‘ศ.ดร.พิสุทธิ์  เพียรมนกุล’ ‘เปลี่ยนวิกฤติโควิดให้เป็นโอกาส’

‘ศ.ดร.พิสุทธิ์  เพียรมนกุล’ ‘เปลี่ยนวิกฤติโควิดให้เป็นโอกาส’

โควิด-19 ระบาดซ้ำ ตอกย้ำความชอกช้ำของคนทั้งโลกว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะยิ่งหมักหมมและกำจัด (ให้สิ้นซาก) ยากยิ่งขึ้น "ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล" เสนอแนวทาง "เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส" ที่ชาวโลกจะช่วยกันลดปัญหาขยะและมลพิษได้

พร้อมนำเสนอ กระบวนทัศน์ในการจัดการขยะ ในฐานะวิศวกรสิ่งแวดล้อม ดร.โอ ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี ด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับอีกหลายบทบาท อาทิ กรรมการบอร์ดที่ กฟผ. และการเคหะแห่งชาติ ดูแลเรื่องความยั่งยืน, จัดรายการ Envi Insider สร้างความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม และเป็นกรรมการจัดทำ ยุทธศาสตร์ชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต (พ.ศ.2561-2580 แผนด้านสิ่งแวดล้อมและการกำหนดอนาคตประเทศ ภายในเวลา 20 ปี)

ดร.โอ พูดคุยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงแนวทางปรับวิธีคิด-เปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งคนไทยทุกคนทำได้...

161950938648

     ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยเรื่องไหนวิกฤติที่สุด

“ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมและเห็นภาพชัด ในมุมมองของผมมี 3 ประเด็นคือ 1.ฝุ่น PM2.5 เพราะเรามาถึงขั้นที่รุนแรงจริง ๆ อย่างเชียงใหม่ และภาคเหนือ ถ้ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ของเราขึ้นไปถึงระดับ 200-300 ซึ่งบางช่วงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศแล้ว ไม่ว่าจะมีโควิดหรือไม่มี ที่สำคัญเรื่องฝุ่น PM บางคนอาจคิดว่าเมื่อมีโควิดแล้วมันจะลดลง จริง ๆ ไม่ใช่เลย แสดงว่ามันอาจไม่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์หรือเรื่องรถยนต์อย่างที่เราเข้าใจแล้ว ในขณะที่มีโควิดมันก็ยังสูง

เกิดโควิด-19 แล้วฝุ่นลดลงได้อย่างไร

“คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าฝุ่นลดเพราะคนใช้รถน้อยลง หยุดเชื้ออยู่กับบ้านหรือ Work from Home แต่เอาเข้าจริงรถยนต์เป็นส่วนหนึ่ง แต่ฝุ่นควันจากการเผาและสภาพอากาศ เรื่องอื่น ๆ อีกเยอะ ผมจึงทำโครงการ Sensor for All ที่พร้อมติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ทั่วประเทศ ภายในปี 2564 ตั้งเป้าไว้ถึงหมื่นจุด และทำแอพพลิเคชั่นกับเว็บไซต์ของตัวเอง ที่เป็นของคนไทย เพราะเซ็นเซอร์ทุกอันที่ติดเป็นของต่างประเทศเขาจะส่งข้อมูลไปที่ประเทศของเขา”

พอรู้ระดับค่าฝุ่น PM ที่ขึ้นสูงแล้วจะแก้ไขได้อย่างไร

“พอเรามอนิเตอร์ได้ เราก็สามารถตัดสินใจว่าจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้มั้ย กิจกรรมต่าง ๆ ที่มนุษย์ทำแล้วเกิดฝุ่น หลังจากนั้นจะช่วยให้ภาครัฐออกนโยบายอย่างถูกต้อง สุดท้ายคนจะเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมเมื่อเห็นข้อมูลเหล่านี้เรื่อย ๆ และมากขึ้น”

วิกฤติสิ่งแวดล้อมที่ต้องโฟกัสให้ชัดลำดับต่อไปคืออะไร

2. ปัญหาขยะ ผมสรุปข้อมูลเรื่องขยะในช่วง โควิด-19  ในมิติขยะ ภาพรวมมันลดลงนะครับ เพราะขยะในปริมาณรวมลดลง แต่ส่วนที่เพิ่มกลายเป็นขยะพลาสติก พวกบรรจุภัณฑ์ มาพร้อมเดลิเวอรี่ เช่นหนึ่งออร์เดอร์มีบรรจุภัณฑ์สัก 6-7 ชิ้น ขยะแบบภาพรวมที่ กทม. รับไปกำจัดลดลง เพราะการเจริญเติบโตทางธุรกิจลดลง ยกตัวอย่างเมืองพัทยาลดลง 10-20% เพราะธุรกิจลดหรือหยุดการทำงาน ขยะอีกส่วนหนึ่งก็มาจากนักท่องเที่ยว อย่าลืมว่าคนไทยมี 67 ล้านคน แต่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาประเทศเราช่วงก่อนโควิดแทบจะครึ่งหนึ่งเลย เมื่อตอนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวก็ส่งผลให้ขยะโดยรวมลดลง”

1619510134100

       จัดรายการให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ใน Envi Insider

ดร.โอ บอกว่าแม้ภาพรวมขยะลดลง กระนั้นก็ยังเป็นปัญหาใหญ่

“ขยะโดยรวมลดแต่ ขยะพลาสติก และ ขยะติดเชื้อ ที่มาพร้อมกัน ขยะที่คนเราทิ้งแต่ละวันมะรุมมะตุ้มกับขยะเศษอาหาร ลองคิดภาพว่าทุกคนสั่งอาหารเดลิเวอรี่ แพ็คเกจเปื้อนอาหาร ในขณะที่หน้ากากอนามัยใช้เสร็จถ้าไม่จัดการดี ๆ เราก็ทิ้งรวมกัน สามอันนี้ทำให้เราไม่สามารถ 1.รีไซเคิลพลาสติก เพราะมันปนเปื้อนมั่วกันไปหมด 2.ส่งกลิ่นเหม็น และยิ่งเกิดการเน่าเร็วขึ้น และ 3.ติดเชื้อ เมื่อทั้งหมดรวมกันมันปนเปื้อนหมดเลย”

ดังนั้น เราต้องแก้ปัญหาเรื่องขยะก่อนเลยหรือไม่

“ผมว่าควรสนใจในระดับพอ ๆ กัน คนไทยควรมองเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กระทบถึงสุขภาพ ขยะถึงเร็วกว่า เห็นชัดเจน เพราะวันที่มันปนเปื้อนมันก็กระทบถึงทุกคน แต่เรื่องฝุ่น PM มันส่งผลกระทบระยะยาว การรักษาแพงกว่า ผมว่าต้องชั่งน้ำหนักกัน เชิงขยะติดเชื้อก็ป่วยและ Spread มันเห็นเร็วเป็นระยะสั้นและระยะกลาง แต่ฝุ่นเป็นผลกระทบระยะยาวและรุนแรงกว่า”

จึงเป็นโอกาสที่จะคิดและจัดการกับสองปัญหาวิกฤตินี้พร้อมกัน

“เราควรถือโอกาสจัดการกับสองปัญหานี้ไปพร้อม ๆ กัน ต้องพูดให้เห็นภาพชัด เช่น คนป่วยใส่หน้ากากอนามัยอยู่ในโรงพยาบาล หรือเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่เขาไม่รู้ตัว พอใส่หน้ากากแล้วทิ้งลงถังขยะทั่วไป สุดท้ายกองขยะนี้มันจะถูกจัดเก็บโดย กทม. แล้วระหว่างทางของรถขนขยะก็ผ่านหลายบ้าน หลายถนน ดังนั้นโอกาสที่จะแพร่เชื้อไปยังชุมชนต่าง ๆ ไปพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น เช่นศูนย์การค้า

กลับมาเรื่องรณรงค์ให้รีไซเคิล ทั้งหน้ากากและแพ็คเกจจิ้งถ้ามีการรีไซเคิล เกิดปนเปื้อนหรือติดเชื้อไปแล้ว คนไปคัดแยกก็จะมีโอกาสแพร่กระจายออกไป ถ้าบ้านใครแยกขยะอยู่แล้วก็ดีครับ แต่ที่พบส่วนใหญ่คือไม่แยก พอไม่แยกทั้งหมดก็ไปกองรวมกัน กลายเป็นว่าในกองมีหน้ากาก มีเศษอาหาร เราอย่าไปมองว่าโควิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ๆ แต่จริง ๆ เชื้อโรคที่หมักหมมอยู่ในแพ็คเกจเหล่านี้ถ้าไม่แยกไม่ล้างจะส่งผลกระทบต่อคนที่ทำงาน เช่นปัญหาเรื่องกลิ่น กลายเป็นว่าโรงงานที่อยากทำรีไซเคิลก็จะทำเรื่องนี้ไม่ได้”

161951018581

เพราะคนไทยไม่แยกขยะ ยิ่งคนในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ จะแก้ปัญหาอย่างไร

“ขอยกตัวอย่างไต้หวัน กลไกที่ไต้หวันทำอย่างแรกคือต้อง ลดการใช้ขยะ ลดการผลิตขยะ ของเราผลิตขยะ 1.1 กิโลกรัม ต่อคนต่อวัน มาตลอด ตัวเลขนี้โดยเฉลี่ยทั้งประเทศ ในขณะที่ไต้หวันเขารณรงค์ ขั้นแรกคือลดการใช้ ลดการผลิต โดยเอาคอนเซปต์ที่เหนือกว่าการ Reduce ด้วยซ้ำ คือการ Avoid ไม่สร้างขยะเลย ไม่ต้องลดแล้ว ให้ถามตัวเองก่อนว่าจำเป็นมั้ย ถ้าไม่จำเป็นเอามาทำไม เหนือกว่าการลดการใช้ด้วยซ้ำ เขาทำเรื่องนี้มาสัก 15-20 ปี”

ซึ่งประสบผลสำเร็จในเวลาต่อมา ทุกวันนี้คนไต้หวันมีตู้เอาขยะพลาสติกไปหยอดได้สตางค์กลับคืนมา

“ใช่ครับ อย่างแรกที่บอกคือ  Avoid อย่างที่สองคือ ต้อง ฝึกทักษะการคัดแยกขยะ ซึ่งมาพร้อมกับการล้างทำความสะอาด เพราะเราแค่คัดแยกแต่ยังไม่ล้าง ทำให้ไม่เกิดการ Improve ลูปของวงจรรีไซเคิลอย่างเต็มที่ เช่น ถ้ามีพลาสติกหรือบรรจุภัณฑ์เปื้อนเศษอาหารอยู่แล้วไปทิ้งรวม ๆ กัน เป็นโยเกิร์ตมันก็เน่า พอเน่าเวลาเราไปทิ้งขยะที่แม้จะแยกเป็นขยะพลาสติกแล้ว แต่เมื่อ กทม.มาเก็บขยะเขาจะมองสิ่งนี้ว่าเป็น ขยะทั่วไป เขาไม่ได้มองว่าเป็น ขยะรีไซเคิล ดังนั้นการฝึกสกิลล์ (ทักษะ) การคัดแยกแบบจริงจังจะทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐาน กทม.มาเก็บก็จะเห็นว่าอันนี้ขายได้ อันนี้ไปส่งโรงงาน เป็นขยะที่รีไซเคิลได้จริง ๆ

ไต้หวันเขาฝึกทุกครัวเรือน แยกยังไง ล้างยังไง แล้วบอกว่าแยกเสร็จแล้วไปที่ไหนบ้าง เมื่อ 3-4 เดือนก่อน มีโครงการ ส่งพลาสติกกลับบ้าน ของเครือข่ายธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดยมีขั้นตอนว่า 1.ลดหรือปฏิเสธพลาสติก 2.ฝึกคัดแยกขยะ หรือหาหนทางให้  3.วางระบบในการจัดเก็บและติดตามผล”

161951021628

      หนังสือสำหรับวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม 

ต้องฝึกทักษะการแยกขยะให้ประชาชน

“คนไต้หวันผ่านการรณรงค์เรื่องนี้มาแล้ว เขาจะไม่เก็บขยะทุกวัน เช่น วันนี้เก็บขยะกระดาษ อีกวันพลาสติก พอระบุมาก็สอดคล้องกับการรู้จักคัดแยก และระบบคัดแยกของไต้หวันที่น่าสนใจคือ รถที่มาเก็บขยะ เป็นรถขนขยะ 1 คัน มากัน 2 คน คนขับคนหนึ่ง อีกคนเป็นอินเวสติเกเตอร์ ไม่ใช่คอยขนขยะนะแต่ยืนดูว่าคนมาทิ้งขยะถูกต้องหรือเปล่า พอรถมาถึงก็มีเสียงเพลงดัง ชาวบ้านก็จะรู้ว่ารถขยะมาแล้ว วันนี้ทิ้งเฉพาะกระดาษนะ เจ้าของบ้านต้องเป็นคนมาทิ้งเอง แต่ละถุงก็แยก คนที่คอยยืนดูถ้าเห็นว่าเป็นถุงสีนี้ที่เก็บวันนี้เอาถุงอื่นมาเขาจะบอก..โน ห้ามทิ้ง ถ้าบ้านไหนไม่มีคนอยู่ไปทำงานทั้งวันก็ช่วยไม่ได้ เพราะออกกฎแบบนี้ ใครรู้ตัวว่าไม่อยู่บ้านก็ต้องการจัดการกับขยะในบ้านของตัวเองให้ได้ ทำให้ถึงขั้น Avoid คือเลี่ยงไม่ทำให้เกิดขยะเลย

ทำให้เรื่องขยะและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน ในไทเปและเมืองอื่น ๆ ทำมาเป็นสิบปีแล้ว อย่างถ้าผมไม่ค่อยอยู่บ้านผมก็จะสร้างขยะน้อยลงไปโดยปริยาย เพราะไม่อยากรอทิ้งหรือมายืนเข้าคิวรอรถ อีกอย่างผมต้องแยกขยะด้วย ถ้าไม่แยกก็ทิ้งไม่ได้ ดังนั้นอีกวิธีคือแยกเสร็จแล้วล้างเสร็จแล้วไปหาทางขายเองจะมารอทิ้งทำไม เพราะการรอทิ้งเราก็ต้องซื้อถุงขยะอีก

โดย 3 กลไกนี้มันสอดรับซึ่งกันและกัน ผมเรียกสิ่งนี้ว่า Paradigm shift คือ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยเราทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้ วางไว้เดี๋ยว กทม.มาเก็บเอง เราจ่ายเงินเฉพาะค่าขนขยะให้พ้นหน้าบ้าน แต่ไม่ได้จ่ายค่าจัดเก็บนะ เมื่อประมาณปีครึ่งมาแล้วมี พรบ.การจัดเก็บและการกำจัดขยะ ที่บอกว่าทุกคนต้องจ่ายขยะแพงขึ้น จาก 20 เป็น 80 บาท แต่ว่าตัวเลขจริงน่าจะ 80-350 บาท หมายถึงคิดเท่ากันหมดทุกบ้านรวมค่าเก็บขนและบำบัด แต่จำกัดปริมาณขยะน้อยกว่า 50 กิโลกรัมต่อเดือน ยกตัวอย่างนะ แต่ถ้ามีขยะเยอะกว่านี้ต้องจ่ายแพงขึ้น มินิมัมน่าจะ 80 แต่จ่ายเท่านี้เราก็รู้สึกลำบากเหลือเกิน เพราะคนไทยไม่พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อส่วนรวม แต่เราพร้อมจะซื้อกาแฟและไปดูหนัง...”

ปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมเรื่องที่สาม

3. น้ำประปาเค็ม อาจไม่สำคัญเท่าเรื่องฝุ่นกับขยะ แต่กระทบเยอะ คนใกล้ทะเลจะได้รับผลกระทบ เอาเข้าจริงปัญหาประปาเค็มเป็นปัญหาปลายทางมาก ไล่มาตั้งแต่ด้านบนแต่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำเสีย ซึ่งทุกวันนี้ไม่มีคนไทยคนไหนจ่ายค่าบำบัดน้ำเสีย ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าทำ เรื่องนี้ควรคิดนะ บางคนไม่คิดว่ามันกระทบเพราะประปาเค็มก็ไปซื้อน้ำร้านสะดวกซื้อ ไม่ลำบากอะไร”

161951182854

ถ้าคนไทยจะฝึกทักษะแยกขยะ-เก็บ-ล้าง-ทิ้ง แบบไต้หวัน อีก 15 ปี ก็ยังไม่สาย...

“ไต้หวันเป็นกรณีตัวอย่างที่เราทำได้ ที่พูดเช่นนี้เพราะเมื่อยี่สิบปีก่อน ไต้หวันเหมือนเหมือนประเทศเรา ขยะกองเหมือนกัน มันใช้เวลาเทิร์น ทำจริง ๆ 15-20 ปีเอง แล้วมันเทิร์นได้จริง ๆ แล้วคนไต้หวันก็เหมือนคนจีนคนไทย นิสัยสะเปะสะปะเหมือนกัน ผมไม่อยากยกตัวอย่างนอร์เวย์ สวีเดน ยิ่งญี่ปุ่น ไกลกว่าไต้หวันอีกสเต็ปหนึ่งไปแล้ว ยกตัวอย่างไต้หวันเพราะค่าเงินบาทกับเงินเหรียญใกล้เคียงกัน ต้นทุนพอ ๆ กัน

ไต้หวัน มี รมต.กระทรวงดิจิทัล ที่เป็นคนวัยรุ่นลุกมาทำแอพพลิเคชั่นในเชิงบริหารจัดการ ไปติดตามดูพบว่าเขาอยู่ในทีมที่ลุกขึ้นมาช่วยจัดการเรื่องขยะ หมายความว่าพอทำ 3 สเต็ปนี้ มันสามารถเอาดิจิทัล เอาการลงทุนมาเข้ามา เอาภาคนวัตกรรมเข้ามาเสริมได้ แต่บริบทประเทศเราในเชิงดิจิทัลก็คือสร้างอินเตอร์เนท แต่ไต้หวันเขามองโจทย์ใหญ่ และบูรณาการกันในการทำสิ่งนี้เพื่อจัดการปัญหานี้ให้เป็นวาระแห่งชาติร่วมกัน”

รัฐบาลไทยก็ประกาศปัญหาฝุ่นกับปัญหาขยะ เป็นวาระแห่งชาติเช่นกัน

“ผมว่าการประกาศเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่ตามมาคือ Paradigm shift หรือการปรับและร่วมมือกัน มันต้องถึงจุดที่รัฐบาลประกาศว่าต้องแก้สิ่งนี้ ภายในเวลาเท่านี้ แล้ววัดการแก้ไขปัญหาออกมาด้วย แต่การทำงานภาครัฐปัจจุบันเวลาเขาวัดที่ค่า KPI ซึ่งทุกกระทรวงผ่านหมด แต่ประเทศตก เพราะแต่ละคนของบประมาณมาทำสิ่งนี้ ทุกคนขอและทำตามแผนได้ KPI ผ่านหมด แต่ปัญหากลับไม่ได้แก้ไข

ในฐานะนักวิชาการ ผมมองว่าปัญหาของทุกหน่วยงานมี KPI แต่ คีย์รีซัลท์ (Key Results) ทำไม่ได้ เพราะเราไม่มองผลประโยชน์ของประเทศมาอันดับหนึ่ง ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องหมักหมม แก้ได้ช้ามาก เพราะไม่ใช่ปัญหาปากท้อง พอยิ่งหมักหมม มันจะเบลอขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างที่รู้ว่าในขยะกองนี้มีมูลค่า พลาสติกขายได้ โลหะขายได้ ก็จะมีอีกหน่วยงานหนึ่งอาจเป็นบริษัทลุกมาบริหารจัดการ ปิดลูปได้ เพราะเราบอกว่าเราเดินเรื่อง Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน นำวัตถุดิบมาใช้เป็นวงจรไม่รู้จบ แทนการผลิตใช้แล้วทิ้ง) ถูกมั้ย ทุกอย่างปิดลูป ลดต้นทุน ทำอะไรเป็นลูปแบบนี้ได้หมด”

161951029782

       แนวคิดเรื่อง "เมืองอัจฉริยะ" โดย ดร.โอ

มองเห็นโอกาสเพื่อกู้วิกฤติสิ่งแวดล้อมอย่างไร ในช่วงโควิดมาแต่ขยะลด

“เนื่องจากคนอยู่บ้านมากขึ้น ทำไมรัฐไม่สนับสนุนและเสริมสร้างทักษะว่าควรจะลดและแยกขยะอย่างไรให้ปลอดภัย และไม่ตัดงบประมาณบางท้องที่ในเรื่องการจัดเก็บขยะ (งบได้ตามปริมาณขยะ มีมากก็ได้งบมาก) รัฐควรให้งบเท่าเดิมแล้วบอกให้ไปพัฒนาสาธารณูปโภคด้านอื่น เช่น สร้างรูปแบบการเก็บขนให้ดีขึ้น ตอบโจทย์มิติโควิด ส่วนคนที่อยู่บ้านก็สร้างวินัยการแยกขยะ เกิดทักษะที่ดีขึ้นก็จะปิดลูปรีไซเคิลได้ และมีเอกชนมาสนับสนุน (จัดเก็บขยะและทำโรงงานรีไซเคิล) โดยภาครัฐต้องเป็นเจ้าภาพ ในต่างประเทศเขาใช้สถานการณ์ที่ไม่ปกติช่วงนี้ว่า Green Recovery

เพราะทุกประเทศเจอโควิด ทุกประเทศต้องลงทุน งบประมาณจัดสรรมาแล้วก็ต้องลงไป พวกยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น ชวนผู้ลงทุนมาและบอกว่าการลงทุนวันนี้ต้องมีความกรีนเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน รัฐก็ผันเงินมาลงส่วนนี้ด้วย แม้กระทั่งสร้างอาคารก็ให้เป็นกรีนบิลดิ้งมั้ย ในอิตาลีเขาทำ “อีโคโบนัส” แจกโบนัสให้กับประชาชนถ้ามาลงทุนสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้าง โอกาสนี้เป็นโอกาสทองในการทำ Green Recovery

161951186543

แม้กระทั่งเรื่องลดภาษี ผมมองว่ากระแสเรื่องนี้ดีขึ้น 5 ปีหลังมันเติบโตขึ้นนะ เพราะเจ้าของธุรกิจเป็นคนรุ่นใหม่เยอะขึ้น รุ่นลูกก็ขยับตรงนี้มากขึ้น ผมมองว่าเป็นโอกาสดีของประเทศ แต่ทั้งหลายทั้งปวงต้องให้ภาครัฐเป็นเจ้าภาพใหญ่ แต่ไม่ใช่มาคุมแล้วออกกฎ เป็นเจ้าภาพลักษณะเหมือนโปรโมเตอร์ เหมือนจัดมวย ไปหาสนามมวย จัดนักมวยมาชก ทำให้มีคนมาดู ทำให้มวยคู่นี้มันดัง หน้าที่รัฐต้องแบบนี้ ไม่ใช่บอกห้ามหรือออกกฎ ถ้าทำแบบนั้นเป็น Old Fashion เลย ยุคนี้ถ้าเป็นเรื่องคอรัปชั่นใช้กฎหมายได้  แต่ถ้าเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเดินแบบนั้นไม่ได้  บทบาทของภาครัฐต้องเป็นโปรโมเตอร์ และเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา

ภาครัฐต้องมี New mindset, Growth mindset  จะแค่ออกกฎไม่ได้ ดังนั้นไม่ใช่ต่างคนต่างทำ มันต้องบูรณาการข้างในเยอะมาก ไม่ใช่วัดผล KPI แต่ต้องวัด OKR (Objective Key Results) คือเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ ให้ทุกหน่วยงานมีเป้าหมายเดียวกัน ลงสัตยาบรรณมั้ย ถ้าคีย์นี้ไม่ได้คือตกทุกคน ไม่ว่าเราจะทำ KPI ผ่าน ถ้าผลสัมฤทธิ์ของประเทศคือสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ฝุ่นลดลง ต้องวัดได้ ไม่ใช่ทุกคนผ่าน KPI แต่สิ่งแวดล้อมไม่ดีขึ้น ถ้าเป็นบริษัทคือทุกคนสอบผ่านแต่องค์กรเจ๊ง”

ทุกวันนี้คนไทยยังเข้าใจว่าแยกขยะไป คนจัดเก็บก็จะไปเทรวมกัน

“ภาครัฐไม่พีอาร์รถเก็บขยะใน กทม. ผมคิดว่านะ เพราะกว่า 70% ที่ปรับไปแล้ว รถขยะทำช่องเพิ่มจากอดีตเป็นรถทรัคเก็บขยะทุกอย่างเทรวมกันไว้ข้างหลัง แต่ตอนนี้เขาขยายล็อคตรงกลาง คนที่เก็บขยะมาที่เป็นรีไซเคิลก็จะมาใส่ตรงกลางนี้ เราจะเห็นว่ารถขยะคันหนึ่งแต่มีพนักงานหลายคนเพราะเขามาเก็บสิ่งที่รีไซเคิลได้ เขาแยกเลย ผมมองว่าเป็นเรื่องดี ช่วยให้กระบวนการแยกดีขึ้น ดังนั้นจึงต้องมองกลับไปว่าคุณแยกหรือเปล่า ถ้าไม่ก็แสดงว่าคุณไม่เปลี่ยนอะไรเลย”

161951037190

ในต่างจังหวัดและบางชุมชนจัดกระบวนการรีไซเคิลขยะเห็นชัดกว่าคนกรุงเสียอีก

“ใช่ครับ เช่น เอาขยะอินทรีจากครัวเรือนไปทำปุ๋ยทำน้ำหมักเอามาปลูกผักในวัด ชุมชนก็ได้กินผักปลอดสาร หรือแยกขยะแล้วขายได้ เราเริ่มเห็นภาพนี้ชัดขึ้น ผมคิดว่าประเด็นการจัดการสิ่งแวดล้อม ถ้าเมืองเป็นแบบหนึ่ง ต่างจังหวัดเป็นอีกแบบหนึ่ง ผมคิดถึงแนวคิดของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 คำว่า "บวร" บ้าน-วัด-โรงเรียน ตอบโจทย์ที่สุดแล้ว วัดมีความศรัทธา มีพื้นที่ โรงเรียนสอนเด็กรุ่นใหม่ ให้เด็กไปบอกพ่อแม่ต่อ ในขณะที่เมืองกรุงการจัดการต้องอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นคอนโด การเคหะ รัฐต้องลงสาธารณูปโภคอีกแบบหนึ่ง พร้อมมาตรการด้านภาษี การเงิน ไม่ใช่ทั่วประเทศทำเหมือนกันหมด เช่นคนต่างจังหวัดอาจไม่ต้องการภาษี แต่คนกรุงอาจต้องโดนภาษีมากขึ้น อย่าลืมว่าปริมาณขยะพลาสติกเกินครึ่งอยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล”

 เรื่องสิ่งแวดล้อมคงต้องพึ่งคนรุ่นใหม่

“การศึกษาเราไม่ได้เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย คนไทยคือให้เรียนฟิสิกซ์เคมีชีวะ แต่เมื่อโลกผ่านไป เกิด New Media เกิดคนรุ่น Gen Y, Gen Alpha เขาคิดถึงการลงทุนที่ยั่งยืน ก็เอาเงินมาลงในกอง Sustainable investment มากขึ้น ซึ่งเงินกองทุนนี้ 33% ของตลาดหลักทรัพย์ทั้งโลกเลยนะ เยอะมาก แล้วหาโปรเจคแนวกรีน ๆ มาลงที่ได้กำไร เงินก้อนนี้ได้จากนักลงทุนหน้าใหม่

161951039723

     how to ทิ้ง...หน้ากากอนามัย (โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.)

อีกเรื่องคือถ้าไม่เปลี่ยนก็อยู่ไม่ได้ เขาคุยกันเรื่อง Carbon neutral แล้วแต่ภาครัฐไทยตามเขาไม่ทัน ถ้าดูจากกรอบแนวคิดพัฒนาเมืองในระดับสากลจะเห็นคำว่า เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และตรงกลางคือ ความยั่งยืน และพูดถึงธุรกิจร้อยทั้งร้อยว่าต้องยั่งยืน ด้วยภาคธุรกิจจะถูกบังคับเยอะ เพราะถ้าไม่สังคมจะมองกลับมา สิ่งนี้เรียกว่า Strong sustainability ที่ไม่ใช่ Weak sustainability คีย์เวิร์ดนี้ภาครัฐปรับเปลี่ยนไม่ทัน จึงเกิดเป็นคำว่า ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ร่วมกันกำหนดอนาคตประเทศ โดยที่ภาครัฐเป็นเจ้าภาพหรือโปรโมเตอร์ ลงมือสร้างเครื่องมือทำ โครงสร้างพื้นฐาน

อาจตั้งโครงการลักษณะเหมือนดอยคำ มีแซนด์บอกซ์ให้เขาไปทำมากขึ้น อีกอย่างที่คุยกันมากขึ้น เรียกว่า Green GDP จีดีพีสีเขียว เช่นปัจจุบันไทยมี GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวม)  17-18 ล้าน ๆ  เรารายงานแค่ GDP แต่ Green GDP เขาจะเอาตัวเลข GDP ที่ได้มาลบด้วยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้วคอนเวิร์สเป็นตัวเงิน

Green GDP เริ่มแล้วในวงวิชาการและในแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งวัดได้มากกว่าคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ เสียอีก จะมีตัวชี้วัดที่ต่างประเทศมองกลับมาประเทศเรา ยกตัวอย่างการท่องเที่ยว ประเทศไทยอยู่อันดับ 40-50 ไม่ดีแต่ก็ไม่แย่ แต่มีตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนของประเทศไทยซึ่งอยู่อันดับ 140 เกือบจะบ๊วยของโลก หมายความว่าเรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะเราคิดว่าได้เงินแต่เรากำลังทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วเมื่อเอา GDP มาลบเราจะเหลือ Green GDP นิดเดียว”

ถ้าเรามี Green GDP ที่ดีแล้วคนไทยจะได้อะไร

“ได้สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างเห็นผลชัด ภาครัฐต้องมองว่าสวัสดิการในเชิงรักษาพยาบาลคนไทยจะดีขึ้นมั้ย ถ้าเราทำสิ่งนี้แล้วคนป่วยน้อยลงเพราะอากาศดีขึ้น ทำให้งบประมาณค่ารักษาพยาบาลต่อหัวดีขึ้น การศึกษาก็ดีขึ้น หรืออาจกลับมาเป็นภาษี หรือให้โบนัสอย่างอิตาลี เช่นถ้าชุมชนนี้มี Green GDP เท่านี้ก็เอาโบนัสกลับไปลงที่ชุมชน”