'ศบค.มท.' เปิดข้อสั่งการ 'ผู้ว่าฯ'ทั่วประเทศคุม 'โควิด'ดันธุรกิจเดินหน้า

'ศบค.มท.' เปิดข้อสั่งการ 'ผู้ว่าฯ'ทั่วประเทศคุม 'โควิด'ดันธุรกิจเดินหน้า

ศบค.มท. ระบุ สั่งการให้ผู้ว่าฯทุกจังหวัด บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิดเคร่งครัด

24 เม.ย.64 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย และผู้อำนวยการสำนักงาน ศบค.มท. เปิดเผยว่า จากการที่มีสื่อรายงานว่า มีนักวิชาการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจ มีประเด็นข้อเรียกร้องรวมทั้งสิ้น 6 ประเด็น โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย คือ ประเด็นที่ 1 เรื่อง การควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อให้ได้ เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้

ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า กระทรวงมหาดไทย ในฐานะศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับต่าง ๆ

โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด บูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อดำเนินการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด โดยมีข้อสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ดำเนินการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ดังนี้     

1. มาตรการสกัดกั้นเชื้อจากต่างประเทศ       

1.1 การควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จากต่างประเทศ ในพื้นที่ชายแดน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ผอ.รมน.จังหวัด) ประสานการปฏิบัติ วางมาตรการร่วมกับหน่วยทหารในพื้นที่ ตำรวจตระเวนชายแดน กองกำลังป้องกันชายแดนให้เข้มงวด ควบคุมการลักลอบเข้าประเทศ เพิ่มการลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังและสกัดกั้นป้องกันมิให้มีการลักลอบเดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณพื้นที่ชายแดน หากพบการลักลอบเข้าประเทศ ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มข้น       

1.2 การปฏิบัติในพื้นที่ตอนใน ให้ประสานการปฏิบัติกับตำรวจภูธรจังหวัด สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งจุดตรวจ จุดสกัดและจุดคัดกรองโรค บุคคล และการขนส่งสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้าเมือง คัดกรองรถขนส่งสินค้า รวมทั้งกำหนดให้มีผู้บัญชาการเหตุการณ์ (Incident Commander : IC) ประจำช่องทางผ่านแดนทุกแห่งที่มีการอนุญาตให้ใช้ในการผ่านเข้า-ออก ของบุคคล สินค้าและยานพาหนะที่ชัดเจน สามารถปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง       

1.3 การปฏิบัติในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครในพื้นที่ ร่วมกันตรวจสอบบุคคลที่เดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน/ชุมชน หากพบแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ให้ประสานหน่วยงานความมั่นคงดำเนินการตามกฎหมายทันที       

1.4 จังหวัดชั้นใน ให้ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด จุดคัดกรองโรค โดยให้ประสานการปฏิบัติกับตำรวจภูธรจังหวัด กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสกัดกั้นการเดินทางเข้าออก และการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว     

2. มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศทั้งจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ข้อกำหนดฉบับที่ 20  ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ได้กำหนดพื้นที่สถานการณ์ออกเป็น “พื้นที่ควบคุมสูงสุด” จำนวน 18 จังหวัด รวมกรุงเทพมหานคร  และ “พื้นที่ควบคุม” จำนวน 59 จังหวัด โดยมีมาตรการที่สำคัญ ได้แก่       

2.1 ปิดพื้นที่เสี่ยง อาทิ ปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน        

2.2 งดกิจกรรมเสี่ยง โดย (1) ห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบัน การศึกษาทุกประเภทเพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากทำให้เสี่ยงต่อการแพร่โรค และ (2) ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมทั้ง (3) งดการจัด กิจกรรมทางสังคมในลักษณะที่เป็นงานสังสรรค์ งานเลี้ยง หรืองานรื่นเริง เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการตามประเพณีนิยม และมีมาตรการป้องกันโรคที่เพียงพอเพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ           

2.3 งดหรือเลี่ยงการเดินทาง โดยขอความร่วมมือให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางโดยไม่มีเหตุจำเป็น โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคที่อาจทำให้เสี่ยงหรือมีโอกาสติดโรค        

2.4 การค้นหาเชื้อเชิงรุก ในกรณีที่พบว่า ผู้ป่วยจะได้รับเชื้อมาจากภายในชุมชนที่ใช้ชีวิตหรืออาศัยอยู่ ซึ่งในชุมชนนั้นอาจจะมีผู้ป่วยรายอื่นหรือมีการระบาดเกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องค้นหาเชิงรุกภายในชุมชนนั้นๆ เพื่อค้นหาและดำเนินการแยกผู้ป่วยโดยเร็ว       

2.5 การแยกผู้ติดเชื้อ ออกจากผู้ไม่ติดเชื้อ โดยดำเนินการจัดหาสถานที่เพื่อใช้เป็นสถานที่รองรับ ดูแลรักษา และแยกกักหรือกักกันผู้ติดเชื้อหรือผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าติดเชื้อโดยด่วน โดยขอความร่วมมือจากสถานศึกษา มหาวิทยาลัย โรงแรม หอประชุม สถานที่ของเอกชน หรือสถานที่อื่นใดที่มีความเหมาะสม รวมทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ วัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการบริหารจัดการ    

 3. การรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ DMHTTA คือ D : Distancing เว้นระยะห่าง M : Mask wearing สวมหน้ากาก H : Hand washing  ล้างมือบ่อย ๆ T : Temperature ตรวจวัดอุณหภูมิ T : Testing ตรวจหาเชื้อโควิด-19  และ A : Application ใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ/หมอชนะ อย่างเคร่งครัด      

นอกจากนี้ ตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ยังให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร สามารถออกประกาศหรือคำสั่งกำหนดมาตรการที่เข้มข้นมากกว่าข้อกำหนดได้ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้ง ยังมี ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศปก.ศบค. ประชุมทุกวันเพื่อติดตามสถานการณ์ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์เป็นรายพื้นที่  กรณีมีข้อแนะนำหรือคำสั่งเพิ่มเติม ศปก.ศบค. ก็จะมอบหมายให้ ศบค.มท. แจ้งให้จังหวัดและกรุงเทพมหานคร พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
กองสารนิเทศ สป.มท.ครั้งที่ 64/2564วันที่ 24 เมษายน 2564