ภาคอุตสาหกรรม จ.ตรัง ควักกระเป๋ากว่า 24 ลบ. ซื้อวัคซีนโควิด

ภาคอุตสาหกรรม จ.ตรัง ควักกระเป๋ากว่า 24 ล้านบาท จัดซื้อวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์มฉีดให้แก่พนักงาน พร้อมประกาศชะลอรับคนงานใหม่แม้ขาดแคลนแรงงาน หวั่นซ้ำรอยคลัสเตอร์ถุงมือยาง พร้อมเตรียมแผนรับมือหากเกิดการระบาดขึ้นภายในโรงงานตนเอง

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 64 หลังเกิดคลัสเตอร์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ขึ้นในโรงงานผลิตถุงมือยางของบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ ทำให้ต้องทำการตรวจหาเชื้อ Swap พนักงานทั้งหมด 1,597 คน เบื้องต้น ติดเชื้อแล้ว 117 คน จากยอดผู้ตรวจทั้งหมด 700 คน และต้องผลตรวจเชื้อที่เหลืออีกประมาณ 800 ราย ซึ่งจะทราบผลภายในวันนี้และพรุ่งนี้

ล่าสุด นางพรทิพา อัครสุต อุตสาหกรรมจังหวัดตรัง พร้อมด้วยตัวแทนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมใน จ.ตรัง เร่งหารือกันเรื่องการจัดซื้อวัคซีนทางเลือก โดยยืนยันว่าล่าสุด นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้ลงนามอย่างรวดเร็วให้สภาอุตสาหกรรมจัดซื้อวัคซีนทางเลือกได้ เบื้องต้น ขอไปจำนวน 12,000 โดส หากได้ตามจำนวนต้องมาคิดว่าให้ใครที่ไหนก่อน เพื่อให้เกิดความยุติธรรมที่สุดให้กับสถานประกอบการในจังหวัดตรัง และลดการแพร่เชื้อให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจของจังหวัดตรัง ซึ่งอาจต้องแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มแปรรูปอาหารทะเล โรงงานปาล์มน้ำมัน โรงงานแปรรูปยาง โรงงานแปรรูปไม้ยาง เป็นต้น เพื่อให้ครอบคลุมโรงงาน ซึ่งความจริงคนงานมากกว่านั้น แต่เบื้องต้นเอาจำนวนเท่านี้ เพราะบางคนได้จองผ่านหมอพร้อมแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการโดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่มีความตื่นตัวมาก และความกลัวจะเกิดระบาด เพราะตอนนี้มีกรณีศึกษาที่เกิดกับโรงงานถุงมือยาง ทุกโรงงานจึงใช้มาตรการแยกคนทำงานไม่ให้สัมผัสกัน หรือ น้อยสุด จนไม่สัมผัสกันเลย โรงงานขนาดใหญ่พนักงานประมาณ 1,600 คน ก่อนนำวัสดุเข้าโรงงานก็ต้องฉีดฆ่าเชื้อ พอจะส่งออกก็ต้องฆ่าเชื้ออีก และให้ความรู้แก่คนงาน

ด้าน นายประชา งามรัตนกุล ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตรัง กล่าวว่า ขณะนี้มีการแพร่ระบาดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมหลายจังหวัดไม่ใช่เฉพาะในจ.ตรัง เช่น จ.เพชรบุรี จ.สระบุรี โดยจุดของการแพร่ระบาด คือ เราขาดคนงาน เพราะไม่สามารถนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาได้ ในขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมยังต้องดำเนินการผลิต และต้องหาแรงงานมาเสริมกำลังการผลิต เมื่อมีคนมาสมัครงาน ก็ต้องรับเข้าทำงาน โดยไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าคนที่มาสมัครติดเชื้อมาหรือไม่ ซึ่งสำหรับกรณีในจังหวัดตรัง ส่วนหนึ่งก็เป็นคนงานที่รับเชื้อมาก่อนจากจ.เพชรบุรี และย้ายกลับมาภูมิลำเนาที่ตรัง ผู้ประกอบการเองจะไม่ทราบเลยว่าเขามาจากไหน เมื่อทราบจุดอ่อนตรงนี้แล้ว 

ทางสภาอุตสาหกรรมได้ตกลงกันว่าในช่วงระยะนี้ ที่ไม่สามารถบริหารจัดการอะไรได้มาก เราต้องหยุดรับพนักงานใหม่ และได้แจ้งไปยังผู้สมัครงานไปกักตัวเอง 14 วัน แล้วนำหนังสือรับรองการกักตัวจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อสม. เราจึงจะให้เริ่มงานได้ โดยภาคอุตสาหกรรมจ.ตรัง ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก มีทั้งแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติรวมกันกว่า 20,000 คน แบ่งเป็น แรงงานในระบบ (อยู่ในระบบประกันสังคม) และแรงงานนอกระบบ ที่ทำงานรับเหมา หรือ งานเฉพาะกิจบ้าง ใน 20,000 กว่าคน บางรายได้ไปสมัครในหมอพร้อม และได้ลงชื่อในแบบสำรวจของสาธารณสุข โดยเขายินดีรอวัคซีนตามที่รัฐจัดให้ ดังนั้นวัคซีนทางเลือก 12,000 โดส เราซื้อด้วยตนเอง ต้องเอามาใช้กรณีเร่งด่วน หรือใช้ในพนักงานซึ่งเคลื่อนไหวเข้าออกตลอดเวลา เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้น้อยลง เบื้องต้น ต่อคนต้องฉีด 2 โดส ค่าใช้จ่ายตกคนละประมาณ 2,000 กว่าบาท ดังนั้นภาคอุตสาหกรรม จ.ตรัง ต้องใช้งบประมาณมากกว่า 24 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อวัคซีนเร่งด่วนครั้งนี้