'คลัสเตอร์คุก' วิกฤติปิดเงียบ เปิดเหตุระบาดหนักเรือนจำ

'คลัสเตอร์คุก' วิกฤติปิดเงียบ เปิดเหตุระบาดหนักเรือนจำ

แม้ 'ราชทัณฑ์' จะมั่นใจในระบบควบคุมโรค แต่การปิดบังหรือให้ข้อมูลล่าช้า อาจส่งผลกระทบกับตัวผู้ต้องขัง และ ครอบครัว ท่ามกลาง 'ข่าวลือ-ข่าวปล่อย' ซึ่งไม่รู้ว่าอันไหนจริงอันไหนเท็จ อาจนำพาซึ่งความเครียด หวาดกลัว จนทำให้เกิดเหตุ 'จลาจล'

มาตรการ "คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้าและกักกันโรคที่แดนแรกรับของ ราชทัณฑ์  นอกจากจะไม่สามารถยับยั้งการแพร่ระบาด โควิด-19 รอบ 3 ทะลุทะลวงเข้าเรือนจำหลายแห่ง จาก 143 เรือนจำทั่วประเทศแล้ว การปกปิดข้อมูลไม่พูดความจริง อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธ์ และเสี่ยงทำให้เกิด 'จลาจล' ได้เช่นกัน

ทันที 'จัสติน' นายชูเกียรติ แสงวงค์ หนึ่งใน 'แกนนำราษฎร' ถูกคุมขังใน เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ติดเชื้อโควิด เมื่อ 23 เม.ย. นำมาซึ่งคำถามถึง ความปลอดภัยของผู้ต้องขังทุกคน จำนวนผู้ติดเชื้อ และข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีที่ยังไม่ถึงที่สุด เพื่อลดความเสี่ยง 

แม้ที่ผ่านมา 'กรมราชทัณฑ์' ไม่ได้นิ่งนอนใจ และออกแถลงการณ์ทุกครั้งเพื่อให้สังคมและครอบครัวของผู้ต้องขังรับทราบถึงแนวทางปฏิบัติหลังพบผู้ติดเชื้อ ทั้งการส่งผู้ป่วยรักษาตัวโรงพยาบาลทัณฑสถานกลาง การคัดแยกผู้สัมผัสที่เป็นทั้ง 'เจ้าหน้าที่ -ผู้ต้องขัง' เพื่อตรวจหาเชื้อและกักตัวตามมาตรการควบคุมโรค

แต่ขณะเดียวกัน 'กรมราชทัณฑ์' ก็ไม่เคยเปิดเผยสถานการณ์และตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ จนกระทั้ง นายอานนท์ นำภา ตรวจพบเชื้อ 'โควิด' เนื่องจาก นอนร่วมห้องกับ 'จัสติน' ท่ามกลางข้อห่วงใยของครอบครัวและเพื่อนๆว่า 'เพนกวิน' นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่สภาพร่างกายอ่อนแอจากการอดอาหาร จะเสี่ยงติดเชื้อไปอีกคน

และทุกอย่างก็มา 'โป๊ะแตก' เมื่อ 'รุ้ง' น.ส.ปนัสยา สิทธิจิระวัฒนากุล ติด 'โควิด'อีกราย หลังออกจาก 'ทัณฑสถานหญิง' เพียงไม่กี่วันเนื่องจากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวทำให้ 'กรมราชทัณฑ์' จำยอมเปิดเผยสถานการณ์และจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งสองเรือนจำ ป้องกันข้อครหา ปกปิดข้อมูลไทม์ไลน์การรักษาจนพบ 'คลัสเตอร์' ใหญ่ที่น่าตกใจ

ทัณฑสถานหญิงกลาง มียอดผู้ติดเชื้อรวม 1,040 ราย ส่วน เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (มีเฉพาะผู้ต้องขังเพศชาย ในคดีทั่วไปไม่มีคดียาเสพติด) มียอดผู้ติดเชื้อรวม 1,795 ราย รวมผู้ติดเชื้อทั้งสองเรือนจำ จำนวน 2,835 ราย

ส่วนที่มาของเชื้อโควิดนั้น วิเคราะห์กันว่า  มีโอกาสมาจากทั้ง ผู้คุม  คนส่งของให้เรือนจำ ที่เข้า-ออกได้ทุกวัน รวมถึง จำเลย นักโทษที่นำตัวไปศาล และผู้ต้องขังแรกเข้า กับ กิจวัตรประจำวันผู้ต้องขัง แม้ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แต่ในระหว่าง 'อาบน้ำ -กินข้าว-นอน'ต้องทำร่วมกันจึงมีโอกาสติดเชื้อสูง และพบข้อมูลจากแกนนำราษฎร ว่า ภายในเรือนจำไม่มีแอลกอฮอล์บริการ

อย่างไรก็ตาม 'กรมราชทัณฑ์' ได้ชี้แจงประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของ 'โควิด' มีการกระจายเป็นวงกว้างในทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงเรือนจำและทัณฑสถาน จึงเชื่อว่า การรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่และนำผู้ต้องขังออกศาลอยู่เสมอ เป็นปัจจัยทำให้มีการหลุดรอดของเชื้อเข้าสู่เรือนจำ

ทั้งนี้ 'กรมราชทัณฑ์ 'ได้ป้องกันอย่างเต็มที่ด้วยมาตรการเชิงรุก คือ แยกกักตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่อย่างน้อย 21 วัน พร้อมตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง ก่อนผู้ต้องขังพ้นระยะแยกกักโรค และการตรวจพบการติดเชื้อของผู้ต้องขังที่ผ่านมา เป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับ ผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ 

พร้อมยืนยันว่า สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยเรือนจำทัณฑสถาน ทุกแห่งมีมาตรการอย่างเคร่งครัดเพราะมีการควบคุม บับเบิ้ลแอนด์ซีล เช่น กรณีเรือนจำจังหวัดนราธิวาส ที่มีผู้ต้องขังติดเชื้อก็สามารถดูแลรักษาจนหาย และไม่มียอดผู้ติดเชื้ออยู่ในเรือนจำ

อีกทั้งมาตรฐานการดำเนินการของกรมราชทัณฑ์.สามารถควบคุมการแพร่ระบาด 'โควิด' ไม่ขยายตัวไปสู่วงกว้าง เนื่องจากมีแดนกักโรคและโรงพยาบาลสนาม โดยมีแพทย์และพยาบาลดูแลใกล้ชิด และยารักษาและการดูแลเป็นไปตามมาตรฐาน สธ. รวมทั้งมีแผนฉีดวัคซีนให้ผู้ต้องขัง ที่อยู่ระหว่างรอการจัดสรรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

และที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุกในเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง ซึ่งในส่วนของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้ตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ไปแล้วกว่า 17,000 ครั้ง ทำให้คัดแยกผู้ติดเชื้อไปรักษาได้รวดเร็ว สามารถแยกผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยงออกมากักตัว เพื่อสังเกตอาการได้เป็นอย่างดี 

แม้ 'ราชทัณฑ์' จะมั่นใจในระบบควบคุมโรค แต่การปิดบังหรือให้ข้อมูลล่าช้า อาจส่งผลกระทบกับตัวผู้ต้องขัง และ ครอบครัว ท่ามกลาง 'ข่าวลือ-ข่าวปล่อย' ซึ่งไม่รู้ว่าอันไหนจริงอันไหนเท็จ อาจนำพาซึ่งความเครียด หวาดกลัว จนทำให้เกิดเหตุ 'จลาจล' เหมือน ที่ จ.บุรีรัมย์ เมื่อต้นปี 2563

หลังผู้ต้องขังกลุ่มหนึ่งเผาเรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ จนทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง มีนักโทษหลบหนี 11 ราย และตามจับตัวกลับมาได้ทั้งหมด แต่เมื่อสอบสวนพบว่า ผู้ต้องขังมีภาวะเครียด เพราะมีคนปล่อยข่าวว่ามีผู้ต้องขังติด'โควิด-19' ประกอบกับกฎระเบียบเรือนจำที่เข้มงวด ห้ามเยี่ยมเป็นที่มาของการก่อเหตุดังกล่าว

ในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ การพูดความจริง เปิดเผยข้อมูล ให้ผู้ต้องขังและญาติเข้าใจสถานการณ์ และเปิดช่องทางติดต่อสื่อสารผ่านวิดีโอคอล ควบคู่ไปกับการลดความแออัดของเรือนจำ ด้วยการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังในคดีลหุโทษ หรือผู้ต้องขังการเมืองที่คดียังไม่สิ้นสุด น่าเป็นทางออกขจัดข้อขัดแย้งของทุกฝ่ายแบบ วิน-วิน