่วยใหม่ 4,108 ราย
  • เสียชีวิต 31 ราย
  • อาการหนัก 1,564 ราย
  • ใส่เครื่องช่วยหายใจ 445 ราย
  • หายป่วยกลับบ้าน 1,578 ราย