ต้านไม่ไหว!ผลการทดลองเบื้องต้น ‘สายพันธุ์เดลต้า’ หนีภูมิ ‘Sinovac’ 2เข็ม

ต้านไม่ไหว!ผลการทดลองเบื้องต้น ‘สายพันธุ์เดลต้า’ หนีภูมิ ‘Sinovac’  2เข็ม

‘สายพันธุ์เดลต้า’ ดูจะเป็น ‘สายพันธุ์โควิด 19’ ที่มีความน่ากลัวเป็นอันดับหนึ่งในขณะนี้ เพราะเป็นสายพันธุ์ที่สามารถหนีภูมิคุ้มกันจาก ‘วัคซีนโควิด 19’ อย่าง ‘Sinovac’ ได้

ล่าสุด ดร.สุมยา สวามีนาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ องค์การอนามัยโลก ‘WHO’ แถลงว่า โควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลต้า’ กำลังกลายเป็นสายพันธุ์ของโควิด-19 ที่พบมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆทั่วโลก เนื่องจากเดลต้ามีความสามารถในการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ผลกระทบของสายพันธุ์เดลต้า’ ต่อประสิทธิผลของวัคซีนต้านโควิดที่มีอยู่นั้น ทาง ‘WHO’ ยังต้องการข้อมูลที่มากกว่านี้ จึงจะสามารถสรุปได้ว่าสายพันธุ์เดลต้า จะลดประสิทธิภาพของวัคซีนหรือไม่

  • สาธารณสุขทั่วโลกเชื่อ สายพันธุ์เดลต้าระบาดทั่วโลก

ขณะเดียวกัน สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ หรือ PHE ของสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า ข้อมูลล่าสุดพบว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วอังกฤษเกือบทั้งหมดเป็นการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า’  โดยสายพันธุ์เดลต้า’ มีสัดส่วนถึง 99% ของผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ทั่วทั้งอังกฤษ

ตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า’ เพิ่มขึ้น 33,630 คนในสัปดาห์ที่แล้ว เชื่อว่าการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า’ ในครัวเรือนในสหราชอาณาจักรได้แซงหน้า สายพันธุ์อัลฟ่า หรือ สายพันธุ์อังกฤษหรือโควิดกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอังกฤษ ที่เคยเป็นสายพันธุ์ที่ยึดครองสหราชอาณาจักรมาก่อน โดยพบการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า’ ในครัวเรือนของสหราชอาณาจักร มากกว่สายพันธุ์อัลฟ่า ถึง 65%

นอกจากนี้ พบว่า สายพันธุ์เดลต้า’ ระบาดเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนที่อายุน้อยลง ซึ่งเป็นกลุ่มหลังๆที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด หรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลยหรือเพิ่งฉีดไปเพียงเข็มแรก

  • ‘AstraZeneca’และ ‘Pfizer’ป้องกัน สายพันธุ์เดลต้า

ส่วนผลกระทบขอสายพันธุ์เดลต้า’ ต่อประสิทธิผลของวัคซีน ข้อมูลใหม่ล่าสุดที่ PHE เปิดเผยเมื่อวันที่14 มิถุนายน พบว่า วัคซีนของ ‘AstraZeneca’ มีประสิทธิภาพ 92% ในการช่วยลดความรุนแรงของสายพันธุ์เดลต้า’  และทำให้ผู้ติดเชื้อไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลหลังฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ส่วนวัคซีนของ ‘Pfizer’ มีประสิทธิภาพ 96% ในการช่วยป้องกันไม่ให้อาการทรุดจนต้องเข้าโรงพยาบาลหลังฉีดครบโดส

ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ในสหราชอาณาจักร เตือนประชาชนยังต้องรักษาระยะห่างทางสังคม ถึงแม้ว่าได้รับวัคซีนครบแล้วก็ตาม

ด้านเยอรมนี โลธาร์ วีลเลอร์ ประธานสถาบันโรเบิร์ต โคชในเยอรมนี ออกมาเตือนในวันเดียวกันว่า แม้ว่าสายพันธุ์เดลต้า’ มีสัดส่วนเพียง 6% สำหรับผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ แต่การระบาดของสายพันธุ์เดลต้า’ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากจนต้องรีบตื่นตัวระวัง แต่ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่เดลต้าจะกลายเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดมากกว่าหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับอัตราการฉีดวัคซีน และการบริหารจัดการการผ่อนคลายมาตรการสกัดโควิด

อย่างไรก็ตาม อัตราการติดเชื้อโควิดในเยอรมนีในรอบ 7 วัน ลดลงเหลือ 10.3 คนต่อประชากร 100,000 คนเมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.) จากเดิม 12 คนต่อประชากร 100,000 คน และลดลงจากช่วง 7 วันก่อนหน้านั้น ซึ่งอยู่ที่ 19 คนต่อประชากร 100,000 คน ทำให้ เยนส์ สปาห์น รัฐมนตรีสาธารณสุขเยอรมนี หวังว่า หากอัตราการติดเชื้อโควิดยังลดลงเช่นนี้ต่อไป ฤดูร้อนในเยอรมนีปีนี้ สถานการณ์โควิดคงอยู่ในเกณฑ์ที่

  • ทำความเข้าใจ 'ไวรัสกลายพันธุ์' หนีภูมิคุ้มกันวัคซีนได้

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก “Yong Poovorawan” ระบุ เกี่ยวกับ วัคซีนโควิด -19 กับการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ ว่าตามวิวัฒนาการของไวรัส ไวรัสจากมีการกลายพันธุ์ เพื่อหลบหลีกภูมิคุ้มกันของร่างกายเรา โดยจะเห็นว่า มีการกลายพันธุ์ตั้งแต่ Alpha Beta Gamma Delta หรือแต่เดิมที่เราเรียกว่า'สายพันธุ์อังกฤษ' (Alpha) 'สายพันธุ์แอฟริกาใต้' (Beta) 'สายพันธุ์อินเดีย' (Delta) วัคซีนส่วนใหญ่ทั้งหมดจะพัฒนาจากสายพันธุ์เดิมคือสายพันธุ์อู่ฮั่น

'สายพันธุ์อังกฤษ'ยังไม่หลบหลีกประสิทธิภาพของวัคซีนมากนัก

'สายพันธุ์แอฟริกาใต้' หลบหลีกได้มากแต่ขณะเดียวกันอำนาจการกระจายโรคได้น้อยกว่า

'สายพันธุ์เดลต้า' หรืออินเดีย มีอํานาจการกระจายสูง และหลบหลีกภูมิต้านทานได้แต่น้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้ การมีอำนาจการกระจายสูงสายพันธุ์นี้จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ และระบาดทั่วโลก จากเดิมเป็น'สายพันธุ์อังกฤษ'

ในทำนองเดียวกันในประเทศไทยแต่เดิมเป็นสายพันธุ์ G และก็โดน'สายพันธุ์อังกฤษ' (Alpha) ระบาดเข้ามา เกิดระบาดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดเป็น'สายพันธุ์อังกฤษ'

ขณะนี้เริ่มมี'สายพันธุ์เดลต้า' เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น เข้ามาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษในประเทศไทยอย่างแน่นอน

  • ระบุวัคซีนเข็ม 2 'AstraZeneca'ป้องกัน'สายพันธุ์เดลต้า'

ศ.นพ.ยง อธิบายต่อว่า 'สายพันธุ์เดลต้า' ต้องการระดับภูมิต้านทานของวัคซีนที่สูง ในการป้องกัน เราจะเห็นการศึกษาในสกอตแลนด์ ถ้าเปรียบเทียบวัคซีน ที่เปรียบเทียบระหว่าง วัคซีน 'Pfizer' ที่ให้ระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่า วัคซีน 'AstraZeneca' ปรากฏว่าลดลงทั้ง 2 ตัว แต่วัคซีนที่ให้ภูมิต้านทานสูงลดลงน้อยกว่า

การป้องกันโรคเมื่อให้วัคซีนครบ 2 เข็ม หลัง 14 วัน ต่อ'สายพันธุ์เดลต้า' วัคซีน 'Pfizer' ป้องกันได้ร้อยละ 79 วัคซีน 'AstraZeneca' ป้องกันโรคได้ร้อยละ 60 แต่ถ้าเป็น'สายพันธุ์อังกฤษ'การป้องกันโรคจะอยู่ที่ร้อยละ 92 กับ 73 แต่ถ้าให้วัคซีนเข็มเดียวเปรียบเทียบกัน หลัง 28 วันไปแล้วการป้องกันของวัคซีน 'Pfizer' จะอยู่ที่ร้อยละ 30 แต่ของ 'AstraZeneca'จะอยู่ที่ร้อยละ 18  โรงพิมพ์ในวารสาร Lancet เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน

แสดงให้เห็นว่าการป้องกันโรค'สายพันธุ์เดลต้า' หรืออินเดียจำเป็นที่จะต้องใช้ระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่าสายพันธุ์แอลฟาหรืออังกฤษ
จากข้อมูลดังกล่าวถ้ามาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ขณะนี้ของเราส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อังกฤษ แต่ก็คงจะหนีไม่พ้นในอนาคตที่จะมีสายพันธุ์อินเดียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะมาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ตามวิวัฒนาการของไวรัส

การให้วัคซีนเข็ม 2 เข้ามาเร็วขึ้น ของ 'AstraZeneca' จะมีประโยชน์ในการป้องกัน'สายพันธุ์เดลต้า' ถ้ามีการระบาดของสายพันธุ์นี้เกิดขึ้น และมีแนวโน้มการป้องกันจะลดลง แต่ก็ยังช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

และในทำนองเดียวกันวัคซีน ที่กระตุ้นภูมิต้านทานได้น้อยกว่า ก็คงจะต้องใช้การกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้ระดับภูมิต้านทานสูงขึ้น เพื่อป้องกันสายพันธุ์เดลต้า จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนใหม่ให้ตรงกับสายพันธุ์ ที่มีการระบาด

เช่นเดียวกันกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี และในการเปลี่ยนแปลงของวัคซีน ไข้หวัดใหญ่ ในบางปีการคาดการณ์ก็ไม่ถูกเช่นเดียวกัน แต่ละปีวัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน

ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังดูสายพันธุ์ที่ระบาดอย่างต่อเนื่องว่าเป็นสายพันธุ์อะไร และป้องกันไม่ให้สายพันธุ์เดลต้าระบาดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เพื่อรอจำนวนวัคซีนที่จะมา และหรือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงชนิดของวัคซีนในอนาคต ให้ตรงและจำเพาะกับสายพันธุ์

  • ผลการทดลองในไทย ‘สายพันธุ์เดลต้า’ หนีภูมิ‘Sinovac’

ขณะที่ในประเทศไทยนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)  โพสในเฟสบุ๊คส่วนตัว Anan Jongkaewwattana ว่าผลการทดลองที่ตนได้ศึกษาโดยใช้ตัวอย่างซีรั่มของบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีน ‘CoronaVac’ ของ บริษัท ‘Sinovac’ ครบ 2 เข็มเป็นเวลา 1 เดือน

 โดยใช้ตัวอย่างในการศึกษาจำนวน 23 ตัวอย่าง เปรียบเทียบความสามารถของซีรั่มจำนวนดังกล่าวในการยับยั้งไวรัสตัวแทนที่สร้างให้มีการแสดงออกของโปรตีนสไปค์ของไวรัส โควิด 19’  สายพันธุ์ดั้งเดิม (Wuhan) และสายพันธุ์ B.1.617.2 (Delta)

ด้วยวิธีมาตรฐานเรียกว่า Pseudovirus Neutralization assay คือ การตรวจปริมาณแอนติบอดีชนิด NAb ที่สามารถยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของไวรัสตัวแทนดังกล่าว

ค่าที่อ่านได้ (แกนตั้ง) PVNT50 คือ ค่าที่สามารถเจือจางซีรั่มไปจนสามารถยับยั้งไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ 50% เช่น 100 จะหมายถึง ซีรั่มเจือจางไป 1 ใน 100 ยังสามารถยับยั้งได้อยู่ถ้ามากกว่านั้นจะยับยั้งไวรัสเข้าเซลล์ได้ไม่ถึง 50%

ขณะที่ 10 จะหมายถึง ซีรั่มเจือจางไปเกิน 1 ใน 10 ก็ไม่สามารถยับยั้งไวรัสได้ 50% แล้ว

สรุปแบบง่ายๆก็คือ ค่ายิ่งสูงแสดงว่าแอนติบอดีชนิด Nab ที่ยับยั้งไวรัสได้จะยิ่งเยอะ

162417437669

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:ค้นหาคำตอบ 'วัคซีนโควิด'ชนิดไหน? ป้องกัน'สายพันธุ์เดลต้า' ได้

                  รู้จัก 'แลมบ์ด้า' เชื้อ 'โควิดกลายพันธุ์' ชนิดใหม่ ที่ WHO ให้ความสนใจ

                  CDC เตือน 'เดลตา' ระบาดสายพันธุ์หลักในสหรัฐ

  • หวังข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ข่าวดีสำหรับคนไทย

เมื่อนำซีรั่มมาทดสอบกับไวรัสตัวแทนที่มีสไปค์ของสายพันธุ์ดั้งเดิม จะเห็นว่า ซีรั่มส่วนใหญ่ยังสามารถยับยั้งไวรัสได้พอสมควร ถึงแม้ไม่สูงมากแต่ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับที่ตีพิมพ์มา

แต่เมื่อทดสอบกับไวรัส สายพันธุ์เดลต้า จะเห็นว่าระดับของ NAb ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มีหลายตัวอย่างที่ไม่สามารถตรวจวัด NAb ได้  ซึ่งบอกว่าสไปค์ของสายพันธุ์เดลต้า สามารถหนีภูมิของ Sinovac2 เข็มได้มากพอสมควรเลยทีเดียว

ดร.อนันต์ กล่าวต่อว่าลงค่า Convalescent ซึ่งเป็นซีรั่มของผู้ป่วยหนักที่พบว่าส่วนใหญ่มี Nab ที่สูงพอในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้ทุกชนิดเปรียบเทียบให้ดูด้วย จะเห็นว่าระดับ Nab แตกต่างกันชัดเจน

ข้อมูลนี้เป็น Data ที่ได้จากแล็บตนซึ่งใช้ตัวอย่างอาจจะไม่มาก ซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อนได้ จึงอยากให้ห้องแล็บอื่นๆที่มีตัวอย่างซีรั่มเยอะๆลองทดสอบดูเช่นเดียวกัน เพราะข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าได้...ใจลึกๆผมหวังว่าข้อมูลนี้จะไม่ถูกต้อง เพราะ ไม่ใช่ข่าวดีเท่าไหร่ถ้าผลออกมาแบบนี้จริงๆ

  • เปิดการกลายพันธุ์โควิด 2สายพันธุ์ในเซลล์เดียว

ดร.อนันต์ กล่าวต่อไปว่าการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาส่วนใหญ่เกิดจากความผิดพลาดของไวรัสตอนเพิ่มจำนวนตัวเอง ทำให้รหัสพันธุกรรมเปลี่ยนแปลง ถอดรหัสเป็นกรดอะมิโนตัวใหม่ เช่น E484K, N501Y, L452R ที่เห็นกันในสายพันธุ์ต่างๆ บางทีก็จะเกิดการขาดหายไปของกรดอะมิโนขึ้นในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งเป็นกลไกการเกิดความหลากหลายของไวรัสที่เราพบบ่อยครับ

แต่อีกกลไกหนึ่งที่เราพบไม่บ่อย และมักไม่มีคนแสดงให้เห็นชัด คือ การที่ไวรัส 2 สายพันธุ์ไปติดอยู่ในเซลล์เดียวกันในโฮสต์ แล้วจังหวะนั้น สาย RNA ของไวรัส 2 ชนิด สามารถแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนกันได้ ทำให้เกิดเป็นไวรัสลูกผสมที่มีบางส่วนของยีนเป็นไวรัสสายพันธุ์หนึ่ง

ส่วนอีกส่วนเป็นของอีกสายพันธุ์หนึ่ง เรียกกลไกนี้ว่า Recombination ลักษณะแบบนี้จะทำให้ได้สายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติที่แตกต่างไปจากกลไกอื่นๆได้ไวกว่าปกติ เพราะไวรัสไม่ต้องใช้เวลาเปลี่ยนทีละตำแหน่งเหมือนกลไกแรก

ทีมวิจัยที่ UK ทำการถอดรหัสของไวรัสที่นั่นจำนวนมาก และ ได้ศึกษารหัสดังกล่าวเชิงลึกพบว่า มันมีสายพันธุ์ที่คล้ายๆกับแอลฟ่าที่ไปรับเอาชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมมาจากสายพันธุ์อื่นๆที่ระบาดอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ในเวลาใกล้ๆกันมาด้วย ยกตัวอย่างในภาพจะเห็นว่า ไวรัส Group A มีส่วนด้านหน้าเป็นสายพันธุ์ B.1.1.177 ส่วนด้านหลังเป็น B.1.1.7 คือ แอลฟ่า จะเห็นว่ามีไวรัสอยู่หลายกลุ่มที่สลับแลกเปลี่ยนกันเองได้

แต่แลกแล้วจะมีความหมายอะไรยังเป็นประเด็น เพราะ ถ้าเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของไวรัสใหม่ก็คงปล่อยเป็นกลไกของธรรมชาติไป ในการศึกษานี้มีอยู่เคสนึงครับที่บอกว่า มีลูกผสมอยู่ตัวนึง คือ Group A ที่สามารถแพร่กระจายต่อเป็นคลัสเตอร์ได้อย่างน้อย 45 คน ที่ตรวจพบในช่วงเวลา 9 สัปดาห์ที่เก็บข้อมูล ซึ่งกลไกนี้อาจจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ไวรัสสามารถใช้สร้างความหลากหลายได้ครับ

ที่มา https://www.medrxiv.org/con.../10.1101/2021.06.18.21258689v1

  • ซีรั่มของคนอินเดียต่อภูมิคุ้มกันระหว่างในเมืองกับชนบท

ตัวเลขนี้ของอินเดียน่าสนใจครับ เป็นการสุ่มเก็บตัวอย่างซีรั่มของคนอินเดียที่อาศัยในเมือง และ ชนบท แล้วหาภูมิต่อไวรัสโรคโควิด-19 จากตัวอย่าง ประมาณ 1000 คนในเมือง พบ คนที่มีแอนติบอดีต่อไวรัสโควิดมากถึง 79.1% และ จาก 3000+ คนในชนบท พบได้ 62.2% ทั้งนี้อาจจะไม่รวมกลุ่มที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการและตรวจภูมิไม่ขึ้นได้อีกจำนวนหนึ่ง ข้อมูลของประชากรที่อายุน้อยกว่า 18 ปี น่าสนใจเหมือนกันคือ % ไม่ได้น้อยกว่ากลุ่มผู้ใหญ่เลย โดยเฉพาะในเมือง

ประชากรของอินเดียเป็นระดับพันล้าน ถ้าตัวเลขนี้อนุมานได้ไกลถึงระดับประเทศจริงๆ ผู้ป่วยโควิดของอินเดียน่าจะมากกว่าใครๆในโลกนี้ไปแล้วครับ ดูใกล้ๆจะเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ที่บางประเทศก่อนหน้านี้อยากไปให้ถึงด้วยวิธีนี้ครับ อาจสามารถอธิบายตัวเลขของอินเดียกำลังลงเรื่อยๆเมื่อเทียบกับเดือนก่อน วันนี้ที่ 60000+ เคส ลงจาก 400000+ เมื่อเดือนที่แล้ว

ที่มา https://www.medrxiv.org/con.../10.1101/2021.06.15.21258880v1