เอกชนเข็น 3 โครงการนำร่องจัดการ 'พลาสติก'

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) ส.อ.ท.ร่วมกับ PPP Plastics และ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) เปิดตัว โครงการ ALL_Thailand เพื่อการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน ชู 3 โครงการย่อยในไทย ตั้งเป้าลดขยะในทะเล 50% ในปี 2570

แนวโน้มการใช้พลาสติกที่เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดขยะพลาสติกโดยเฉพาะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกใส่อาหารและเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ซึ่งทั้งกระบวนการผลิตและการกำจัดขยะพลาสติกยังปล่อยมลพิษสู่พื้นดิน อากาศ และแหล่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของของผู้คนและสิ่งแวดล้อม ขยะพลาสติกเป็นวัสดุที่ใช้ระยะเวลาในหลุมฝังกลบนานถึง 450 ปี จึงจะย่อยสลายหมด รวมถึงมีขยะพลาสติกถูกส่งเข้าสู่กระบวนการจัดการอย่างถูกวิธีเพียง 19% เท่านั้น

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ PPP Plastics และ Alliance to End Plastic Waste เปิดตัว 'โครงการ ALL_Thailand เพื่อการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน' มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาต้นแบบและนวัตกรรมในการนำพลาสติกที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ประโยชน์และป้องกันพลาสติกเหล่านั้นหลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อม โดยเน้นการสร้างต้นแบบการจัดการตั้งแต่ต้นทางทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น จนถึงระดับจังหวัด ในทุกไลฟ์สไตล์ ไปจนถึงระบบและนวัตกรรมที่จะช่วยนำพลาสติกเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จภาครัฐสามารถนำไปขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของทางภาครัฐและ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทย

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สุพันธุ์ มงคลสุธี ระบุ โครงการนี้ทำให้เกิด Business Model ในการจัดการขยะ และสามารถนำไปขยายผล ในวงกว้าง เป็นประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของประเทศไทย สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในอนาคต

ประธาน PPP Plastics ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ระบุ ปัญหาพลาสติกเป็นปัญหาระดับโลก ไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาขยะในทะเลอันดับต้นๆ ของโลก โครงการ ALL Thailand มีเป้าหมายลดขยะพลาสติกในทะเลให้ได้ 50% ในปี 2570 และจะทำอย่างไรจึงจะนำขยะหมุนเวียนกลับมาใช้ได้มากที่สุดเพื่อไม่ให้ขยะพลาสติดหลุดออกไปสู่สิ่งแวดล้อม

สำหรับโครงการ ALL Thailand ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการอีโคดิจิคลีนคลองเตยนำเทคโนโลยีดิจิตอล มาช่วยในการบริหารจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง เช่น การสร้าง Application เพื่อช่วยบริหารจัดการขยะ การพัฒนาถังขยะรูปแบบใหม่กึ่งอัตโนมัติ เพื่อช่วยแยกขยะประเภทพลาสติก เพื่อเพิ่มมูลค่าของขยะพลาสติก

โครงการระยองลดขยะเป็นการขยายโมเดลการจัดการขยะระดับชุมชนและท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนไปให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดระยอง โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างชุมชนตัวอย่างในทั้ง 68 เทศบาลของจังหวัดระยอง เพื่อช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และลดปริมาณขยะพลาสติกที่ไปหลุมฝังกลบในระยองที่นับวันจะมีพื้นที่ลดน้อยลง

และโครงการเพฟวิ่งกรีนโรดศึกษาวิจัยเพื่อนำพลาสติกใช้แล้วมาเป็นส่วนผสมในถนนยางมะตอยอย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกับหลายประเทศ และในประเทศไทย

ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้มีเป็นตัวอย่างของกิจกรรมในพื้นที่ ที่มีเอกลักษณ์พิเศษที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อนำทั้ง 3 โครงการมารวมกันภายใต้โครงการ ALL_Thailand จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมที่ยิ่งใหญ่ที่จะช่วยกระจายความรู้ สร้างความเข้าใจ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในชุมชน สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ AEPW ที่ต้องการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและหยุดขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม

ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจบิซอินไซต์ รายงาน