'การบินไทย' ลุ้นผลหารือแบงก์ เร่งหาสินเชื่อใหม่ 25,000 ล้าน

'การบินไทย' ลุ้นผลหารือแบงก์ เร่งหาสินเชื่อใหม่ 25,000 ล้าน

“ธนาคารกรุงเทพ” พร้อมปล่อยกู้การบินไทย ตั้งเงื่อนไขแผนธุรกิจชัด กลับมาบินตามปกติได้ หวังช่วยเติมสภาพคล่องให้ลูกหนี้ “ชาญศิลป์” ลุยเจรจาแบงก์-คลัง ร่วมหนุนฟื้นฟูกิจการ ตั้ง “สุวรรธนะ” รักษาการซีอีโอชั่วคราว ถึง ก.ย.นี้

หลังจากศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564 ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการมีการจัดหาแหล่งเงินทุนรวม 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 

1.สินเชื่อใหม่ 25,000 ล้านบาท ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือบุคลใดที่ภาครัฐและผู้บริหารแผนร่วมจัดหา ซึ่งอาจอยู่ในรูปเงินกู้ยืมและหรือการค้ำประกัน 

2.สินเชื่อใหม่ 25,000 ล้านบาท ที่ได้รับจากการสนับสนุนจากภาคเอกชน

ทั้งนี้ มีรายงานว่า วันที่ 16 มิ.ย.2564 นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ได้ประชุมหาข้อสรุปเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกับการบินไทยด้วย รวมถึงหาข้อสรุปเกี่ยวกับการให้สภาพคล่องเพิ่มเติมด้วย ก่อนเดินหน้าแผนฟื้นฟูการบินไทย ตามศาลล้มละลายกลางที่เห็นชอบแผนไปแล้วเมื่อ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ธนาคารกรุงเทพเป็นสถาบันการเงินเจ้าหนี้ที่ส่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมา 2 คน จากผู้บริหารแผนที่ศาลแต่งตั้งทั้งหมด 5 คน คือ นายไกรสร บารมีอวยชัย ที่ปรึกษากฎหมายธนาคารกรุงเทพ และนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ กรรมการธนาคารกรุงเทพ

สำหรับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ประเภทที่ไม่มีหลักประกันมูลหนี้รวม 31,228 ล้านบาท โดยธนาคารเจ้าหนี้ 5 อันดับ คือ

1.ธนาคารกรุงเทพ 9,344 ล้านบาท

2.ธนาคารกรุงไทย 6,966 ล้านบาท

3.ธนาคารออมสิน 3,826 ล้านบาท

4.ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ 2,149 ล้านบาท

5.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 2,658 ล้านบาท

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย กล่าวว่า คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ 5 คน ได้ประชุมครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการหลังจากนี้

“ในขั้นต้นการบินไทยได้หารือกับธนาคารเจ้าหนี้ทุกแห่งทั้งธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ เราขอทุกแบงก์แต่ตอนนี้เพิ่งเริ่มต้นยังไม่สรุปว่าจะได้รับเงินกู้จากธนาคารใดบ้าง” นายชาญศิลป์ ตอบคำถามประเด็นการขอสินเชื่อกับธนาคารกรุงเทพ

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า จะต้องมีการหารือกับกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และเจ้าหนี้ของการบินไทย ซึ่งในแผนฟื้นฟูกิจการมีการระบุถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐในหลายรูปแบบไม่เฉพาะการช่วยเหลือด้านเงินทุนเท่านั้น ในขณะที่ประเด็นการกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทที่ 3 ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้

รายงานข่าวจากการบินไทย ระบุว่า การบินไทยแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) วันที่ 16 มิ.ย.2564 ถึงมติที่ประชุมคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2564 ที่อนุมัติให้นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ลาออกจากตำแหน่งรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีผลเมื่อศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ โดยยังคงตำแหน่งกรรมการการบินไทยและตำแหน่งผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ

นอกจากนี้การบินไทยได้แจ้งมติที่ประชุมคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการวันที่ 15 มิ.ย.2564 แต่งตั้งนายสุวรรธนะ สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่สายทรัพยากรบุคคล ให้ควบตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารเพิ่มอีกตำแหน่ง ให้มีผลวันที่ 16 มิ.ย.-30 ก.ย.2564

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า การแต่งตั้งนายสุวรรธนะเป็นรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพราะต้องการส่งเสริมพนักงานที่เป็นลูกหม้อของบริษัทให้ขึ้นมาเป็นผู้บริหาร รวมทั้งผู้ที่ถูกแต่งตั้งถือว่าเป็นที่ยอมรับในองค์กร

“ผมในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการจะต้องเน้นงานหลายด้านเพิ่มมากขึ้น ที่ประชุมคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการจึงมาช่วยเติมเต็มการขับเคลื่อนแผนฟื้นฟู โดยงานที่เป็น day to day หรืองานบริหารในองค์กรก็ให้คนภายในเข้ามาดูแล” นายชาญศิลป์ กล่าว