‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘อ่อนค่า’ที่31.16บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘อ่อนค่า’ที่31.16บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินรอผลประการชุมเฟดคืนวันนี้ เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากแรงขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติหลังการแจกวัคซีนมีปัญหาอาจส่งผลต่อมาตรการคลายล็อกดาวน์ คาดวันนี้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.10-31.20บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.16 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.10-31.20 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท  เรามองว่า เงินบาทยังคงมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways เนื่องจากบนภาพเงินดอลลาร์ ผู้เล่นในตลาดก็รอคอยผลการประชุมเฟด

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ จากแรงขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากการที่นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยมากขึ้น หลังการแจกจ่ายวัคซีนในไทย เริ่มมีปัญหาขาดแคลนวัคซีน ซึ่งอาจส่งผลต่อการคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รวมถึง การทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

ทั้งนี้ เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 31.20-31.30 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวม เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบต่อไป

ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่กลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้นและขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อรอลุ้นผลการประชุมเฟดที่จะทราบในช่วงเช้าตรู่วันพฤหัสฯ ส่งผลให้ ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ หุ้นในกลุ่มเทคฯ ที่ปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเผชิญแรงเทขาย กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด -0.71% ส่วนดัชนี Dowjones ปิดลบ -0.27% และ ดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวลดลง -0.20% จากแรงเทขายทำกำไรหุ้นในกลุ่ม Cyclical

ทั้งนี้ ในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงหนุนให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นราว+0.26%  แม้ว่า หุ้นในกลุ่มเทคฯ จะเผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้างก็ตาม Adyen -1.73%, Infineon Tech. -0.75%

ทางด้านตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1.49%-1.50%  เนื่องจาก ผู้เล่นในตลาดบอนด์ต่างรอคอยผลการประชุม FOMC ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งเราคาดว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้นได้ หากเฟดมีการส่งสัญญาณปรับลดการทำคิวอี หรือ มีจำนวนเจ้าหน้าที่เฟดมากขึ้นที่มองว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ในปี 2022 หรือ 2023

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ โดยรวมทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 90.51 จุด ส่วนเงินยูโร (EUR) ก็ยังแกว่งตัวในระดับ 1.2125 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกับ เงินเยน (JPY) ที่ทรงตัวใกล้ระดับ 110 เยนต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ เรามองว่า เงินดอลลาร์ก็มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบSideways ไปจนกว่าจะทราบผลการประชุม FOMC

อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และ WTI เดินหน้าปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ราว 0.4% สู่ระดับ74.3 และ 72.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ หนุนโดยความหวังว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นจะช่วยให้ความต้องการใช้พลังงานสามารถปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องได้

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดการเงินอาจอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ในช่วงก่อนทราบผลการประชุมเฟดซึ่ง เราคาดว่า ที่ประชุมเฟด อาจมีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้น โดยอาจจะมีการปรับประมาณอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้า ดีขึ้นจากเดือนมีนาคม ราว 0.1%

ขณะที่เฟด จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิมต่อ พร้อมทั้งเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องในอัตราเดือนละ 120 พันล้านดอลลาร์ โดย คณะกรรมการเฟด อาจปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งปรับลดคิวอีของตลาด ด้วยการมองว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีอยู่ โดยเฉพาะปัญหาการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ รวมถึงการฟื้นตัวของตลาดแรงงานที่ยังไม่แน่นอน

อย่างไรก็ดี ในส่วนของ Dot Plot เรามองว่า อาจมีจำนวนเจ้าหน้าที่เฟดที่มองว่าเฟดควรขึ้นดอกเบี้ยในปี 2022 หรือ ปี 2023 เพิ่มมากขึ้น ทำให้ Median Dot Plot ในปี 2023 อาจขยับขึ้นได้ ซึ่งจะสะท้อนว่า เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในปี 2565 อย่างน้อย 1 ครั้ง