สธ.เผยตัวเลขติด'โควิด19'จากครอบครัว-เพื่อนพุ่งขึ้น

สธ.เผยตัวเลขติด'โควิด19'จากครอบครัว-เพื่อนพุ่งขึ้น

สธ.เผยตจว.แนวโน้มโควิด19ลดลง ขณะที่กทม.-ปริมณฑลยังเพิ่มขึ้น เผย 54%ติดเชื้อจากครอบครัว-เพื่อน ขอคนไทยร่วมมือลดผู้ติดเชื้อใหม่ คาด 1-2สัปดาห์สถานการณ์ในรพ.จะดีขึ้น ส่วนวัคซีน ช่วงพ.ค.วัคซีนซิโนแวคมาอีก 2.5ล้านโดส ระดมฉีดพื้นที่ระบาด

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 4 พ.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด 19
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ในต่างจังหวัดสถานการณ์ค่อนข้างคงตัว จุดสำคัญถ้าจะลดการระบาด คือ ต้องจัดการพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะกลุ่มก้อนใหญ่ อย่างชุมชนแออัดหลายชุมชน โดยหากควบคุมสถานการณ์ได้ และพี่น้องประชาชนร่วมมือกัน เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน เจ้าหน้าที่กทม.ร่วมมือกันทั้งหมดจะควบคุมสถานการณ์ได้

"ในวันที่ 4 พ.ค.พื้นที่กรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อ 563 ราย ส่วนปริมณฑล 249 คน กรุงเทพและปริมณฑลพบ 956 ราย แต่จังหวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่ 58 จังหวัดมีผู้ป่วยไม่ถึง 20 ราย และ20 รายขึ้นไป 15 จังหวัด แสดงว่าสถานการณ์ต่างจังหวัดน่าพอใจ แม้จะพบผู้ป่วย แต่มาตรการติดตามค้นหายังทำได้ดี ต่างจังหวัดค่อนข้างเบาใจได้ แต่ก็ต้องเคร่งครัดมาตรการต่างๆเช่นเดิม ทั้งมาตรการส่วนบุคคล องค์กร ชุมชนต่อไป ยังวางใจไม่ได้"นพ.โอภาสกล่าว

1-2สัปดาห์สถานการณ์ในรพ.จะดีขึ้น
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ผู้ติดเชื้อในสัปดาห์ก่อนๆเริ่มทยอยหาย ทำให้ช่องว่างในกราฟระหว่างผู้ติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์กับผู้รักษาหายค่อยๆแคบลง หากเป็นแบบนี้ประมาณ 1-2 สัปดาห์หากประชาชาร่วมมือกันลดผู้ป่วยใหม่ให้น้อยลงสถานการณ์การรักษาในรพ.จะดีขึ้น โดยสถานการณ์เตียงของกรุงเทพฯ และปริมณฑล จพเห็นว่ากลุ่มสีเขียว ผู้มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการจะไม่มีปัญหา เพราะมีรพ.สนาม มีฮอสพิเทล แต่ที่ต้องจับตา คือ ผู้ป่วยสีแดง ซึ่งต้องใส่เครื่องช่วยหายใจและต้องอยู่ห้องไอซียู ขณะนี้มีเตียงรองรับได้อยู่ 173 เตียง หากสถานการณ์เป็นแบบนี้ยังพอรับได้ แต่ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้สั่งการเพิ่มศักยภาพ รพ. ให้จัดหาไอซียูเพิ่มเติม ส่วนผู้อาการปานกลางสีเหลือง ได้ให้รพ.ในสังกัดสธ.เพิ่มศักยภาพ ซึ่งขณะนี้มีเตียงเพิ่มอีก 2 พันกว่าเตียง

ตรวจแล็บเฉลี่ย5-6หมื่นตัวอย่าง/วัน

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการ(แล็บ)ตรวจไปแล้วเกือบ 5 ล้านตัวอย่าง บางวันขึ้นไปถึง 7 หมื่นตัวอย่างต่อวัน โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 หมื่นตัวอย่างต่อวัน อย่างวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมาตรวจไปแล้ว 41,357 ตัวอย่าง เฉพาะการตรวจเชิงรุก 10,729 ตัวอย่าง พบผู้ติดเชื้อ 2 % และภาพรวมพบติดเชื้อ 1,754 ราย คิดเป็น 4 % ซึ่งแนวโน้มการติดเชื้อเริ่มน้อยลง แต่ก็ต้องพิจารณาข้อมูลหลายส่วนพร้อมกัน

54%ติดเชื้อจากครอบครัว-เพื่อน
“ขณะนี้พบการติดเชื้อคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงานสูงถึง 54%ของผู้ติดเชื้อ ดังนั้น ทุกองค์กร หรือครอบครัวขอให้ใส่หน้ากากอนามัยให้บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยเฉพาะในที่ทำงานขอให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอด และอย่ากินข้าวร่วมกัน และอยู่ในบ้านที่มีผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัว ขอให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องใกล้ชิด เพราะหากทำได้จะลดผู้ติดเชื้อลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง” นพ.โอภาส กล่าว

กำชับสถานประกอบการเคร่งมาตรการ
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วนเหตุการณ์การระบาดกลุ่มก้อนใหญ่ จ.สมุทรปราการ มาจากผู้ป่วยรายแรกเป็นคนงานในโรงงานติดเชื้อ แล้วมาติดเชื้อเพื่อนร่วมงาน 2 คน และเมื่อเข้าไปทำงานในโรงงานต่อ ซึ่งความเสี่ยงคือ ผู้ติดเชื้อต้องพบเจอผู้คนหลายแผนก ขณะเดียวกันการกินอาหารก็ต้องถอดหน้ากากอนามัย ซึ่งการกินอาหารก็จะมีการพูดคุยกับเพื่อน ทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูง และโรงงานนี้ไม่มีมาตรการเคร่งครัดในสุขอนามัยมากนัก ยังพบว่ามีการใช้แก้วน้ำร่วมกันใบเดียวในการกดน้ำดื่ม โดยโรงงานจะถูกปิดทำความสะอาด และคัดกรองผู้ติดเชื้อ หาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไปกักตัว ตรงนี้จึงเป็นสิ่งเตือนใจว่า แต่ละโรงงานขอให้เคร่งครัดมาตรการ คอยตรวจตราพนักงานของท่าน ขอให้งดสังสรรค์ในกลุ่มเล็กๆ เพราะผับบาร์ปิด แต่ไปจัดกิจกรรมกลุ่มเล็กๆกันในบ้านทั้งนี้ กรณีคลัสเตอร์สมุทรปราการก็จะคล้ายๆ ระนอง ซึ่งคนที่ไปพบคนหมู่มาก จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยมากๆ 2 เหตุการณ์นี้คล้ายกัน

ตจว.แนวโน้มลด-กทม.ปริมณฑลยังเพิ่มขึ้น

" ภาพรวมสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องและมีแนวโน้มทรงตัว ในต่างจังหวัดและภูมิภาคสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ มีแนวโน้มลดลง แต่กรุงเทพฯและปริมณฑลยังมีแนวโน้มการระบาดของโรคเพิ่มขึ้นแบบชะลอตัว โดยเฉพาะในชุมชนแออัดขนาดใหญ่ และจากการสัมผัสใกล้ชิดของคนในครอบครัวที่เป็นผู้ติดเชื้อมาก่อนช่วงหลังสงกรานต์ นอกจากนี้ ยังพบการระบาดในกลุ่มที่ทำกิจกรรมรวมกลุ่ม เช่น เล่นการพนัน เทียบไก่ชนงานเลี้ยงสังสรรค์ในครอบครัว/กลุ่มเพื่อน ทานอาหารร่วมกันในที่ทำงาน เป็นต้น จึงขอให้โรงงานสถานประกอบการ หน่วยงานต้อง เคร่งครัดมาตราการป้องกันและควบคุมโรค งดทานอาหารร่วมกันและแยกภาชนะส่วนบุคคล เช่น แก้วน้ำ เป็นต้น"นพ.โอภาสกล่าว

พ.ค.ระดมฉีดวัคซีนพื้นที่ระบาด

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า การให้บริการฉีดวัคซีนโควิด19 ข้อมูลสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-3 พ.ค.2564 มีการฉีดไปแล้ว 1,498,617 โดส ส่วนอีก 5 แสนโดสซึ่งเป็นวัคซีนซิโนแวคที่เพิ่งเข้ามานั้น ได้ผ่านการตรวจสอบเรื่องการผลิต คุณภาพ มาตรฐาน โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วเมื่อ 3 พ.ค. ซึ่งกระจายไปแล้วและจะเริ่มฉีด ส่วนวัคซีนที่จะมาในเดือน พ.ค.อีก 2.5 ล้านโดสนั้น คือ วันที่ 6 พ.ค. วัคซีนซิโนแวคจะมาอีกประมาณ 1 ล้านโดส และวันที่ 22 พ.ค.อีก 1.5 ล้านโดส โดยจะมีการฉีดในพื้นที่ระบาด และคนที่ฉีดเข็มแรกตอนปลายเดือน เม.ย. จะครบกำหนดฉีดเข็มที่ 2 ในเดือน พ.ค. ก็จะฉีดต่อเนื่องอีก นอกจากนี้ ในเดือน มิ.ย.2564 จะมีการส่งมอบวัคซีนของแอสตราเซเนกาทยอยส่งมอบอีก 61 ล้านโดสฝ
" ดังนั้น ตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไป ตัวเลขการฉีดวัคซีนของประเทศไทยจะพุ่งขึ้นรวดเร็ว ทันกับสถานการณ์การระบาด” นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลการลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนโควิด19 ผ่าน หมอพร้อม ณ เวลา 14.00 น. วันที่ 4 พ.ค. มีการจองรวม 879,830 ราย แบ่งเป็นไลน์ 698,402 ราย และทางแอปพลิเคชัน 181,428 ราย