เอไอเอส ทุ่ม 50 ล. ฉีดวัคซีนให้พนักงาน-ชู 3 ประสานรัฐ เอกชน ปชช ร่วมฝ่าโควิด

เอไอเอส ทุ่ม 50 ล. ฉีดวัคซีนให้พนักงาน-ชู 3 ประสานรัฐ เอกชน ปชช ร่วมฝ่าโควิด

เอไอเอส ทุ่ม 50 ล้าน ฉีดวัคซีนให้พนง.ทุกคน ชู 3 ประสาน เอกชน รัฐ ประชาชน ฝ่าวิกฤติโควิด แนะ 'รัฐ' เร่งอัดมาตรการเยียวยา ระยะยาว ปรับโครงสรา้ง ลดภาษี ช่วยเอสเอ็มอีให้อยู่รอดได้

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า เอไอเอส ได้อนุมัติงบประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อทำคำสั่งขอซื้อวัคซีนจากรพ.เอกชน เพื่อนำมาฉีดให้กับพนักงานเอไอเอสจำนวนราว 10,000 กว่าคน ซึ่งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 4,000 บาท แต่ที่ผ่านมาด้วยเงื่อนไขของรัฐบาลที่ยังไม่สามารถให้รพ.เอกชนนำเข้าวัคซีนได้จึงต้องชะลอแผนดังกล่าวออกไป

แต่หลังจากที่มีกระแสข่าวในการเปิดกว้างให้รพ.เอกชนแล้วตอนนี้ ก็เชื่อว่าหากนำมาฉีดได้จริง เอไอเอสก็จะเป็นองค์กรที่อยู่ในลำดับคิวต้นๆเพราะได้ดำเนินการไว้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

ส่วนข้อเสนอแนะ และแนวทางแก้ไขปัญหาจากวิกฤติโควิดในครั้งนี้ อยากให้เกิดความร่วมมือ 3 ประสานอย่างเป็นเอกภาพและมีความจริงจังในการปฎิบัติ และความมือโดยจะประกอบไปด้วย 1.รัฐบาล 2.เอกชน และ 3.ประชาชน โดยรัฐบาลต้องมีความเตรียมพร้อม วางแผนล่วงหน้าเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีน เพราะวัคซีนคือคำตอบ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันของสังคมไม่ให้เกิดระลอก4และ5ในอนาคต

“สิ่งเอกชนได้แต่หวัง คือ ยับยั้งไม่ให้มีการระบาดอย่างรุนแรง หรือเร่งจัดหาวัคซีนให้ทั่วถึง และให้ทุกอย่างกลับมาปกติในไตรมาส 2 เพื่อให้ครึ่งปีหลังสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้"

ทั้งนี้ แม้ช่วงโควิดที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยยอดการใช้ดาต้า ทั้งวอยซ์และอินเทอร์เน็ต จะขยายตัวถึง 30% แต่ในแง่ของผลประกอบการไม่ได้เติบโตเพราะกำลังซื้อไม่มี ซึ่งเอไอเอสหวังว่าภายในปีนี้ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น เอไอเอสน่าจะมีอัตราการเติบโตได้ราว 2-5%

นายสมชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจในระยะยาว ไม่ใช่หว่านเงิน แจกเงินเพื่อหวังผลแค่ในระยะสั้น ควรมองที่ปรับโครงสร้างของธุรกิจทั้งในด้านการดำเนินการ ภาษี และช่วยพยุงผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ไม่ให้ล้มหายไปจากอุตสาหกรรม 

ทั้งนี้ แม้จะมีความประสงค์จากหลายบริษัทขนาดใหญ่ ที่ต้องการระดมทุน เพื่อนำมาช่วยประเทศให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องไม่แข่งขันกันในเชิงภาพลักษณ์ เช่น การที่เอไอเอสเข้าไปติดตั้งโครงข่าย 5จี ใน รพ.สนาม ผู้ประกอบการรายอื่นที่มีกำลัง ควรมองหา รพ.สนาม อื่น ที่ยังรอความช่วยเหลือ ไม่จำเป็นต้องมาทำซ้ำซ้อนเพื่อเสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์

“จากวิกฤตินี้ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็กแล้ว แต่คือปลาใหญ่ต้องช่วยประคับประคองปลาเล็ก อย่างเอไอเอสเองก็จะพยายามจัดสรรแพ็คเกจโซลูชั่น อินฟราสตรัคเจอร์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถอยู่ได้ทำธุรกิจได้”

และสุดท้ายในภาคประชาชน อยากขอให้ทุกคนประหยัด ไม่ใช้เงินจากการเยียวยาจากสิ่งที่รัฐบาลสปอยให้มากเกินไป เงินที่ได้ควรนำไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงเป็นรายจ่ายจริงๆ และอยากให้ทุกคนเรียนรู้เตรียมความพร้อม และรู้จักปรับตัวเพื่อให้พร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเข้ามามีผลอย่างมากภายหลังจากวิกฤติโควิดนี้สิ้นสุดลง

ขณะที่ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 มาจนถึงการระบาดระลอกใหม่ในช่วงเวลานี้ ภาคธุรกิจแขนงต่างๆ และประชาชนต่างได้รับผลกระทบอย่างมากต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้การทำงานของ AIS ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและผู้ให้บริการดิจิทัล ไม่ได้มองเพียงแค่การเติบโตทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว

แต่ให้ความสำคัญกับการ “เชื่อมต่อ” ทุกสรรพกำลังทั้งภาคธุรกิจ พาร์ทเนอร์ และร่วมสนับสนุนภาคสาธารณสุขไทย ให้สามารถ “ช่วยเหลือ” กับวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ “เพื่อคนไทย” ผ่านการนำศักยภาพขององค์กรที่มีทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น เน็ตเวิร์ค นวัตกรรม บุคลากร ให้เดินหน้าเข้าสู่ทุกพื้นที่การช่วยเหลือและทุกสนามการแข่งขัน

ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของภาวะการระบาด AIS มีปณิธานแรงกล้าที่จะนำความแข็งแกร่งของการเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเข้ามาร่วมฟื้นฟูประเทศ เคียงข้างทุกภาคส่วน ผ่าน โครงการ AIS 5G สู้ภัย COVID-19 โดยเป็นภาคเอกชนกลุ่มแรกที่นำขุมพลังของ 5G เข้าสนับสนุนการทำงานของภาคสาธารณสุข

161897747831

ทั้งการขยายเครือข่าย 5G ,นวัตกรรมหุ่นยนต์ Robot for Care ที่สร้างวิถีใหม่ของ Social Distancing พร้อมเสริมศักยภาพ ช่วยแบ่งเบาภาระและช่วยลดความเสี่ยงของทีมแพทย์และพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ หรือแม้แต่การนำร่องกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ “Digital Yacht Quarantine” ด้วย NB-IoT และสาวิดยรัดข้อมืออัจฉริยะ พร้อมการอยู่เคียงข้างชาว อสม. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดและสามารถช่วยให้ระบบสาธารณสุขของประเทศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นผ่านแอพพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์

“จนกระทั่งภาวการณ์ระบาดช่วงแรกเริ่มลดลง AIS จึงเดินหน้าการร่วมฟื้นฟูประเทศ ด้วยการนำเทคโนโลยี 5G ที่มีคุณภาพดีที่สุดจากปริมาณคลื่นความถี่มากที่สุด พร้อมขีดความสามารถของบุคลากร เข้าไปทำงานนำร่องกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในเขต EEC เพื่อยกระดับ และเตรียมพร้อมการแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่งในโลกยุค COVID รวมถึงการส่งต่อ Digital Lifestyle ที่ช่วยให้คนไทยพร้อมรับชีวิตวิถีใหม่ในทุกแง่มุมผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลจาก AIS”

“ผมมองว่า COVID-19 ระลอกแรก สอนให้เรารู้จัก เตรียมพร้อมกับทุกสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเตรียมพร้อมฝึกฝนขีดความสามารถใหม่ๆ, สร้างรูปแบบการทำงานในโลกปรกติใหม่ มีมุมมองแบบ Pro Active ส่งผลให้เราสามารถต่อสู้กับวิกฤตที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่การให้บริการลูกค้า และส่งมอบความช่วยเหลือ เคียงข้างคนไทย ดังกรณีวิกฤตCOVID-19 ระลอก 2 ปลายปี 63 ที่ AIS เป็นผู้ให้บริการสื่อสารรายแรกที่สามารถลงพื้นที่ติดตั้งเครือข่ายสื่อสารสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลสนามแห่งแรก ณ จ.สมุทรสาครได้สำเร็จ รวมถึงความช่วยเหลือต่างๆ ที่สอนให้เราเข้าใจว่า เทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัลเซอร์วิส คือ หัวใจสำคัญต่อการทำงานของทีมแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ ทำให้แม้วันนี้เราจะต้องเจอกับการระบาดครั้งใหญ่อีกครั้ง ชาวเอไอเอสก็สามารถส่งต่อความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที เพราะผ่านกระบวนการทรานส์ฟอร์มทักษะ ทั้ง Hard Skill และ Soft Skill รับมือกับโลกยุค COVID ได้อย่างเต็มที่”

ดังนั้นท่ามกลางการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ของ COVID-19 “AIS 5G สู้ภัย COVID-19” จึงพร้อมจัดทัพทั้งองคาพยพอีกครั้งในการสนับสนุนการทำงานของภาคสาธารณสุขที่เป็นศูนย์กลางบริหารจัดการ การรับมือกับ COVID-19 แบบเต็มสรรพกำลัง เพื่อฟื้นฟูประเทศ ผ่านการทำงานด้วยเทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัลเซอร์วิส ใน 4 มิติ ดังนี้

•โรงพยาบาลสนาม ติดตั้งเครือข่าย AIS 5G ,4G, Free Wifi ในโรงพยาบาลสนามหลักกว่า 31 แห่ง มากกว่า 10,000 เตียง ทั่วประเทศ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น เชื่อมต่อระบบ CCTV เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วย, การส่งต่อข้อมูลการแพทย์ ตลอดจนให้ผู้ป่วยที่กักตัวสามารถสื่อสาร ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวให้คลายความกังวล มีกำลังใจในการฟื้นฟูสุขภาพ

•การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine เทคโนโลยีที่ช่วยลดภาระการทำงานของแพทย์และพยาบาล ในการติดต่อสื่อสาร กับผู้ป่วย ที่ช่วยลดการสัมผัส และลดความแออัด โดยเบื้องต้นได้ร่วมกับแอพพลิเคชั่น “Me -More” ให้บริการในโรงพยาบาลสนามในเครือกรุงเทพมหานคร

•5G AI อัจฉริยะ เดินหน้าร่วมมือกับราชวิทยาลัย จุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลเครือข่าย คือ โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลร้อยเอ็ด และ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ โดยการนำ AI CT Scan ปอด เข้ามาให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยจะช่วยวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เชิงปริมาณจากการตรวจวินิจฉัยทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ปอดของผู้ป่วย เพื่อวิเคราะห์ผู้ติดเชื้อ COVID-19

โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและโซลูชันปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) กับแพลตฟอร์มที่ได้รับการเทรนจากข้อมูลของผู้ป่วยจริงในประเทศจีน ซึ่งเป็นการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแม่นยำ รวดเร็ว และ สามารถวิเคราะห์ผลได้ภายในเวลาเพียง 25 วินาทีต่อ 1 เคส ความแม่นยำสูงสุดในการวินิจฉัยสูงถึง 96% นับว่ามีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง โดยนวัตกรรมนี้จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับความปลอดภัย ลดปริมาณการตรวจสารคัดหลั่ง ลดจำนวนชุดตรวจ COVID-19 ช่วยลดการใช้ PPE และแบ่งเบาภาระให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และช่วยให้บุคลากรหลายๆ ท่านสามารถกระจายตัวไปดูแลเคสผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ที่สำคัญ เป็นการสร้างความเท่าเทียมในการได้รับโอกาสทางสาธารณสุข ผ่าน 5G ได้อย่างชัดเจน

อสม. AIS ยังคงเสริมขีดความสามารถของ อสม. อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมี อสม.มากกว่า 5 แสนรายที่ใช้งาน แอพพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ ช่วยในการรายงาน การคัดกรอง เฝ้าระวัง รวมถึงติดตามผลในกลุ่มเสี่ยง รวมถึงสำรวจสุขภาพจิตจากความเครียดที่มาจากผลกระทบของ COVID-19 โดยเฉพาะในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ที่มีการเดินทางของกลับบ้านของคนเมือง ยิ่งจะทำให้การทำงานของ อสม.ต้องยิ่งมีความเข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม

161897752980

นายสมชัย กล่าวในช่วงท้ายว่า AIS ในฐานะองค์กรขนาดใหญ่ เรามีมาตรการรัดกุมขั้นสูงสุดในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อในการให้บริการลูกค้าและดูแลสังคมไปพร้อมๆ กันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้วันนี้พนักงานส่วนใหญ่จะทำงานแบบ WFH แต่สำหรับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลเครือข่ายและลูกค้า ก็พร้อมอย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อลูกค้าและคนไทย

"โดยผมขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ประเทศ องค์กรใดที่มีกำลังก็สนับสนุนองค์กรเล็ก หรือ ผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้มีพลังที่จะเดินหน้าต่อ โดยเชื่อมั่นว่า บทเรียนจากสถานการณ์ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา หากเรานำมาใช้เพื่อ ‘เตรียมพร้อม ต่อสู้ ปรับตัว’ ตามบริบทของแต่ละอุตสาหกรรม หรือ รูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคน จะทำให้เราสามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนแน่นอน"