ย้อนรอย การระบาด โควิด-19 'สายพันธุ์อินเดีย' ในไทย

ย้อนรอย การระบาด โควิด-19 'สายพันธุ์อินเดีย' ในไทย

หลังจากที่ไทยพบการระบาดของ 'โควิด-19' 'สายพันธุ์อินเดีย' หรือ 'สายพันธุ์เดลตา' เป็นแห่งแรกที่ 'แคมป์คนงานหลักสี่' จนปัจจุบัน มีการสุ่มตรวจพบว่า กระจายไปยัง 12 จังหวัด เกิดคำถามว่า วัคซีนที่เราฉีดกันอยู่ปัจจุบัน ใช้ได้กับสายพันธุ์ดังกล่าวหรือไม่

ขณะนี้ เริ่มพบการระบาดของโควิด-19 'สายพันธุ์อินเดีย' หรือ 'สายพันธุ์เดลตา' มากขึ้นในประเทศไทย โดยรายงานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา พบถึง 348 ราย ใน 11 จังหวัด และพบรายงานเพิ่มเติมใน จ.เลย 2 ราย โดยจุดเริ่มต้นที่พบระบาดของสายพันธุ์อินเดีย คือ 'แคมป์คนงานหลักสี่' เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่ายห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ทำการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรค'โควิด-19' ในประเทศ เก็บข้อมูลเฝ้าระวังสายพันธุ์ เพื่อสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อการควบคุมป้องกันโรค การรักษา และการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ในประเทศ

  • สุ่มตรวจพบ 'สายพันธุ์อินเดีย' 318 ในกทม.

ทั้งนี้ จากการสุ่มตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ตั้งแต่เดือน เมษายน-มิถุนายน 2564 รวมจำนวน 4,185 ราย พบว่า สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) มีการพบมากที่สุดในประเทศไทย จำนวน 3,703 ราย คิดเป็นร้อยละ 88.48 'สายพันธุ์เดลตา' (อินเดีย) จำนวน 348 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.32 สายพันธุ์ดั้งเดิม (B.1 (dade G), B.1 (dade GH), B.1.1.1 (dade GR) จำนวน 98 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.34 สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จำนวน 26 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.62 สายพันธุ์ B.1.524 จำนวน 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.24 ซึ่งข้อมูลต่างๆ นี้มีการประสานรายงานไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้ในการควบคุมเฝ้าระวังในพื้นที่ต่อไป

สำหรับ 'สายพันธุ์เดลต้า' หรือ อินเดีย 348 ราย พบใน กทม. มากที่สุด คือ 318 ราย รองลงมาคือ อุดรธานี 17 ราย นนทบุรี 2 ราย ขอนแก่น 2 ราย, ชัยภูมิ 2 ราย สระบุรี 2 ราย พิษณุโลก 1 ราย บุรีรัมย์ 1 ราย อุบลราชธานี 1 ราย ร้อยเอ็ด 1 ราย สมุทรสาคร 1 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

  • 'สายพันธุ์อินเดีย' แพร่เร็ว

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่า จากข้อมูลรายงานขององค์กรสาธารณสุขประเทศอังกฤษ (Public Health England) และ WHO พบว่า สายพันธุ์อังกฤษ เป็นสายพันธุ์ที่มีการแพร่กระจายง่าย ทำให้เกิดการป่วยและเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม วัคซีนที่ใช้ในประเทศยังสามารถใช้ได้กับสายพันธุ์นี้

ส่วน 'สายพันธุ์อินเดีย' พบว่ามีการแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษ อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบว่ามีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อังกฤษแต่อย่างใด วัคซีนที่ใช้ในประเทศยังสามารถใช้ได้กับสายพันธุ์นี้ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ พบว่ามีการแพร่กระจายได้ช้ากว่าสายพันธุ์อื่น แต่ทำให้เกิดการป่วย และเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

การรายงานผลการเฝ้าระวังนี้จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานในประเทศ จังหวัด ชุมชน สำหรับเฝ้าระวังติดตามในจังหวัด รวมถึงเป็นข้อมูลในการรักษาโรค และเพื่อให้ประชาชนได้ป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ยังคงมีความสำคัญในการป้องกันโรคนี้เช่นเดิม ไม่ว่าจะสายพันธุ์อะไร ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังเดินหน้าเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศร่วมกับเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง และพร้อมให้ข้อมูลการเฝ้าระวังกับทุกหน่วย เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ

สำหรับ 'โควิด-19' 'สายพันธุ์อินเดีย' พบในไทยครั้งแรก ในแคมป์คนงานย่านหลักสี่ จากการระบาด 'โควิด-19' โดย สำนักอนามัย กทม.ได้ทำการตรวจคัดกรองรอบแรก กว่า 1,600 คน เมื่อวันที่ 11-13 พ.ค.64 พบติดเชื้อประมาณ 1,100 คน และนำส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จากนั้นทีมแพทย์ทำการสุ่มตรวจสายพันธุ์เชื้อโรค พบว่าผู้ป่วยติดเชื้อ 'สายพันธุ์อินเดีย' 15 คน ในขณะนั้น

  • อุดรธานี พบ 17 ราย

นอกจากนี้ จากคลัสเตอร์ดังกล่าว ยังเชื่อมโยงไปยังจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะ “จ.อุดรธานี” เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 64 นายอุเทน หาแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ระบุว่า กรณีพบผู้ป่วย 'โควิด-19' 'สายพันธุ์อินเดีย' ใน จ.อุดรธานี สูงถึง 17 คน โดยกลุ่มแรก ที่ยืนยันผลการตรวจเป็นเชื้อ 'สายพันธุ์อินเดีย' 4 คน พบเป็นคนงานก่อสร้างที่ 'แคมป์คนงานหลักสี่' และอีก 3 คน ที่พบติดจากครอบครัว ที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ เช่นกัน พร้อมทั้ง มีการยืนยันผลตรวจมีผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์งานสู่ขวัญในพื้นที่ อ.เมืองอุดรธานี ติดเชื้อ'โควิด-19' 'สายพันธุ์อินเดีย' ถึง 10 คน โดยมีการรวมกลุ่มกินดื่มในงานสู่ขวัญตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา

  • จ.เลย พบ 'สายพันธุ์อินเดีย' 2 ราย

ขณะที่ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. นายผดุงศักดิ์ หาญปรีชาสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พร้อมด้วยนายปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย และนายบุญเทิน จันทะมาตย์ สาธารณสุขอำเภอเมือเลย จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อ ยกครัวจากคนงานแคมป์คนงานหลักสี่ พบติดเชื้อสายพันธุ์อินเดีย 2 ราย โดยเป็นการสุ่มตรวจจากกลุ่มที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ที่ได้เดินทางกลับมาจังหวัดเลย วันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา และขณะนี้ผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ได้รับการรักษาหายแล้ว

162360161189

 

  • 3 สายพันธุ์ เฝ้าระวังในไทย

ก่อนหน้านี้ “ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงข้อมูลของเชื้อโควิด-19 โดยระบุว่า สายพันธุ์ที่เฝ้าระวังและให้ความสำคัญสำหรับประเทศไทยมีสายพันธุ์ อังกฤษ อินเดีย และแอฟริกาใต้ เราตรวจพบในประเทศไทยแล้วทั้ง 3 สายพันธุ์ “สายพันธุ์อังกฤษ” กำลังระบาดหนักทั่วโลก เมื่อดูทิศทางของ 3 สายพันธุ์จะเห็นว่า "สายพันธุ์แอฟริกาใต้” เกิดก่อนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว แต่ด้วยการแพร่กระจายช้ากว่าสู้สายพันธุ์อินเดียและอังกฤษไม่ได้

“สายพันธุ์อังกฤษ” เริ่มรายงานเดือนตุลาคมและเพิ่มขึ้นเร็วมากแซงสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ส่วน 'สายพันธุ์อินเดีย' พบครั้งแรกปลายปีแต่ด้วยการแพร่กระจายง่ายและเร็วมีแนวโน้มจะพบกระจายเป็นวงกว้าง และจะแทนที่ “สายพันธุ์อังกฤษ” และแอฟริกาใต้แน่นอน สายพันธุ์อินเดียและอังกฤษ แพร่กระจายง่าย จะพบการระบาดเป็นวงกว้างได้ง่าย ตรงข้ามสายพันธุ์แอฟริกาใต้การแพร่กระจายได้น้อยกว่าก็จะมีโอกาสแพร่กระจายโรคได้ช้ากว่า ข้อมูลจำนวนสายพันธุ์ที่ตรวจและมีการบันทึกในฐานข้อมูล GISAID จะเห็นแนวโน้มมีสายพันธุ์อินเดียมาแรงมีโอกาสที่จะแซงสายพันธุ์อื่น

  • วัคซีนป้องกัน 'สายพันธุ์เดลตา' (อินเดีย) ได้

อย่างไรก็ตาม โควิต-19 'สายพันธุ์อินเดีย' แพร่กระจายได้ง่าย ติดต่อง่าย แต่วัคซีนที่ฉีดในประเทศไทยสามารถปกป้องได้ สายพันธุ์อินเดียที่แสดงในรูปเป็น B.1.617.2 ที่ระบาดมากในอินเดียและกระจายไปหลายประเทศ รวมทั้งอังกฤษ ยุโรป และในสหรัฐอเมริกา แม้กระทั่งประเทศไทย สายพันธุ์นี้ดูตามหลักพันธุกรรมแล้วสามารถแพร่กระจายหรือติดต่อได้ง่าย จะติดต่อง่ายหรือง่ายกว่าสายพันธุ์อังกฤษ จึงจะทำให้เกิดการระบาดกว้างขวางขึ้นได้ (แค่สายพันธุ์อังกฤษ เราก็ลำบากพอสมควรแล้ว)

แต่ 'สายพันธุ์อินเดีย' นี้ วัคซีนที่มีอยู่ในประเทศไทยสามารถป้องกันได้ จากการศึกษาในประเทศอังกฤษ 'สายพันธุ์อินเดีย' ที่เข้าไประบาดในอังกฤษ ส่วนใหญ่จะเกิดในชุมชนที่มีการฉีดวัคซีนอัตราการครอบคลุมต่ำ และจะพบมากในเด็กวัยรุ่นหรืออายุน้อยที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมากกว่าผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนแล้ว จากหลักฐานทางพันธุกรรมโดยเฉพาะตำแหน่งที่หลบหลีกภูมิต้านทานจากวัคซีน ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง

“การให้วัคซีนที่มีอยู่ในประเทศไทย สามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงของสายพันธุ์อินเดียได้ ดังนั้น การจะยับยั้งการระบาดของสายพันธุ์นี้ได้ดีในขณะนี้ คือการให้วัคซีนให้เร็วที่สุดและให้หมู่มากที่สุด” ศ.นพ.ยง ระบุ