'วัคซีนโควิด' ฉีดดีหรือไม่ ปลอดภัยหรือเปล่า

'วัคซีนโควิด' ฉีดดีหรือไม่ ปลอดภัยหรือเปล่า

เมื่อประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น และพบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้วเกิดผลข้างเคียง ทำให้หลายคน เริ่มกังวลว่า ตกลงแล้ว จะฉีดวัคซีนดีหรือไม่ และความจริงวัคซีนปลอดภัยหรือเปล่า

วันนี้ (24 เม.ย. 64) ที่กระทรวงสาธารณสุข “ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต” คณะแพทศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงประเด็น วัคซีนโควิด 19 ในงานแถลงข่าวสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ว่า สถานการณ์โควิด 19 ตอนนี้ อยู่ในการระบาดระลอกที่ 3 มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แพร่กระจายทั่วประเทศ วิธีการที่ควบคุมการระบาดต้องอาศัยความร่วมมือทุกคนในการควบคุม ป้องกัน หลีกเลี่ยงการสัมผัส ระวังอนามัยส่วนบุคคล

  • ความรุนแรงของโรค ขึ้นอยู่กับอะไร

ศ.ดร.นพ.วิปร อธิบายต่อไปว่า อาการและระดับความรุนแรงของโรค ไม่ได้ขึ้นอยู่กับไวรัสอย่างเดียว เพราะไวรัสเหมือนสิ่งแปลกปลอม ร่างกายจะมีการสร้างภูมิต้านทานขึ้นมากำจัดไวรัส ไม่ว่าจะเป็นไวรัสอะไรก็ตาม เรามีโอกาสหายได้เองเพราะเราสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา แต่คนแต่ละคนสร้างภูมิต้านทานไม่เหมือนกัน  

“ปัญหาจะเกิดในคนที่ร่างกายสร้างภูมิต้านทานไม่ดี คนอายุมาก มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก หรือคนที่สร้างภูมิต้านทานมากเกินไปบางครั้งอาจส่งผลเสียต่อตนเอง เกิดพายุที่ร่างกายพยายามสร้างกระบวนการทำลายไวรัส แต่กลับทำลายตัวเอง ดังนั้น เป็นเรื่องยากมากที่หมอจะพยากรณ์ว่าใครจะอาการรุนแรงหรือไม่มีอาการ”

  • ร่างกายกำจัดไวรัสอย่างไร

เมื่อไหร่ที่ไวรัสเข้าไปร่างกาย จะมีการสร้างแอนติบอดี้ ซึ่งหากเป็นไวรัสที่เคยมีอยู่แล้ว เราจะมีแอนติบอดี้ในการกำจัด รวมถึง วิธีกำจัดไวรัส อีกวิธีคือการใช้เซลล์เม็ดเลือดขาว ที่ต้องรู้จักไวรัสก่อน และวิ่งมาทำลายไวรัส ดังนั้น กระบวนการที่ร่างกายกระตุ้นสร้างภูมิต้านทาน คือ 1. ติดเชื้อตามธรรมชาติ แต่ปัญหาที่ทราบกับโควิด 19 คือ คนที่ติดเชื้อ กลับกระตุ้นภูมิต้านทานไม่ดี มีการติดรอบที่สองได้อีก ดังนั้น การติดเชื้อเพื่อกระตุ้นภูมิ น่าจะไม่ใช้แนวทางที่ถูกต้อง หลายประเทศในยุโรปพยายามทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ สุดท้ายต้องเลิกเพราะมีผู้ป่วยที่อาการหนักมาก ทำให้กระบวนการนี้ไม่เวิร์ค เป็นสิ่งที่เรีนรรู้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

การที่ทำให้มีภูมิต้านทาน ถัดมา คือ 2. การใช้ “วัคซีน” ซึ่งปัจจุบัน มี 3 กลุ่ม หลักๆ คือ วัคซีนเชื้อตาย เช่น ซิโนแวค , Viral vector เช่น แอสตร้าเซนเนก้า , และ ชนิด mRNA เช่น ไฟเซอร์-ไบออนเทค , โมเดอร์นา และ สปุตนิก โดยวัตถุประสงค์หลัของวัคซีน คือ การป้องกันอาการการติดเชื้อไม่รุนแรง

“การฉีดวัคซีน” ที่มีความปลอดภัย ประสิทธิภาพในเกณฑ์มาตรฐานที่รับได้ เป็นอีกทางหนึ่งในการป้องกัน เราอาจจะเห็นการฉีดวัคซีนในบางประเทศที่ฉีดครอบคลุม 60-70% ของประชากร อย่างไรก็ตาม บริบทของหลายประเทศมีข้อจำกัด เพราะประเทศไทยมีประชากรมากกว่า และปัจจัยหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึง

 

  • ผลข้างเคียง ซิโนแวค รักษาหายปกติ

ปัจจุบัน ประเทศไทย มีวัคซีน 2 ชนิด คือ ซิโนแวค และ แอสตร้าเซนเนก้า ในช่วง 2 – 3 วันที่ผ่านม มีข่าวตามสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ และออนไลน์ เกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนกับผู้ที่ได้รับวัคซีนของซิโนแวค ทำให้เกิดความกังวลใจสำหรับประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการรับวัคซีน

ทั้งนี้ บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดซิโนแวค เกิดอาการชา อ่อนแรง บางรายได้รับการรักษาโดยให้ยาละลายลิ่มเลือด แต่ทุกรายเมื่อทำการตรวจ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองไม่พบความผิดปกติ ไม่มีเส้นเลือดแตก ตีบ หรือสมองตาย ทุกรายที่มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นกลับเป็นปกติใน 1-3 วัน ไม่มีผลแทรกซ้อนต่อเนื่อง

ศ.ดร.นพ.วิปร กล่าวต่อไปว่า ปัญหาตอนนี้ คือ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม เวลาที่มีการใช้ “ยา” และ “วัคซีน” ต้องมีการพิจารณาประโยชน์และความเสี่ยงทุกครั้ง วัคซีน มีโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน คือ “อาการไม่พึงประสงค์ ภายหลังจากการฉีดวัคซีน” อาจเกิดจากวัคซีน หรือ ส่วนประกอบวัคซีน หรือ ปฏิกิริยาร่างกายของผู้รับวัคซีน ที่เป็นกระบวนการภายในของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน เช่น อ่อนเพลีย สามารถรักษาโดย การดื่มน้ำให้มาก กินยาลดการอักเสบเฉพาะที่ได้ และ “อาการแพ้วัคซีน” เหมือนคนที่แพ้อาหาร

ขณะที่ “ปฏิกิริยาเครียดตอบสนองต่อการฉีดวัคซีน” หรือ Immunization Stress Related Response หรือ ISRR เป็นปฏิกิริยาความเครียดจากการรับวัคซีน ส่วนหนึ่งเกิดจาก มนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกัน พอมีความตึงเครียด จะไปกระตุ้นระบบภายในร่างกาย เช่น ระบบประสาท ทำให้หลอดเลือดมีการหดตัว ปฏิกิริยาเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าเป็นการแกล้งทำ แต่เป็นปฏิกิริยาบางคนไม่เหมือนกัน เหมือนกับคนที่ตื่นเต้นเวลาต้องพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก

  • กรณีศึกษา “ซิโนแวค” ในบราซิล

จากการวิจัยจากต่างประเทศ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวันที่ 9 เมษายน 2564 เปรียบเทียบซิโนแวค กับ ใช้ยาหลอก ในบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 12,000 คน ที่มีโอกาสเสี่ยงกว่าคนทั่วไปมากมาย ของประเทศบราซิล พบว่า บางคนฉีดยาหลอกมีอาการเวียนหัว ชา อ่อนแรงได้ ไม่ต่างกัน  ขณะที่ ในเชิงของประโยชน์ ชัดเจนว่า ประสิทธิภาพขั้นต้น การติดเชื้อของคนที่ถูกฉีดวัคซีนหลอก เวลาผ่านไปพบว่าคนติดเชื้อและมีอาการเพิ่มขึ้นชัดเจน แต่คนที่ได้รับวัคซีนจริง พบว่า มีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อแบบมีอาการ 50% ผ่านเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก  

ทั้งนี้ จากการศึกษายังบ่งชี้ว่า วัคซีน ป้องกันติดเชื้อแล้วมีอาการในระดับต้องให้ออกซิเจนได้ 84% และลดการเข้าไอซียู ได้ 100% บ่งชี้ว่า วัคซีนมีความสามารถในการป้องกัน ภูมิต้านทานที่สร้างขึ้นจากการรับวัคซีน พอเพียงที่จะทำลาย เซลล์ติดเชื้อไวรัสไม่ให้ลุกลามรุนแรง จนเกิดอาการรุนแรงจนต้องเข้าไอซียู

  • ภูมิต้านทานหลังฉีดซิโนแวค

ผลการศึกษาของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปรียบเทียบภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค กับ การติดเชื้อในธรรมชาติ พบว่า คนที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มครบ ระดับภูมิต้านทาน เพิ่มขึ้นเท่ากับการติดเชื้อตามธรรมชาติ เป็นการศึกษาในเมืองไทยเอง ทำให้มั่นใจได้ว่า วัคซีนที่นำมาใช้ในคนไทย ก็กระตุ้นภูมิต้านทานได้ดีเมื่อเทียบกับชาติพันธุ์อื่น

  • ข้อแนะนำหลังฉีดวัคซีน

ปัจจุบัน มีข้อแนะนำ หลังฉีดให้สังเกตอาการอย่างน้อย 30 นาที หากพบผู้ป่วย ที่มีอาการทางระบบประสาทหลังการฉีดวัคซีน เช่น ชา อ่อนแรง ตามัว ควรรีบดำเนินการดังนี้

  • ปรึกษาแพทย์ เพื่อการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ควรตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีภาวะโรคทางกายก่อน แต่ควรหลีกเลี่ยงการตรวจสืบค้นโดยไม่จำเป็น (over-investigation) หรือการต้องนอนโรงพยาบาล แต่ต้องพอเหมาะที่จะทำให้ไม่พลาดการวินิจฉัยผู้ที่เป็นโรคจริง
  • ควรให้การดูแลรักษาโดยไม่มีการตีตราว่ากล่าว หรือทำให้ผู้ที่มีอาการรู้สึกไม่ดี และควรมีสหสาขาช่วยกันดูแล
  • ในระหว่างที่ให้การรักษาดูแล ควรให้ความมั่นใจกับคนไข้เรื่องอาการที่เกิดขึ้นว่าอาการนี้อาจเกิดขึ้นได้ และส่วนใหญ่จะดีขึ้นภายในเวลาไม่นาน โดยไม่มีอันตราย เพื่อลดความวิตกกังวลของผู้ป่วย
  • ทันทีที่ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ควรสนับสนุนให้กลับไปปฏิบัติงานหรือภารกิจได้ตามปรกติ และให้กำลังใจ
  • รายงานผู้ป่วยเข้าสู่ระบบรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคน กรมควบคุมโรค (AEF-DDC) โดยรายงานที่ https://e-reports.doe.moph.go.th/aefi/ หรือ ส่งแบบสอบสวนโรค AEFI1/AEFI2 ทางอีเมล์ [email protected]
  • ไม่จำเป็นต้องระงับการฉีดวัคซีนในวันนั้น หรือในลอตนั้นๆ

  • รับมืออาการ ISRR

การเตรียมการเพื่อรับมือเหตุการณ์ ปฏิกิริยาความเครียดจากการรับวัคซีน ISRR

ก่อนการฉีดวัคซีน

  • ควรจัดสถาน ที่ฉีดวัคซีนให้มีการถ่ายเทอากาศที่ดี ไม่ร้อนอบอ้าวจนเกินไป จุดที่ให้บริการควรห่างกันพอสมควร
  • จัดระบบ การรอรับบริการไม่ให้เกิดความแออัด รอนาน เพื่อลดความวิตกกังวล
  • การคัดกรองผู้รับบริการ ควรสังเกตอาการของผู้รับบริการ หากผู้รับบริการมีร่างกายอ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ มีความวิตกกังวล หรือมีอาการเจ็บป่วยใด ๆ ที่ไม่มีความพร้อมในการรับวัคซีน ควรพิจารณาเลื่อนนัดการบริการไปก่อน
  • ควรมีการให้ความรู้กับผู้รับการฉีดวัคซีนถึงประโยชน์และประสิทธิภาพของวัคซีน และอาการที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังการได้รับวัคน เพื่อให้ผู้รับวัคซีนรู้เท่าทันอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ปวดบริเวณที่ฉีดหรือมีไข้ หรือบางคนอาจมีอาการเพลีย อ่อนแรง หรืออื่นๆ อาการมากน้อยแตกต่างกัน โดยอาการมักจะหายไปได้ภายใน 1 - 2 วัน โดยไม่มีอันตราย

“หลายคนปฏิเสธการฉีดวัคซีน จากข่าวต่างๆ เวลาเรามีข้อมูลมากๆ และหลายคนแชร์ออกไป ย่อมทำให้เราเกิดการวิตกกังวลว่าจะเกิดขึ้นกับเราหรือไม่ ต้องเรียนว่า แพทย์ให้ข้อมูลตามความเป็นจริงเพื่อให้มั่นใจว่า ปฏิกิริยา สามารถเกิดขึ้นได้และมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ แต่บอกไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร อยากให้ชั่งใจระหว่างประโยชน์ โอกาส ที่จะเกิดขึ้น ขอให้ฉีดเถอะครับ เพราะความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและรุนแรง มากกว่าความเสี่ยงจากผลแทรกซ้อนจากวัคซีน และรักษาได้ รักษาไม่ยาก และไม่ต้องเข้าไอซียู ดังนั้น หากเป็นบุคลากรทางการแพทย์ อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง มีโอกาสติดเชื้อขอให้มีความมั่นใจ และไปรับวัคซีน” ศ.ดร.นพ.วิปร กล่าวทิ้งท้าย