เปลี่ยนแปลงไม่ทัน เพราะถือมั่นเกินไป

เปลี่ยนแปลงไม่ทัน เพราะถือมั่นเกินไป

องค์กรที่จะอับปางท่ามกลางวิกฤติ มักเป็นองค์กรที่มีค่านิยมว่า ข้อมูลที่เชื่อได้มากที่สุดคือ ข้อมูลของผู้นำและบริวาร ซึ่งผู้นำที่เก่งจริงนั้น จะดึงดูดข้อมูลจากความเก่งของคนอื่นมาใช้ประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์องค์กร

การนำองค์กร หมายถึงการที่ผู้นำมีความสามารถที่จะเห็นอนาคตที่พึงปรารถนา โดยเป็นอนาคตที่เหมาะสมและเป็นไปได้ภายใต้บริบทปัจจุบันและอนาคต แล้วผู้นำสามารถถ่ายทอดภาพอนาคตนั้นให้ผู้คนมีความเชื่อมั่นและได้ใจผู้คนในการร่วมแรงร่วมใจ ตลอดจนสามารถกระจายบทบาทหน้าที่อย่างเหมาะสมสำหรับแต่ละคน 

ในการมุ่งสู่การบรรลุที่หมายในอนาคตนั้นร่วมกัน ถ้าแค่ฝันเห็นอนาคตที่ตนเพียงคนเดียวรู้เรื่อง แล้วเที่ยวไปบอกคนนั้นคนนี้ว่าให้เดินทางไปสู่อนาคตตามที่ฉันเข้าใจของฉันเพียงคนเดียว แล้วสั่งการให้คนนั้นทำเรื่องนั้นคนนี้ทำเรื่องนี้ เช่นนี้ไม่เรียกว่ามีการนำองค์กร ไม่เรียกว่ามีภาวะผู้นำ ไม่ว่าจะบังคับบัญชาเก่งแค่ไหนก็ตาม การบังคับบัญชากับการนำองค์กรในโลกปัจจุบันเป็นคนละเรื่องกันแล้ว

แต่การนำองค์กรต้องปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ต้องการไหลไปตามทิศทางของกระแสน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปมาท่ามกลางคลื่นลม กัปตันย่อมต้องปรับหางเสือให้แล่นไปในทิศทางที่ต้องการในทุกครั้งที่กระแสน้ำเปลี่ยนทิศ ผู้นำจำนวนไม่น้อยที่ภาคภูมิใจกับวิสัยทัศน์ของตนเอง และเชื่อมั่นกับกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ร่วมกับทีมงานที่ตนเองเชื่อว่าเป็นสุดยอดฝีมือ กลยุทธ์ของหลายองค์กรจึงได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากความเชื่อส่วนตัวของผู้นำและคนรอบตัว 

กลยุทธ์ขององค์กรเหล่านี้จึงได้ดีเฉพาะเมื่อทุกอย่างรอบตัวยังคงเหมือนเดิม ตราบเท่าที่ทะเลยังราบเรียบ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องปรับหางเสือ แม้ว่าทะเลที่ราบเรียบในยุคปัจจุบันหาได้ยากเต็มที แต่ด้วยความเชื่อมั่นถือมั่นในกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ของผู้นำและลิ่วล้อ พวกเขาจะมองน้ำในมหาสมุทรเหมือนน้ำในกาละมัง หลอกตนเองให้มองข้ามคลื่นลมที่เปลี่ยนแปลงไปมา ซึ่งคงเดาตอนจบได้ว่าเรือของผู้นำที่แล่นไปตามความเชื่อจะเป็นอย่างไรในที่สุด

การนำองค์กรที่เหมือนนำเรือหลบพายุไปได้ทุกครั้งนั้นน่าจะดีที่สุด แต่ในความเป็นจริงเราหลบพายุไม่ได้ทุกครั้งไป ใครๆ ก็รู้กันดีว่ากลยุทธ์ที่มีอยู่เดิมหรือวิถีการที่แล่นเรือไปต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เจอะเจอ แต่มีคนสองพวกที่แตกต่างกัน พวกหนึ่งยึดมั่นอยู่กับวิธีการเดิม แล่นเรือแบบเดิมจนกว่าจะเจอคลื่นใหญ่แล้วค่อยว่ากันว่าจะปรับกันอย่างไร เห็นมาทางไหนก็ว่ากันตอนที่เห็นนั่นแหละ คนพวกนี้เชื่อมั่นในฝีมือตนเองในการแก้ปัญหามากไปหน่อย ซึ่งอาจมาจากเคยประสบความสำเร็จสูงในหลายเรื่องมาอย่างต่อเนื่อง แต่สุดท้ายเรือมักล่มกลางพายุเสมอ 

อีกพวกหนึ่งอาศัยสารพัดมาตรวัดคอยดูทางน้ำทางลม แล้วคิดล่วงหน้าว่าเมื่อใดจะต้องปรับวิธีการอย่างไร คือปรับก่อนเจอคลื่นใหญ่ รู้ทุกเวลาว่าตอนไหนเสี่ยงแค่ไหน ไม่ใช่เพราะไม่เชื่อฝีมือตนเองในการแก้ปัญหา แต่ชอบป้องกันปัญหามากกว่าตามแก้ ซึ่งผู้นำทุกคนจะบอกเหมือนกันหมดว่าฉันก็นำแบบหลังนี่แหละ แต่ผลที่เกิดขึ้นจะบอกเองว่าใครนำตามความเชื่อ ใครนำตามข้อมูลข้อเท็จจริง

จะไปรอดได้อย่างราบรื่น ต้องปรับกลยุทธ์ไปตามการเปลี่ยนแปลงได้อย่างถูกเวลา แต่อัตตาและความเชื่อมั่นมากเกินไปกับกลยุทธ์ดั้งเดิมเป็นตัวกีดกันการเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมเปลี่ยนเพราะไม่ยอมหันไปมองคลื่นใหญ่ ไม่ยอมเปลี่ยนเพราะไม่ยอมดูมาตรวัดที่ไม่ถูกใจ ถ้าแล่นเรือในกาละมังจะเชื่ออย่างไร จะลำเอียงอย่างไร ก็คงไม่มีอะไรเสียหายเกิดขึ้น

แต่ชีวิตจริงเรืออยู่ในมหาสมุทรที่มีพลวัตเป็นความแน่นอน เลือกเชื่อมาตรวัดผิดตัวเรืออับปางได้ง่ายๆ มาตรวัดในปัจจุบันมีมากมาย ข้อมูลมีท่วมท้น เหลือเพียงแค่เปิดใจมองดูสักหน่อย ก็จะได้ความจริงแล้วว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น ปัญหาสำคัญอยู่ที่การไม่ยอมดู หลับหูหลับตาเดินหน้าแบบเดิม เพราะฉันเชื่อว่าของฉันถูกต้อง

เลิกคิดว่าฉันเก่งที่สุด แล้วมองดูความเก่งของคนอื่นบ้าง คนแต่ละคนมีดีอะไรสักอย่างหนึ่งให้เห็นได้เสมอ ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะได้ข้อมูลดีๆ จากคนเหล่านั้น ผู้นำที่เก่งจริงดึงดูดข้อมูลจากความเก่งของคนอื่นมาใช้ประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ผู้นำที่ย่ำแย่ภูมิใจกับการปฏิเสธข้อมูลจากคนที่เกรงว่าคนอื่นจะเห็นว่าเก่งกว่าตนเอง องค์กรที่อับปางท่ามกลางวิกฤติมักเป็นองค์กรที่มีค่านิยมว่า ข้อมูลที่เชื่อได้มากที่สุดคือ ข้อมูลของผู้นำและบริวาร