ส่งออก เม.ย.พุ่ง13.09% 'จุรินทร์' ชี้พ้นจุดต่ำสุด

ส่งออก เม.ย.พุ่ง13.09%  'จุรินทร์' ชี้พ้นจุดต่ำสุด

“จุรินทร์”เผยส่งออกไทย เม.ย.ขยายตัว 13.09% ปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ชี้ ความต้องการสินค้าทำงานที่บ้านมากขึ้น มั่นใจพ้นจุดต่ำสุด เร่งแก้ปัญหาขาดตู้สินค้า เผย 25 พ.ค.นี้มีเรือขนตู้เปล่ามาเพิ่มหมื่นตู้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า การส่งออกของไทยขณะนี้เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เนื่องจากตัวจักรสำคัญอย่างการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งตัวเลขการส่งออกไทยในเดือน เม.ย.2564 ขยายตัว 13.09% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากเดือน มี.ค.ที่ขยายตัว 8.47% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ปรับดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 

ทั้งนี้ จากข้อมูลดังกล่าวสามารถยืนยันได้เลยว่าการส่งออกของไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป้าหมายการส่งออกในปี 2564 ตั้งไว้ที่ 4.0% และผ่านมา 4 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า การส่งออกของไทยก็ขยายตัวเกิน 4% แล้ว แต่กระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีการทบทวนปรับเป้าการส่งออก โดยจะมีการทำงานเชิงรุกเพื่อผลักดันการส่งออกของไทยอย่างต่อเนื่อง และจะพยายามให้การส่งออกมีอัตราการขยายตัวเกินเป้าหมายให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

“กระทวงพาณิชย์ยังไม่มีการปรับเป้าส่งออกใหม่ เพราะเป้าคือตัวเลข แต่การทำงานเชิงรุกต้องทำตลอดเวลา หลักคือการทำให้เกินเป้าให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ไม่จำเป็นต้องปรับเป้าให้เกิดการสับสน หรือจะเป็นอัตราการขยายตัว 5-10% ได้ยิ่งดี และต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคยุค New Normal ซึ่งผมได้สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว”นายจุรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้การส่งออกของไทยทรุดหนักตัวเลขการส่งออกติดลบมาโดยตลอดตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 โดยเฉพาะในเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว การส่งออกติดลบถึง 23 % จากนั้นก็เริ่มติดลบน้อย จนกระทั่งเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว การส่งออกได้กลับมาเป็นบวกแต่ไม่มากนัก โดยปัจจุบันมูลค่าการส่งออกของไทยดีขึ้นเป็นลำดับ และการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนได้ขึ้นมาแตะระดับ 20,000 ล้านดอลลาร์

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ตัวเลขการส่งออกของไทยดีขึ้นมาจาก 2 ปัจจัย คือ

1.เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มมากขึ้นหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลงในหลายประเทศ รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านหรือ Work from home มีความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น 

2.การบริหารจัดการด้านการส่งออก โดยเมื่อเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการกำหนดแผนการผลักดันการส่งออกชัดเจนที่นำการส่งออกประสบความสำเร็จ โดยส่วนแรกได้ตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและะเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ที่มีกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

คณะกรรมการดังกล่าวได้ร่วมมือกันทำงานผลักดันการส่งออก เมื่อมีปัญหาก็ร่วมกันแก้ไข ล่าสุดปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า ทางกรอ.พาณิชย์ก็ได้เข้าไปแก้ไขโดยตนได้มีการประสานให้เรือขนาดใหญ่ที่มีความยาว 400 เมตรสามารถเข้ามาเทียบท่าเพื่อนำตู้เปล่าเข้ามา ซึ่งในวันที่ 25 พ.ค.นี้ เรือขนาดใหญ่ลำที่ 2 ก็จะเข้ามาอีกและจะขนตู้เปล่าอีก 6,000-10,000 ตู้เข้ามาอีก

ส่วนที่เหลือ คือ การปรับปรุงการทำงานของทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัด เพื่อให้เป็นเซลล์แมนประเทศและเซลล์แมนจังหวัด ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าทีมเซลล์แมน โดยเฉพาะทูตพาณิชย์ที่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้เจรจาและทำหน้าที่เป็นผู้ขายสินค้าให้กับประเทศด้วย 

รวมทั้งมีแผนงานเพื่อการผลักดันการส่งออกที่ชัดเจน ซึ่งก็จะมีการประเมินผลด้วย นอกจากนี้การเจรจาซื้อขายสินค้าก็ต้องปรับตัวรองรับยุค New Normal ทั้งเรื่องการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ จัดงานแสดงสินค้าผ่านระบบไฮบริด การเดินหน้านโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด โดยเฉพาะผลไม้ไทยทั้งทุเรียน มังคุด ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ซึ่งจากการทำงานของกระทรวงพาณิชย์จนถึงปัจจุบันก็เห็นผลสัมฤทธิ์ และแม้จะมีการระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในปัจจุบันแต่การส่งออกของไทยกลับมาดีขึ้นแล้ว

นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์การส่งออกที่ต้องเดินต่อไปในการผลักดันการส่งออกผ่าน 3 ตลาด คือ

1.รักษาตลาดเดิมไว้ เช่น สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ 

2.หาตลาดใหม่ เช่น รัสเซีย กลุ่มประเทศยูเรเซีย มองโกเลีย อินเดีย

3.ฟื้นตลาดเก่าที่เสียไปให้กลับมาเหมือนเดิม เช่น ตลาดตะวันออกกลาง อิรัก ซาอุดิอาระเบีย บาร์เรน การเดินหน้าข้อตกลงทางการค้าต่างๆทั้งข้อตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ ไม่ว่าจะเป็นไทย-อียู ไทย-สหราชอาณาจักร และไทย-กลุ่มประเทศยูเรเชีย 

นอกจากนี้ยังจะเร่งทำมินิเอฟทีเอกับมณฑล หรือรัฐของประเทศต่างๆด้วย ล่าสุดได้ทำมินิเอฟทีเอกับมณฑลไหหนาน ประเทศจีน มินิเอฟทีเอกับรัฐตรังกานู ประเทศอินเดีย นอกจากนี้จะเดินหน้าผลักดันให้ไทยเป็นครัวไทยเป็นครัวโลก โดยผลักดันอาหารเพื่อการส่งออก ทั้งอาหารมังสวิรัติ อาหารฮาลาล อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารแนวใหม่