‘เอไอเอส’ จุดพลุ ‘ดิจิทัลเฮลท์แคร์’ ปลุก‘นิวเอสเคิร์ฟ’ใหม่ยุคโควิด

‘เอไอเอส’ จุดพลุ ‘ดิจิทัลเฮลท์แคร์’ ปลุก‘นิวเอสเคิร์ฟ’ใหม่ยุคโควิด

“ดิจิทัล เฮลท์แคร์”ในไทยขยายตัว “เอไอเอส” เผยยอดใช้บริการ “เวลล์ บีอิ้ง” โตเฉลี่ย 2.5 เท่าต่อเดือน ผนึก 6 รพ.ใหญ่ ร้านขายยา จุดพลุเทเลเมดิซีนครบวงจรตั้งแต่ “ปรึกษาหมอ-รักษา-จ่ายยาออนไลน์” 

ขณะที่ การระบาดของโควิดส่งผลให้คนไทยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้นถึง 68% โดยเน้นไปที่เรื่องการป้องกันตัวเองจากโควิด-19 ถึง 89% (อ้างอิงจากผลวิจัยของสวนดุสิตโพล เดือนธันวาคม 2563)

ล่าสุด เอไอเอส จับมือกับผู้ให้บริการด้านสุขภาพ และ 6 โรงพยาบาลชั้นนำ ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ บำรุงราษฎร์ พญาไท พระรามเก้า สมิติเวช และ BDMS Wellness Clinic รวมถึงแพลตฟอร์มสุขภาพ Doctor A to Z และ Dr. Raksa เปิดแคมเปญ “สร้างสุขภาพดีวิถีใหม่” โดยให้สิทธิพิเศษด้านสุขภาพกับลูกค้าเอไอเอส

ได้แก่ บริการหาหมอออนไลน์ “เทเลเมดิซีน” รับคำปรึกษาแพทย์และวินิจฉัยอาการผ่านสมาร์ทโฟนบนเครือข่ายเอไอเอส 5จี พร้อมบริการจัดส่งยาถึงบ้าน ลดความเสี่ยงจากการเดินทาง ลูกค้าเซเรเนดใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 2 ครั้งต่อปี ลูกค้าเอไอเอส และเอไอเอส ไฟเบอร์ ใช้บริการเริ่มต้น 150 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-31 ธ.ค.64 

ขณะเดียวกัน จับมือกับร้านยากว่า 350 สาขาทั่วประเทศ ทั้งร้านยากรุงเทพ, FASCINO, iCARE, Pharmax, Sharmble และ Vitamin Club มอบส่วนลด 60 บาทสำหรัับลูกค้าเอไอเอส และจับมือกับบริษัทกรุงเทพประกันภัย มอบประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 วงเงินความคุ้มครองสูงสุด 500,000 บาท พร้อมค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้เอาประกันภัยเข้ารับการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยในอันเนื่อง มาจากผลกระทบในการฉีดวัคซีนแลกรับสิทธิ์โดยใช้เอไอเอส พอยท์เริ่มต้นเพียง 39 คะแนน

นางบุษยา กล่าวด้วยว่า เอไอเอสพยายามดัน บริการเวลล์ บีอิ้ง ให้มีสัดส่วนของผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับบริการพิเศษ (พริวิเลจ) ของเอไอเอสในแกนอื่นๆ เช่น กินดื่ม ไลฟ์สไตล์ และชอปปิง

ปัจจุบันภาพรวมการมอบสิทธิพิเศษของเอไอเอส แบ่งเป็น 5 แกนหลัก ประกอบด้วย 1. อาหาร-เครื่องดื่ม ซึ่งมีทั้ง ฟู้ดดิลิเวอรี่ และ ร้านกาแฟ-ของหวาน 2. ชอปปิง 3. บันเทิง 4. ไลฟ์สไตล์ และ 5. สุขภาพและความงาม โดยภาพรวมมียอดการใช้สิทธิพิเศษออนไลน์เติบโตขึ้น 4.6 เท่าจากไตรมาสที่ 1ของปีนี้

โดยแต่ละปีเอไอเอส มีงบประมาณดูแลลูกค้าเฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 50% ขยายศูนย์บริการ ที่เหลือให้สิทธิพิเศษลูกค้า ซึ่งสถิติการกดแลกพอยท์หรือใช้สิทธิพิเศษผ่าน my AIS Application ซึ่งมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 25 ล้านราย เกินครึ่งลูกค้ารวมในฐานเอไอเอสที่ 43 ล้านราย ยอดคนใช้เฉลี่ยแต่ละเดือนอยู่ที่ 7.3 ล้านราย

ขณะที่ ดีลอยท์ (Deloitte) ได้ออกมาคาดการณ์ถึงวิกฤติโควิด ที่ส่งผลถึงการพบแพทย์ผ่านวิดีโอเสมือนจริงจะขยายตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลกเป็น 5% ปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 1% ในปี 2562 แม้ 5% อาจดูไม่มากนัก แต่เมื่อคิดเป็นจำนวนครั้งเท่ากับจะมีคนทั่วโลกพบแพทย์ผ่านวิดีโอเสมือนจริงมากถึง 8.5 พันล้านครั้ง หรือเป็นมูลค่าราว 5 แสนล้านดอลลาร์