ไทยอันดับดีขึ้น'ขีดแข่งขันโลก'ไอเอ็มดีปี2564

ไทยอันดับดีขึ้น'ขีดแข่งขันโลก'ไอเอ็มดีปี2564

"ไทย"ขีดความสามารถด้านการแข่งขันโลกดีขึ้น ไต่ขึ้นมา 1 อันดับจากปี2563 จีนอยู่ที่อันดับ 16 จากอันดับ 20 ในปีก่อน และไต้หวัน ติดท็อป10 เป็นครั้งแรก

ไอเอ็มดี เผยแพร่รายงานขีดความสามารถด้านการแข่งขันโลกประจำปี 2564 ระบุว่า จีนสามารถไต่อันดับขึ้นมาจากอันดับ 20 ของปี 2563 เป็นอันดับ 16 ในปีนี้ได้ ส่วนคู่แข่งตลอดกาลอย่างสหรัฐ อยู่อันดับเท่าเดิมของปีที่แล้วคืออันดับที่ 10 ส่วนสิงคโปร์ ร่วงลงไปอยู่อันดับ 5 ในปีนี้ จากอันดับ1 ของเมื่อปี 2563 เหมือนศูนย์กลางทางการเงินอย่างฮ่องกงก็อันดับร่วงลงไปอยู่อันดับที่ 7 จากอันดับที่ 5 เมื่อปี2563

รายงานการจัดอันดับของสถาบันการศึกษาด้าน​การบริหารธุรกิจของสวิตเซอร์แลนด์ จัดอันดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ๆในยุโรปไว้ในอันดับต้นๆ ส่วนประเทศในเอเชียยังคงตามหลังชาติตะวันตก โดย4ประเทศแรกคือ สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์กและเนเธอร์แลนด์

“ในปี2563 ทุกประเทศเผชิญหน้ากับความท้าทายสองเรื่องด้วยกันคือ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงตามมา จีน บริหารจัดการความท้าทายทั้งสองอย่างได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ จึงควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ได้ และใช้นโยบายสนับสนุนด้านการเงินและงบประมาณ ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างสภาพคล่องอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป แม้กระทั่งในช่วงที่การระบาดของโรคโควิด-19 ทะยานสูงสุด”โฮเซ คาบัลเลโร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากศูนย์ขีดแข่งขันโลกไอเอ็มดี กล่าว

ส่วนสิงคโปร์ มีการรับมือกับการปกป้องสุขภาพของสาธารณชนได้ดี โดยเฉพาะการแก้ปัญหาโรคโควิด-19ระบาดในหมู่คนงานอพยพที่หอหรือที่พักคนงาน ทำให้มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดร้ายแรงนี้เพียง 34 คนเท่านั้น แต่ไอเอ็มดีก็เห็นว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการค้า และการเดินทางของสิงคโปร์อย่างมาก และทำให้เกิดความสูญเสียงานและขาดความสามารถด้านการผลิต

นอกจากนี้ ไอเอ็มดี ยังระบุว่า สิงคโปร์ก็เหมือนประเทศอื่นๆที่อันดับแย่ลง คือบอบช้ำจากภาวะการชลอตัวของเศรษฐกิจ และขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น ส่วนหนี้สาธารณะก็เพิ่มขึ้นมากด้วย

162397175011

ส่วนฮ่องกงสาเหตุหลักที่ทำให้อันดับในปีนี้แย่ลงโดยร่วงลงมาอยู่อันดับ 7 จากอันดับ 5 เมื่อปี 2563 เพราะการปรับตัวลงของการลงทุนจากต่างประเทศและราคา รวมทั้งบรรยากาศการจ้างงานในฮ่องกงที่แย่ลงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม คาบัลเลโร มีความเห็นว่าตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับฮ่องกงและสิงคโปร์ ไม่ได้หมายความว่าศูนย์กลางทางการเงินทั้ง2แห่งในเอเชียจะย่ำแย่และหมดความสำคัญลง

“แม้ปีนี้ทั้งฮ่องกงและสิงคโปร์จะมีอันดับแย่ลง แต่ก็ยังคงติดอันดับท็อป 10ในการจัดอันดับของเรา” คาบัลเลโร กล่าว

รายงานของไอเอ็มดี ระบุว่า ไต้หวันที่ขึ้นมาติดอันดับท็อป10 เป็นครั้งแรกเป็นเพราะอุตสาหกรรมชิพกลับมาขยายตัวอย่างมาก อานิสงส์จากความต้องการสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น และจากการสำรวจความเห็นบรรดาผู้บริหารทั่วโลกพบว่า ความพอใจของผู้บริหารที่ถูกสุ่มสำรวจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง การมีแรงงานมีทักษะ การมีทัศนะคติเปิดกว้างและบวก และคุณภาพของความเป็นบรรษัทภิบาล

ที่สำคัญไต้หวันบริหารจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ได้อย่างดีจนกระทั่งเกิดการระบาดรุนแรงในเดือนพ.ค.

ส่วนในยุโรป ที่หลายประเทศยังคงติดอันดับชั้นนำ คาบัลเลโร มีความเห็นว่า "แม้หลายประเทศในยุโรปไม่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่เกิดการระบาดใหม่ๆเหมือนประเทศในเอเชียบางประเทศ แต่พวกเขาก็สามารถสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยนโยบายที่เหมาะสมและส่งเสริมสภาพคล่องแก่ธุรกิจประเภทต่างๆ

เช่นในสวิตเซอร์แลนด์ รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้มีการจ้างงานอย่างยั่งยืน มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากอุตสาหกรรมหนึ่งไปยังอุตสาหกรรมหนึ่งและกระตุ้นให้เกิดความสามารถด้านการผลิต

การจัดอันดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไอเอ็มดีปีนี้ จัดอันดับ 64 ประเทศ โดยพิจารณาจากประสิทธิภาพของรัฐบาล ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน