เจาะลึก 3 'สายพันธุ์โควิด-19' ต้องเฝ้าระวังในประเทศไทย

เจาะลึก 3 'สายพันธุ์โควิด-19' ต้องเฝ้าระวังในประเทศไทย

ระบุ 3 'สายพันธุ์โควิด-19' ในประเทศไทยที่ต้องเฝ้าระวัง พร้อมย้ำทุกคนควรฉีดวัคซีนโควิด-19สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดการแพร่ระบาดของโรค

ฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นแนวทางในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคได้มากที่สุด เพราะหากทุกคนมีภูมิคุ้มกันการติดเชื้อก็อาจจะเป็นไปได้ยากขึ้น(แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสติดเชื้อซ้ำ) วันที่ 7 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลจึงได้มีการปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19’ ไปทั่วประเทศ ทั้งนี้ ถึงจะมีการฉีดวัคซีนโควิด-19’แต่ทุกคนก็ต้องปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรค และต้องติดตามข้อมูลไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เนื่องจาก โควิด-19 มีการกลายพันธุ์เพื่อความอยู่รอด

  • 'สายพันธุ์อังกฤษ'ครองเมือง แพร่ระบาดง่ายและเร็ว

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการแถลงข่าวเรื่อง “การเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19ในประเทศไทย”ว่าสิ่งที่ทุกคนต้องรู้ คือ ไม่มีทางจะขจัดไวรัสตัวนี้ให้หมดไปจากโลก ดังนั้น เมื่อไวรัสพยายามปรับตัวเราก็ต้องพยายามต่อสู้ปรับตัว เพื่ออนาคตจะอยู่ด้วยกันได้

162306001536

เมื่อเหตุนี้ ต้องทำความเข้าใจไวรัสตัวนี้มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมง่าย เมื่อเข้าไปในร่างกายมีการแตกลูกแตกหลาน ถ้าย้อนดูสายพันธุ์อู่ฮั่นหรือเรียกง่าย ๆสายพันธุ์ S และ L ซึ่งสายพันธุ์ S ที่เข้ามาในไทยจะเห็นว่าอยู่ไม่นานเพราะการแพร่กระจายได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ L ที่มีการไปแพร่กระจายในยุโรป และมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ G และ V

ต่อมาสายพันธุ์ G แพร่ได้ง่ายจึงกระจายทั่วโลกและแทนที่สายพันธุ์อู่ฮั่น หลังจากนั้น 'สายพันธุ์อังกฤษ' แพร่กระจายได้ง่ายจึงกลบสายพันธุ์ G เดิม ซึ่งถ้าดูการเกิดจะพบว่า'สายพันธุ์อังกฤษ'เกิดหลัง 'สายพันธุ์แอฟริกาใต้' แต่'สายพันธุ์แอฟริกาใต้'แพร่กระจายไม่ได้เร็ว ทำให้'สายพันธุ์อังกฤษ'แพร่กระจายได้ง่าย และเร็วทำให้ครองโลก ตอนนี้มี'สายพันธุ์อินเดีย'ที่แพร่กระจายง่ายกว่า'สายพันธุ์อังกฤษ'เข้ามา ทำให้เกรงกันว่า'สายพันธุ์อินเดีย'จะทำให้ระบาดเพิ่มขึ้น และมาแทน'สายพันธุ์อังกฤษ'ในอนาคต

  • น่ากังวล 'สายพันธุ์แอฟริกาใต้' หลบหลีกภูมิต้านทาน

“สิ่งที่สำคัญขณะนี้ คือ 'สายพันธุ์โควิด-19'สายพันธุ์ไหน กระจายได้เร็ว และติดต่อง่าย สายพันธุ์นั้นจะขึ้นมาครองโลกแทนที่สายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งการแพร่กระจายไม่ได้บอกความรุนแรงของโรค ปีนี้ดูรุนแรงกว่าปีที่แล้ว เพราะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่เมื่อดูอัตราการเสียชีวิตขณะนี้อยู่ที่ 1% หรือวันละ 30 คน ซึ่งจะบอกว่าสายพันธุ์ดั่งเดิมกับสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์ไหนจะรุนแรงกว่ากันนั้นไม่สามารถสรุปได้” ศ.นพ.ยง กล่าว

162305377151

ศ.นพ.ยง กล่าวต่อว่า'สายพันธุ์แอฟริกาใต้'ที่น่ากังวล เพราะเป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่หลบหลีกภูมิต้านทานได้ ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง จึงต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 'สายพันธุ์แอฟริกาใต้'และ 'สายพันธุ์บราซิล'

  • 3'สายพันธุ์โควิด-19'น่าเป็นห่วง ต้องเฝ้าระวังในประเทศไทย 

การศึกษาของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ ได้มีการเปรียบเทียบการกลายพันธุ์ของโควิดกับไข้หวัดใหญ่ พบว่า การกลายพันธุ์โควิดมีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่ แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด ซึ่งหวังว่าถ้าทุกคนมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นทำให้การเปลี่ยนแปลงของไวรัสน้อยลง

โรคนี้ก็จะเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคหนึ่งที่จะอยู่กับทุกคน จำเป็นต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันโรคและลดความรุนแรงการแพร่ระบาด เราไม่ต้องเกรงกลัว แต่ขอให้ทุกคนฉีดวัคซีนให้หมด สายพันธุ์ไหนก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าสายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วงในประเทศไทยจากการระบาดระลอกเดือนเม.ย.-พ.ค.2564 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เฝ้าระวังสายพันธุ์ที่น่ากังวล 3 สายพันธุ์ คือ 'สายพันธุ์อังกฤษ'3,595 ตัวอย่าง 'สายพันธุ์อินเดีย' 235 ตัวอย่าง และ'สายพันธุ์แอฟริกาใต้' 26 ตัวอย่าง พบว่า

162306324793

'สายพันธุ์อังกฤษ' เป็นต้นเหตุของการระบาดในเดือนเม.ย.-พ.ค.2564 เกือบทุกจังหวัดของประเทศไทยหรือเรียกได้ว่า'สายพันธุ์อังกฤษ'ครองเมืองอยู่

'สายพันธุ์อินเดีย' พบในกทม.มากสุด ประมาณ 206 ราย และมีการกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้ อุดรธานี 17 ราย นนทบุรี พิษณุโลก สระบุรี นครราชสีมา จังหวัดละ 2 ราย ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี สมุทรสงคราม และบุรีรัมย์ จังหวัดละ 1 ราย

'สายพันธุ์แอฟริกาใต้' พบรายงานครั้งแรกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากสายพันธุ์นี้ระบาดในรัฐกลันตันของประเทศมาเลเซีย พบได้จากกลุ่มบุคคลที่เดินทางข้ามพรมแดนไทยและมาเลเซีย โดยพบในพื้นที่ตากใบที่เดียว ยังไม่มีการกระจายไปที่อื่นๆ แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการเฝ้าระวังใกล้ชิดสำหรับผู้ป่วยในจังหวัด ปัตตานี สงขลา และนราธิวาส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: จาก ‘ชื่อพันธุ์โควิด’ สู่ ‘วัคซีนทางเลือก’

                     ทำความรู้จัก 'สายพันธุ์โควิด -19' ในไทย

                     ส่อง 4 อันดับ'โควิด 19' สายพันธุ์ไหน ดื้อต่อวัคซีน

  • ถอดรหัสพันธุกรรม ระบุแต่ละ'สายพันธุ์โควิด-19'

ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ มีการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมไวรัสก่อโรคโควิด -19 ใน 3 รูปแบบ คือ 1.ตรวจสอบรหัสพันธุกรรม 40 ตำแหน่งอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 วัน เพื่อแยกแยะไวรัส'สายพันธุ์โควิด-19'ที่เป็นปัญหาในประเทศ สามารถตรวจได้ 1,000 ตัวอย่างต่อสัปดาห์

 2.ถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ทั้งจีโนมด้วยเทคโนโลยีการถอดรหัสสายยาว Long-Read Sequencing ด้วย Oxford-Nanopore Technologies (ONT) sequencing เวลาดำเนินการ 2 วัน เหมาะสำหรับการตรวจไวรัสลูกผสม (hybrid of COVID-19 variants) หรือการติดเชื้อสองสายพันธุ์ในคนเดียวกันในเวลาเดียวกัน (co-infection)

162306340930

3.ถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ทั้งจีโนมด้วยเทคโนโลยีการถอดรหัสสายสั้น Short-Read Sequencing ด้วย Next-generation DNA sequencing (NGS) เวลาดำเนินการ 4-5 วัน เพื่อติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 (COVID-19 variants)

“ขณะนี้มีการถอดรหัสพันธุกรรมกว่า 30,000 รหัสพันธุกรรม ซึ่งจากการถอดรหัสพันธุ์กรรมจะทำให้หาแนวทางในการป้องกันและควบคุมโรคได้ อย่าง สายพันธุ์แอฟริกาใต้ในประเทศไทยที่มีการกระจายอยู่ในตากใบ ทำให้พบว่ามีการแพร่กระจายอยู่ที่เดียว และเป็นการแพร่กระจายจายเชื้อแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้กระจายเชื้อได้เร็วเหมือนสายพันธุ์อังกฤษ หรือสายพันธุ์อินเดีย ขณะที่สายพันธุ์อังกฤษพบในพื้นที่ตากใบเพียง 1%เท่านั้น”ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ Phylogenetic analysis หรือการสืบสายพันธุกรรม พบว่าประเทศไทยตรวจพบ 'สายพันธุ์โควิด-19' ได้หลากหลาย และเมื่อวิเคราะห์สายพันธุ์เปรียบเทียบกับที่พบระบาดทั่วโลก พบว่าเชื้อกลายพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นเชื้อที่นำเข้ามาจากประเทศอื่น ในปัจจุบันประเทศไทยไม่พบการกลายพันธุ์ที่พบได้เฉพาะในประเทศ