พาณิชย์ นัดถกเอกชนทบทวนเป้าส่งออกใหม่

พาณิชย์ นัดถกเอกชนทบทวนเป้าส่งออกใหม่

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นัดประชุมภาคเอกชน 18 พ.ค.นี้ ประเมินสถานการณ์และเป้าหมายการส่งออกใหม่ หลังสถานการณ์เปลี่ยน พบแนวโน้มดีขึ้น ทั้งการส่งออกรายสินค้า และรายตลาด คาดปีนี้ ยอดส่งออกโตกว่าเป้า 4% แน่ ส่วนจะเพิ่มเท่าไร รอชง “จุรินทร์” เคาะ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า วันที่ 18 พ.ค.2564 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีกำหนดนัดประชุมประเมินสถานการณ์การส่งออกประจำไตรมาส 2 ปี 2564 ร่วมกับภาครัฐและเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อร่วมกันประเมินแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เพราะจากการติดตามสถานการณ์ล่าสุด การส่งออกไตรมาสแรกของปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 64,148.03 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.27% ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวได้แล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ติดลบมาโดยตลอด

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกปี 2564 ว่าจะขยายตัวที่ 4แต่เป้าหมายดังกล่าว เป็นการประเมินมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ และภาคเอกชน แต่ปัจจุบันสถานการณ์ที่เป็นผลกระทบ อย่างโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ของไทย มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้ามากขึ้น จึงต้องมีการประเมินเป้าการส่งออกรายประเทศ และรายสินค้าใหม่

  162098545789          

“จะมีการประเมินร่วมกับภาคเอกชนในส่วนแรกก่อน และเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะมีการหารือกับทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ และความเป็นไปได้อีกครั้ง จากนั้น จะมาดูว่า จะมีการปรับเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่แนวโน้มน่าจะปรับขึ้น และเติบโตได้มากกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 4% อย่างแน่นอน ส่วนจะเป็นเท่าไร ต้องรอผลประเมินก่อน และเมื่อได้ตัวเลขแล้ว ก็จะเสนอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณาต่อไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานมันสมองของกระทรวงพาณิชย์ ได้ประเมินแนวโน้มการส่งออกไว้ว่า ตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป การส่งออกจะมีทิศทางเติบโตดีขึ้นต่อเนื่อง โดยหากส่งออกได้เฉลี่ยต่อเดือนที่มูลค่า 19,624 ล้านดอลลาร์ จะขยายตัว 4% เฉลี่ยมูลค่า 20,134 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 6% และเฉลี่ยมูลค่า 20,391 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 7%

สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลดีต่อการส่งออก มาจากกองทุนการเงินระหว่างระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2564 ว่าจะขยายตัว 6.0% จากเดิม 5.5% เนื่องจากได้แรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดของสหรัฐฯ และการเร่งฉีดวัคซีนทั่วโลก เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยปรับตัวดีขึ้น เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 6.4% จีน เพิ่ม 8.4% ญี่ปุ่น เพิ่ม 3.3% และประเทศในทวีปยุโรป เพิ่ม 4.4% ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคและความต้องการนำเข้าสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน