ราคาสินค้าเกษตรพุ่งกระทบ'ผู้บริโภค-ธุรกิจ'เอเชีย

ราคาสินค้าเกษตรพุ่งกระทบ'ผู้บริโภค-ธุรกิจ'เอเชีย

ราคาสินค้าเกษตรพุ่งกระทบ'ผู้บริโภค-ธุรกิจ'เอเชีย โดยดัชนีราคาอาหารโลกของเอฟเอโอเพิ่มขึ้น12เดือนติดต่อกันและเดือนพ.ค.ปรับตัวสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี

ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไล่ตั้งแต่ข้าวสาลี น้ำมันพืช ไปจนถึงน้ำตาลช่วงไม่กี่เดือนมานี้กำลังส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย

บรรดาผู้ประกอบการด้านอาหารกำลังผลักภาระราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นไปยังครัวเรือนต่างๆซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริโภคและบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจบางประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้ในสภาพแวดล้อมแบบนี้จะมีผู้ส่งออกและเกษตรกรบางกลุ่มได้ประโยชน์ก็ตาม

ดัชนีราคาอาหารมาตรฐานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ(เอฟเอโอ)ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของราคาเนื้อวัว ผลิตภัณฑ์จากนม ซีเรียล น้ำมันพืชและน้ำตาลปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 ในเดือนพ.ค.เป็น 127.1 ถือเป็นการปรับตัวสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี และตัวเลขของเดือนพ.ค.สูงกว่าปีก่อนหน้านี้ 40%

ราคาอาหารโลกปรับตัวขึ้นจากปัจจัยหลายด้านทั้งความต้องการจากจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่สุดของโลกเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องจากเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวหลังจากซบเซาเพราะผลพวงจากการระบาดของโรคโควิด-19 เร็วกว่าทุกประเทศในโลก

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องต้นทุนการขนส่งทางเรือที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสาเหตุขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และระบบห่วงโซ่อุปทานได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งประเด็นปัญหาอื่นๆเช่น ความล่าช้าในการเก็บเกี่ยวพืชเกษตรและผลผลิตอ้อยที่ลดลงในบราซิล

ยิ่งกว่านั้น ราคาโภคภัณฑ์ยังปรับตัวขึ้นเพราะเม็ดเงินลงทุนที่หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแห่งนี้ เนื่องจากบรรดานักลงทุนพยายามสร้างความหลากในการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดเงินโลกมีความผันผวนสูง

162371429788

เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น บรรดาผู้ประกอบการด้านอาหารในเอเชียจึงเลือกที่จะปรับราคาสินค้าขึ้นเพื่อชดเชยกับต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น บรรดาผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่ๆอย่างบริษัทญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีนเริ่มเคลื่อนไหวแล้ว เริ่มจากบริษัทนิชชิน ไซฟุน กรุ๊ป ผู้ผลิตแป้งสำหรับทำอาหารชั้นนำสัญชาติญี่ปุ่น ขึ้นราคาแป้งสาลีสำหรับครัวเรือนประมาณ 2-4% ในเดือนก.ค.โดยให้เหตุผลว่าเพื่อชดเชยกับการปรับตัวขึ้นของราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งรวมทั้งต้นทุนการบรรจุหีบห่อ

ส่วนบริษัทอายิโนะโมโตะ ผู้ผลิตเครื่องปรุงอาหารก็ขึ้นราคามายองเนสประมาณ 1-10% ในเดือนหน้า โดยอ้างว่าราคาน้ำมันสำหรับการบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ขณะที่ในเกาหลีใต้ ปารีส บาเกตต์ เครือข่ายเบเกอรีใหญ่สุด ปรับขึ้นราคาขนมปังประมาณ 5.6% เมื่อเดือนก.พ.เนื่องจากราคาวัตถุดิบในการทำขนมปังเพิ่มขึ้น ส่วนในจีน ราคาน้ำมันถั่วเหลืองในท้องถิ่นบางยี่ห้อเพิ่มขึ้นประมาณ 20%ในเดือนเม.ย.

ขณะที่ข้อมูลราคาผู้บริโภคอย่างเป็นทางการในบางประเทศสะท้อนถึงราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคของเกาหลีใต้เพิ่มขึ่้น 2.6% ในเดือนพ.ค.เมื่อเทียบกับปีก่อน ถอเป็นการปรับตัวขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ปี 2555 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น และเป็นที่น่าสังเกตุว่า ราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้่น 7.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ฟิลิปปินส์เองก็เจอปัญหาเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเช่นกันในปีนี้ โดยดัชนีราคาผู้บริโภคของเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 4.5% จากปีก่อนหน้า ขณะที่ราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ ปรับตัวขึ้น 4.6%

จั่ว ฮัก บิน นักเศรษฐศาสตร์จากเมย์แบงก์ กิมเอ็ง ให้ความเห็นว่า “ราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจบั่นทอนความพยายามฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รายได้ครัวเรือนที่ลดลงและประเทศที่มีฐานะยากจนจะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า เนื่องจากต้องใช้เงินจากรายได้หมดไปกับค่าอาหารที่แพงขึ้น และประเทศเหล่านี้เข้าถึงวัคซีนต้านโควิด-19ได้น้อยกว่า ทั้งยังมีข้อจำกัดด้านแหล่งทรัพยากรทางการเงินที่จะมาช่วยบรรเทาผลกระทบจากราคาอาหารแพงขึ้น”

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ระบุว่า รายได้ในภาคเกษตรของไทย ที่ไม่รวมเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ปรับตัวขึ้น 14% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวขึ้น โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศส่งออกน้ำตาลและข้าวรายใหญ่สุดของโลก

วิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทดำเนินธุรกิจด้านการเกษตร มีฐานดำเนินงานอยู่ในสิงคโปร์ แจงกำไรสุทธิช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้น2เท่าเป็น 450 ล้านดอลลาร์ อานิสงส์จากราคาน้ำมันปาล์มและน้ำตาลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า การระบาดของโรคโควิด-19 และจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในบางประเทศของเอเชียจะส่งผลกระทบต่อปริมาณสินค้าเกษตรและความต้องการด้านอาหาร และจะสร้างแรงกดดันต่อแนวโน้มด้านราคาอาหารในอนาคต

"ราคาอาหารอาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพราะปัญหาในระบบห่วงโซ่อุปทานและการล็อกดาวน์เป็นระยะๆในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร ตัวอย่างเช่น มาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกปาล์มรายใหญ่ ประกาศล็อกดาวน์ประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ส่งผลให้โรงงานผลิตทุกแห่งต้องปิดตัวชั่วคราว เนื่องจากยอดผู้ป่วยโควิด-19เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

1623714356100