'โควิด-19' คร่าชีวิต 2 ราย - ผู้ป่วยอาการรุนแรงอีกนับสิบชีวิต

'โควิด-19' คร่าชีวิต 2 ราย - ผู้ป่วยอาการรุนแรงอีกนับสิบชีวิต

ผอ.รพ.นครพิงค์ เชียงใหม่ ยืนยันมีผู้ป่วยติดเชื้อ "โควิด-19" เสียชีวิต 2 ราย รับติดเชื้อมาจากคนในครอบครัวและมีโรคประจำตัว ระบุการระบาดมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น มีอาการรุนแรงถึง 19 ราย ผู้ป่วยวิกฤต อีก 10 ราย เป็นผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจถึง 7 ราย

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ล่าสุด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่รายงานว่า ณ วันที่ 27 เมษายน 2564 มีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 57 ราย ยอดติดเชื้อสะสม 3,359 ราย รักษาหายแล้ว 1,315 ราย และเสียชีวิต 2 ราย

นายแพทย์วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยที่เสียชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง 2 ราย ว่า รายแรก เป็นหญิงไทย อายุ 48 ปี มีโรคประจำตัวคือโรคไทยรอยด์ มีอาการไข้ ปวดตัว เจ็บคอ ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 เข้ารักษาตัวในรพ.เอกชน ต่อมามีอาการทรุดลง จึงได้นำส่งตัวมายังโรคพยาบาลนครพิงค์ มีการช็อค และติดเชื้อในกระแสเลือด เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ส่วนรายที่สองเป็น ชายไทย อายุ 49 ปี มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน มีน้ำหนัก 116 กิโลกรัม เริ่มมีอาการไข้ ไอ หายใจเหนื่อย ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน และตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งได้รับเข้ารักษาและให้ยาทันที ต่อมาในวันที่ 25 เมษายน มีอาการหายใจเหนื่อยหอบ จึงส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ และเสียชีวิตในวันเดียวกัน

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าทั้ง 2 ราย ติดเชื้อมาจากคนในครอบครัว และเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิมก่อนแล้ว จึงขอให้ประชาชนเฝ้าระมัดระวังและป้องกันตนเองไม่นำเชื้อมาแพร่สู่คนในครอบครัว ด้านการฉีดวัคซีนขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 20,000 คน สำหรับวัคซีนที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับจัดสรรในล็อตที่ 3 ที่ได้มาแล้ว นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดสรร เพื่อฉีดให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ อสม. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก่อน ส่วนประชาชนทั่วไปสามารถลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม หรือสามารถติดต่อลงทะเบียนได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564เป็นต้นไป และจะเริ่มทำการฉีดในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป

ข้อมูลจากเพจโรงพยาบาลนครพิงค์ โพลต์ข้อความว่า สถานการณ์ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงสีส้ม และผู้ป่วยวิกฤตสีแดง ที่รับไว้รักษาในรพ.นครพิงค์ยังคงหนักหน่วง โดยรพ.นครพิงค์ต้องดูแลผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึง 19 ราย ผู้ป่วยวิกฤตอีก 10 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจถึง 7 ราย

พญ.รัฐกานต์ กาวิละ อายุรแพทย์ สาขาโรคติดเชื้อโรงพยาบาลนครพิงค์ กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิดในระลอกนี้ มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา และสามารถเกิดอาการรุนแรงได้กับทุกเพศ ทุกวัย ต่างจากความเข้าใจเดิมที่ว่า อาการจะไม่รุนแรงในวัยหนุ่มสาว ตามที่ได้เห็นกันในข่าวว่าพบผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อยที่อายุยังไม่มาก ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยง หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ให้รีบไปขอรับการตรวจ และหากพบว่ามีการติดเชื้อ ก็แนะนำให้รีบเข้าสู่กระบวนการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการปอดอักเสบรุนแรงที่มีอันตรายถึงชีวิตได้