'ประยุทธ์' ถกทีมเศรษฐกิจ ลุยแก้ 'หนี้' ประชาชนทั้งระบบ

'ประยุทธ์' ถกทีมเศรษฐกิจ ลุยแก้ 'หนี้' ประชาชนทั้งระบบ

“ประยุทธ์” ถกทีมเศรษฐกิจ ลุยแก้หนี้ประชาชน 5 ประเภท กยศ. หนี้ครู เช่าซื้อรถยนต์ หนี้สินอื่นๆ เล็งปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย สั่ง ธปท.ทบทวนอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียน สั่ง “สุพัฒนพงษ์"ตั้งทีมศึกษา ชงเข้า ศบศ.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยว่าวานนี้ (14 มิ.ย.) ได้หารือร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน และหน่วยงานเศรษฐกิจอื่นๆได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน 

ทั้งนี้รัฐบาลเล็งเห็นว่ามีประชาชนจำนวนมากที่มีปัญหาเรื่องหนี้สินต้องได้รับความช่วยเหลือและแก้ไขโดยมีกลุ่มต่างๆที่มีภาระหนี้สินได้แก่

1.ผู้ที่เป็นหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จำนวน 3.6 ล้านคน  ผู้ค้ำประกัน กยศ. 2.8 ล้านคน

2.หนี้ครูและข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี

3.หนี้เช่าซื้อรถยนต์ และมอเตอร์ไซด์ 6.5 ล้านบัญชี

4.หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี

และ 5.ปัญหาหนี้สินอื่นๆ ของประชาชน 51.2 ล้านบัญชี

ทั้งนี้แนวทางที่ได้มีการหารือการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ประชุมเห็นว่าการแก้ไขปัญหาหนี้ให้เบ็ดเสร็จต้องทำ 3 เรื่องควบคู่กัน คือ 1.การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน 2.การกำกับดูแลเจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม และ 3.การปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน

162367135992

ส่วนมาตรการที่นำมาคุยกันในวันนี้ มีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาวเพื่อจะแก้ปัญหาได้ทั้งระบบได้แก่ 

มาตรการระยะสั้น ได้แก่ 1.ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินเพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชน เช่น หนี้ กยศ. หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หนี้สหกรณ์ 2.ลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน ทั้งในส่วนสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์สำหรับประชาชน 3.ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของครูและข้าราชการ รวมถึงสหกรณ์ ปรับรูปแบบการชำระหนี้ รวมถึงปรับลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ไม่จำเป็น  

4.ยกระดับการกำกับดูแล เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คุ้มครองความเป็นธรรมให้ประชาชนที่เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ธปท. ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียน โดยกำกับดูแลไม่ให้การบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อของสถาบันการเงิน/สหกรณ์สร้างภาระแก่ผู้กู้จนเกินสมควร

5.เพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนามย่อม (SMEs) เช่น จัดให้มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับ SME ที่เป็น NPLs เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ การเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำและโรงรับจำนอง

ในส่วนของมาตรการระยะยาว ได้มีการพูดถึงหลักการสำคัญ คือต้องทำให้เกิดสภาพแวดล้อมของการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย และมีการคุมยอดวงเงินกู้ที่เหมาะสม เช่น รัฐต้องเร่งส่งเสริมการแข่งขันให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง เพิ่มระบบให้ผู้ฝากเงินมาเป็นผู้ให้สินเชื่อโดยรับความเสี่ยงมากขึ้นผ่านระบบดิจิทัล การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่เพื่อกำกับดูแลสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อรายย่อยเป็นการเฉพาะ การจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน เพื่อชะลอการฟ้อง อำนวยความสะดวกให้การฟื้นฟูหนี้รายบุคคลที่มีเจ้าหนี้หลายราย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการหารือในเรื่องการให้ความช่วยเหลือเด็กรุ่นใหม่/คนเกษียณที่มีภาระหนี้สิน โดยจะออกมาตรการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย เรื่องที่อยู่อาศัย และค่าเดินทางระบบขนส่งมวลชนในราคาถูก

โดยสิ่งที่คนไทยจะได้รับจากมาตรการการแก้ไขปัญหาหนี้สินก็คือ 

1. มีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้นจากภาระหนี้ที่ดอกเบี้ยลดลงได้ 2-3% ต่อปี

2. ลดปัญหาการสร้างหนี้เกินตัวลงได้ทันที

 3. เพิ่มโอกาสทางสังคมและลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรม 

4. ใช้การจัดการเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐมาแก้ไขปัญหารากแก้วโดยใช้งบประมาณรัฐน้อยที่สุด

“มาตรการทั้งหมดที่กล่าวมานี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาหามาตรการเพื่อดำเนินการ เพื่อให้เกิดกระบวนการดำเนินการให้รวดเร็วขึ้น ผมได้มอบให้มีคณะทำงานในเรื่องดังกล่าว ภายใต้ ศบศ. โดยให้รองนายกรัฐมนตรี สุพัฒนพงศ์ฯ รับผิดชอบต่อไปครับ”