พิษ!โควิด ตลาดกังวลการใช้น้ำมันในอินเดียกดดันราคาลด

พิษ!โควิด ตลาดกังวลการใช้น้ำมันในอินเดียกดดันราคาลด

“ไทยออยล์” ชี้ราคาน้ำมันลด เหตุตลาดกังวลความต้องการใช้น้ำมันในอินเดียมีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังโควิด-19 ระบาดหนัก ขณะที่การใช้ในสหรัฐและยุโรปดีขึ้น หลังคลายมาตรการปิดเมืองเพิ่มเติม

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ พบว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2564 ราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัส ปิดที่ 64.71 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 0.92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล น้ำมันเบรนท์ ปิดที่ 68.09 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 0.87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และน้ำมันดูไบ ปิดที่ 67.26 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  ลดลง 0.64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มปรับลดลง โดยเฉพาะอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำมันอันดับ 3 ของโลก โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในอินเดียยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องแตะระดับสูงสุดในรอบประวัติการณ์ที่ 4.1 แสนราย

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและได้เข้าสู่หลายพื้นที่ในชนบท ซึ่งกว่า 70% ของประชากรอาศัยอยู่ในชนบท โดยจากการแพร่ระบาดที่ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้มีการประกาศขยายระยะเวลาของมาตรการล็อกดาวน์ในหลายรัฐในอินเดียออกไปเพิ่มเติม

162036096646

อย่างไรก็ตาม สำนักงานสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ  ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับลดลงกว่า 8 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดไว้ว่าจะลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล  สาเหตุหลักมาจากการส่งออกน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบสุทธิของสหรัฐฯ แตะระดับต่ำสุดในรอบ 40 ปี

อีกทั้งยังมีปัจจัยหนุน จากความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ และยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น หลังสหรัฐฯ เตรียมผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองเพิ่มเติม ขณะที่ยุโรปอยู่ระหว่างการหารือเพื่อเปิดดำเนินการท่องเที่ยวมากขึ้น

162036089636

ส่วนทิศทางราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2564 พบว่า ราคาน้ำมันเบนซิน ปิดที่ 78.02 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 0.47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และดีเซล ปิดที่ 72.34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 0.63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ

หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ของอินเดียที่มีแนวโน้มปรับลดลง และการส่งออกของไต้หวันที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่น้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปทานในภูมิภาคที่ปรับลดลง และการส่งออกไปยังแถบประเทศฝั่งตะวันตกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน