'คริปโตฯ' ฟีเวอร์ ? ทำไมคนถึงสนใจ 'ลงทุน' ใน 'สินทรัพย์ดิจิทัล' มากขึ้น

'คริปโตฯ' ฟีเวอร์ ? ทำไมคนถึงสนใจ 'ลงทุน' ใน 'สินทรัพย์ดิจิทัล' มากขึ้น

"คริปโตเคอเรนซี" หรือ "สินทรัพย์ดิจิทัล" ที่คนรุ่นใหม่กำลังให้ความสนใจเข้า "ลงทุน" มีความน่าสนใจในมิติใดบ้าง ?

"คริปโตเคอเรนซี" หรือ "คริปโตฯ" ความหวัง To the moon ของกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ไม่อาจแสวงหาความมั่งคั่งจากการดอกเบี้ยเงินฝากได้อีกต่อไป 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวม 4 เรื่องสำคัญที่มีส่วนทำให้ "คริปโตฯ" กำลังเป็นดาวเด่น (ที่บางทีก็เป็นดาวอยู่บนดอย) ในกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ ว่านอกจากผลตอบแทนที่สูงดึงดูดใจแล้ว ยังไม่อะไรอีกบ้างที่ทำให้หลายคนยอมแบ่งพอร์ตมาลงทุนในสินทรัพย์ยุคใหม่เหล่านี้กันได้บ้าง

  

 1. ราคาและผลตอบแทนที่ดึงดูด 

ในช่วงโควิด-19 ระบาด  "คริปโตฯ" "สกุลเงินดิจิทัล" หรือที่ถูกนิยามบ้านเราว่าเป็น "สินทรัพย์ดิจิทัล" เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากข่าวคราวต่างๆ ที่มีผลทำให้ราคาของ "บิทคอยน์" เหรียญสกุลแรกของวงการคริปโตฯ ทะยานขึ้นแตะ 63,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2 ล้านบาทไทย ซึ่งถือเป็นราคาสูงสุดตั้งแต่ที่เคยมีมา 12 ปี 

นอกจากนี้ยังไม่คริปโตฯ สกุลอื่นๆ ที่ทยอยได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนทั่วโลก และเริ่มลงทุน ซื้อขาย ดันราคาขึ้นสูงจนน่าสนใจไม่น้อย เช่น อีเธอเรียม (ETH) ริปเปิ้ล (XRP) ไบแนนซ์คอยน์ (BNB) ฯลฯ

กระแสการทำกำไรเร็วทันใจจากคริปโตฯ ที่ดันขึ้นเป็นหลักร้อยหรือพันเปอร์เซ็น และมีท่าทีจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความต้องการซื้อดันราคาขึ้นสูงจนน่ากระโจนเข้าทำกำไรนั่นเอง

 2. ความเชื่อมั่นในระบบ "บล็อกเชน" ที่เพิ่มมากขึ้น 

ในโลกยุคใหม่ เทคโนโลยีเป็นตัวดิสรัปหลายๆ วงการให้ต้องปรับตัว และหนึ่งในเทคโนโลยีที่คนจำนวนไม่น้อยกำลังให้ความสำคัญ และมองว่ากำลังจะเข้ามาเปลี่ยนโลกในนี้ คือระบบจัดการข้อมูลที่เรียกว่า "บล็อกเชน"

"บล็อกเชน" (Blockchain) คือ ระบบฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ หรือเรียกง่ายๆ ว่าไม่มีศูนย์กลางหรือตัวกลาง สามารถแลกเปลี่ยนมูลค่าหรือโอนย้ายข้อมูลต่างๆ จากต้นทางถึงปลายทางโดยตรง และมีการบันทึกการทำธุรกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นไว้ในแบบที่ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ ทำให้ถือเป็นระบบที่คล่องตัว แต่มีความปลอดภัยสูง

ดังนั้นการแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือกรรมสิทธิ์ที่มีมูลค่าต่างๆ จึงสามารถทำได้บนระบบบล็อกเชนได้ไม่ยาก ซึ่งบล็อกเชนเป็นที่รู้จักพร้อมๆ กับ บิทคอยน์ เพราะเป็นระบบที่ถือกำเนิดมาพร้อมกัน เมื่อคนเชื่อมั่น บิทคอยน์มากขึ้น ความเชื่อมั่นในระบบไร้ตัวกลางก็ได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้นเช่นกัน เมื่อคนที่ความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าระบบนี้เป็นระบบที่ประสิทธิภาพ จึงกล้าที่จะหันมาลงทุนในระบบนี้มากขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม บล็อกเชน ไม่ได้เป็นระบบเฉพาะของคริปโตฯ เท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในมิติอื่นๆ ได้ด้วย เช่น การจัดการระบบการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างครัวเรือนต่อครัวเรือน ระบบการแปลกเปลี่ยนข้อมูลประชากรของหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น 

 3. เชื่อว่า "คริปโตฯ" จะเป็นสินทรัพย์ที่มีความสำคัญในอนาคต 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้ "คริปโตฯ" เติบโตมาจนถึงตอนนี้ได้คือ "ความเชื่อ" ของผู้ลงทุน ที่เห็นการเปลี่ยนแปลง และการเติบโตของเหรียญต่างๆ ประกอบกับ "ผู้ประกอบการต่างๆ" ที่เชื่อมั่นในสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้ทยอยออกมารับคริปโตฯ แลกสินค้าและบริการของตัวเองมากขึ้น

เช่น ปรากฏการณ์บิทคอยน์พุ่งไปถึง 64,400 ดอลลาร์ หลัง "อีลอน มัสก์" ประกาศรับบิทคอยน์ในการซื้อรถพลังงานไฟฟ้าจาก "เทสลาร์" ของเขาได้เมื่อช่วง เม.ย. 64 (ก่อนปรับตัวลงหลังประกาศยกเลิก และปรับตัวขึ้นอีกครั้งช่วงกลางเดือน มิ.ย. เมื่อกลับคำว่าจะรับบิทคอยน์อีก แต่อยู่ในระดับ 39,000 ดอลลาร์) 

นอกจากนี้ยังมีบริษัทตัวแทนนายหน้าหลายรายขายบ้านหรือคอนโดของตนเองโดยผู้ซื้อสามารถใช้เงินคริปโตมาชำระแทนเงินสดได้ โดยเจ้าแรกๆ ที่ประกาศว่ายินดีรับเงินคริปโต คือ Antalya Homes บริษัทนายหน้าในประเทศตุรกีที่หาโอกาสในช่วงวิกฤติโควิด-19 จึงได้ประกาศว่าผู้ซื้อทุกท่านสามารถนำบิทคอยน์มาชำระแทนเงินสดในการซื้ออสังหาฯ ของบริษัทโดยจะทำธุรกรรมผ่านตัวแทนเพื่อหาอัตราแลกเปลี่ยน

หรือแม้แต่ใน ประเทศไทย ก็เริ่มมีผู้ให้บริการต่างๆ ทยอยออกมาประกาศรับคริปโตฯ ในการซื้อสินค้าและบริการได้ เช่น กลุ่มอสังหาฯ ไม่ว่าจะเป็น ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้, แอสเซทไวส์, แสนสิริ และ สิงห์เอสเตท ฯลฯ ที่อออกมาประกาศรับคริปโตเคอเรนซีจ่ายค่าอสังหาฯ ได้ เป็นต้น

นั่นสะท้อนว่า เมื่อใดก็ตามที่มีคนยอมรับให้ คริปโตฯ ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ หรือให้ค่าจนสามารถแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ได้ในอนาคต การมีคริปโตฯ ไว้ในครอบครองจึงเป็นสิ่งที่คนที่เชื่อเหมือนกันทำอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้มี "สินทรัพย์" ที่สร้างความมั่งคั่ง และสร้างอำนาจต่อรองได้ในอนาคตนั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ ยังไม่ถือเป็นเงินตราตามกฎหมายไทย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาแจ้งเตือนถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในลักษณะแลกเปลี่ยน (Barter Trade) ระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลกับสินค้าและบริการ ซึ่งผู้ให้และผู้รับตกลงยอมรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน

โดยผู้ใช้หรือผู้รับสินทรัพย์ดิจิทัล อาจมีความเสี่ยงจากความผันผวนของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งยังมีความเสี่ยงจากการสูญเสียมูลค่าหากถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ และการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน ธปท. จึงยังคงไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการ

 4. เริ่มต้นลงทุน "คริปโตเคอเรนซี" ด้วยเงินจำนวนน้อยๆ ได้ 

อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้นักลงทุนทั้งมือใหม่ มือเก๋า สามารถเข้าถึงคริปโตฯ ได้ด้วยเงินจำนวนน้อย ด้วยเทคโนโลยีฟินเทค ที่ช่วยให้ผู้ที่สนใจลงทุนในคริปโตฯ สามารถลงทุนผ่านศูนย์แลกเปลี่ยนซื้อขาย (Exchange) ที่ใช้เงินได้ตั้งแต่หลักสิบก็เข้าลงทุนในคริปโตฯ สกุลต่างๆ ได้ โดยจำเป็นต้องใช้เงินก้อนโต ทั้งนี้อาจมีค่าบริการในการซื้อขายตามเงื่อนไขของแต่ละ Exchange ด้วย