ยอดติดโควิด-19 จากคนใกล้ชิดพุ่ง แซงกลุ่มสถานบันเทิง

ยอดติดโควิด-19 จากคนใกล้ชิดพุ่ง แซงกลุ่มสถานบันเทิง

โควิด-19 ติดใหม่ 1,390 ราย ยังไม่น่าวางใจ ยอดติดจากคนใกล้ชิดพุ่งแซงคลัสเตอร์สถานบันเทิงต้นตอระบาด ขณะที่จังหวัดอื่นๆพบติดเชื้อมากกว่ากทม. เกิดการแพร่ระบาดภายในพื้นที่แล้ว 75 จังหวัด

เมื่อเวลา 11.30น. วันที่ 19 เม.ย.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล ในการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19(ศบค.) กล่าวว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,390 ราย แบ่งเป็นระบบเฝ้าระวังและบริการ 1,058 ราย จากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 326 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 6 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย ผู้ป่วยสะสมระลอกเม.ย. 14,879 ราย เสียชีวิตสะสม 10 ราย ผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 43,742 ราย ยังรักษาอยู่14,851 ราย อยู่ในรพ. 14,288 ราย รพ.สนาม 563 ราย เสียชีวิตสะสม 104 ราย

ผู้เสียชีวิตรายที่ 102 ของประเทศไทย เป็นชายไทย อายุ 56 ปี อาชีพพนักงานเสิร์ฟในสถานบันเทิง กรุงเทพมหานคร(กทม.) โรคประจำตัว คือ โรคความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองตีบ ขณะป่วยอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 13 เม.ย. มีอาการไอ นอนพักรักษาที่บ้าน เมื่อวันที่ 17 เม.ย. เวลา 16.30 น. ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น จึงเข้าพบแพทย์ที่คลินิก ต่อมาเวลา 20.30 น. เริ่มหายใจติดขัด ครอบครัวจึงติดต่อรถพยาบาลมารับเข้ารักษาที่ รพ. ในเวลา 22.00 น. ต่อมามีอาการแย่ลง หัวใจหยุดเต้น เจ้าหน้าที่ทำการฟื้นคืนชีพ แต่ไม่ดีขึ้นและผลยืนยันติดเชื้อโควิด-19 กระทั่งเมื่อวันที่ 18 เม.ย. เสียชีวิตในเวลา 00.31 น.

“เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ว่า ขณะที่มีการเจ็บป่วยไม่ควรอยู่บ้าน แต่ควรเข้าสู่กระบวนการรักษา แม้ว่าจะมีอาการเล็กน้อย เพื่อให้ได้การช่วยเหลือดูแล อย่างเช่นผู้เสียชีวิตรายนี้ เมื่อมีอาการหนัก เข้าสู่การรักษาพบว่า มีอาการแย่ลงรวดเร็ว กระทั่งชีวิต แพทย์ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้” พญ.อภิสมัย กล่าว

ผู้เสียชีวิตรายที่ 103 เป็นหญิงไทย อายุ 84 ปี โรคประจำตัว คือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและต้องล้างไตเป็นประจำ ขณะป่วยอยู่ที่ กทม. มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า เป็นหลานชายที่ทำงานในสถานบันเทิงย่านรัชดา โดยวันหยุดที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 3 เม.ย. หลานกลับไปเยี่ยมยายที่บ้าน มีการสัมผัสใกล้ชิด โดยทราบภายหลังว่าหลานชายติดเชื้อ ต่อมาเมื่อวันที่ 8 เม.ย. มีอาการไข้ ไอ เหนื่อยหอบ ผลเอกซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง แพทย์พิจารณาใส่ท่อช่วยหายใจ แต่อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ผลยืนยันติดเชื้อโควิด-19 และเมื่อวันที่ 16 เม.ย. ความดันโลหิตตก และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

และผู้เสียชีวิตรายที่ 104 เป็นหญิงไทย อายุ 61 ปี อาชีพขายค้า อยู่จ.ประจวบคีรีขันธ์ โรคประจำตัว คือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและไทรอยด์ ก่อนหน้าที่ยังไม่ได้สัมผัสผู้ติดเชื้อ ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ เดินทางไปขายของได้ กระทั่ง เมื่อวันที่ 6 เม.ย. มีประวัติรับประทานอาหารร่วมกับผู้ติดเชื้อยืยนยันรายก่อนหน้าเป็นผู้ที่ไปสถานบันเทิง อ.หัวหิน เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ได้รับแจ้งว่าเพื่อนติดเชื้อ จึงไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ต่อมาเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ผลยืนยันติดเชื้อ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ได้เข้ารักษาใน รพ. และเมื่อวันที่ 18 เม.ย. มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

" ปัจจัยเสี่ยงที่เราเน้นย้ำเสมอคือการสัมผัสผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด เป็นคนในครอบครัว คนที่เราไว้วางใจ ทำให้ไม่ได้ระมัดระวัง จึงเกิดการติดเชื้อ และ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ก็จะมีความเสี่ยงสูงที่อาการทรุดลงรวดเร็ว นำไปสู่การเสียชีวิตได้ จึงต้องเน้นย้ำประชาชน ระวังการแพร่เชื้อไปสู่คนใกล้ชิด"พญ.อภิสมัย กล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 709,437 ราย สะสมที่ 141,999,278 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 9,418 ราย สะสม 3,032,862 ราย โดยประเทศไทยอยู่อันดับที่ 109 และประเทศที่พบการติดเชื้อสูง คือ สหรัฐอเมริกา แต่ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ อินเดีย ที่หลังเทศกาลก็พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 แสนรายต่อวันมาโดยตลอด ส่วนในทวีปเอเซีย คือ มาเลเซีย พบรายใหม่ 2,195 ราย กัมพูชา 618 รายและระบบสาธารณสุขเริ่มมีปัญหาแล้ว ดังนั้น เราต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

ยอดติดจากคนใกล้ชิดพุ่ง
พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า ปัจจัยเสี่ยงตามพื้นที่ของผู้ป่วยโควิด 19ในประเทศไทย ระลอกดือนเมษายน 2564 ตั้งแต่ 1-19.เม.ย.เวลา 06.00น. จากจำนวน 14,736 ราย พื้นที่กทม. สะสม 3,615 ราย แยกเป็น สถานบันเทิงสะสม 1,529 ราย ตลาด ชุมชน ขนส่ง 184ราย ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสัมผัสผู้ติดเชื้อ การรวมกลุ่ม การสังสรรค์การประชุมสัมนา โรงเรียน การสอบ งานเลี้ยงรุ่นงานบวช กินหมูกะทะ เป็นต้น 1,902 ราย พื้นที้ปริมณฑลสะสม 2,233ราย แยกเป็นสถานบันเทิงสะสม 483 ราย ตลาด ชุมชน ขนส่ง 74ราย ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ 1,676 ราย และจังหวัดอื่นๆสะสม8,888 แยกเป็น สถานบันเทิงสะสม 2,529 ราย ตลาด ชุมชน ขนส่ง 357 ราย ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ 6,002 ราย รวมในส่วนที่เป็นปัจจัยเสี่ยงอื่นๆสูงที่สุด จำนวน 9,580 ราย


"จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสูง 6 จังหวัดแรก คือ กทม. เชียงใหม่ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งจะต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง แม้จะเห็นตัวเลขเริ่มน้อยลงแต่ยังอยู่ในจำนวนที่สูง ซึ่งในการระบาดระลอกนี้ตั้งแต่ 1-19 เม.ย.กระจายครบ 77 จังหวัด"พญ.อภิสมัยกล่าว

75จ.มีการแพร่ระบาดภายในพื้นที่แล้ว

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า แต่ละจังหวัดมีการดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้น ทำให้บางจังหวัดปรับระดับสีทางระบาดวิทยาลดต่ำลง เช่น จากสีเหลืองเป็นสีเขียว หรือสีส้มเป็นสีเหลือง โดย18 เม.ย.2564 มีพื้นที่สีเขียว คือ ผู้ติดเชื้อจากจังหวัดอื่น 2 จังหวัด สีเหลืองพบกลุ่มก้อนการติดเชื้อในครอบครัว 21จังหวัด สีส้มเป็นกลุ่มก้อน 1-50 รายในพื้นที่ 27 จังหวัด เป็นกลุ่มก้อน 51-100 รายในพื้นที่ 12 จังหวัด และเป็นกลุ่มก้อนมากกว่า 100 รายในพื้นที่ 15 จังหวัด

ตัวเลขลดลงยังวางใจไม่ได้
"วันนี้ตัวเลขรายใหม่อาจจะลดลงกว่าเมื่อวาน แต่ยังวางใจไม่ได้ ขณะนี้มีการแสดงความไม่พอใจ ตำหนิผู้ติดเชื้อ ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดการช่วยเหลือหรือลดการติดเชื้อ จึงขอให้วางความขัดแย้ง มาร่วมมือกัน ต้องการความร่วมมือของคนไทยทุกคน โดยเข้มมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ประเมินความเสี่ยงของตัวเองหากเสี่ยงสูงต้องรีบไปตรวจหาเชื้อ ระหว่างรอผลหรือต้องสงสัยต้องกักตัวเอง ไม่ใช้ชีวิตปกติจนอาจนำไปติดคนในครอบครัว ชุมชน จะต้องลดสัมผัสบุคคลอื่น ห้ามไปในที่ชุมชน หากพบติดเชื้อแล้วยังไม่ได้เตียงโทร 1330 1668 1669 แอปไลน์ สบายดีบอต"พญ.อภิสมัยกล่าว

บุคลากรการแพทย์ติดแล้ว 146 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า 1-18เม.ย.2564 ตัวเลขล่าสุดมีบุคลากรทางการแพทย์ติดโควิด 19 แล้ว 146 ราย ส่วนใหญ่เป็นแพทย์และพยาบาล จึงขอฝากประชาชน การพบการติดเชื้อมีได้ แต่จอให้เจอเร็ว รายงานครบถ้วนจะได้เตรียมทรัพยากรได้พร้อม อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเตรียมทรัพยากรล่วงหน้าอย่างไร หากประชาชนไม่ร่วมมือในการหยุดการระบาด เจอผู้ติดเชื้อใหม่วันละ 1,000 ราย หาก10วันก็10,000 ราย หากปล่อยเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆทรัพยากรที่เตรียมไว้ก็ไม่ไหวเช่นกัน

ต่อมาเวลา15.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉินกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ว่า สถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,390 ราย จากข้อมูลจะเห็นว่าการระบาดระลอกแรกเดือนม.ค. - กลางเดือนธ.ค. 2563 รวม 11 เดือนขึ้นมีผู้ติดเชื้อฯ 4,237 ราย ต่อมามีการระบาดใหม่ระลอกเดือนธ.ค. 2563 เวลาเพียงประมาณ 3 เดือนครึ่งมีผู้ติดเชื้อสูงประมาณ 6 เท่าของรอบแรก หรือจำนวน 24,626 ราย แล้วค่อยๆ ซาลง แต่พอเข้าการระบาดระลอกเดือนเม.ย. 2564 ตอนนี้เพียง 3 สัปดาห์ หรือ 19 วัน ปรากฏว่าจำนวนสะสมตอนนี้ 14,851 รายถือว่าสูงมากกว่า 3 เท่าของ 11 เดือนแรกของการระบาดรอบแรก โดยระลอกล่สุดนี้เกิดจากการเที่ยวสถานบันเทิงของคนหนุ่มสาวกลับบ้านแล้วกระจายไปทั่วทุกจังหวัด

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า สำหรับกรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด 19 ช่วงวันที่ 1-18 เม.ย. 2564 พบ 146 ราย โดยประวัติเสี่ยง คือ 1.การติดเชื้อจากภายนอก รพ. 62 ราย คิดเป็น 42.5% 2.การติดเชื้อใน รพ.พบ 55 ราย คิดเป็น 37.7% จำนวนนี้เป็นการสัมผัสหรือให้การรักษาผู้ป่วยยืนยันขณะทำงาน 33 ราย ติดจากเพื่อนร่วมงาน 22 ราย และ 3.อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 29 ราย คิดเป็น 19.9% ทั้งนี้ มีการติดเชื้อใน 35 จังหวัด ได้แก่ กทม. 38 ราย สุพรรณบุรี 11 ราย ชลบุรี 8 ราย ราชบุรี 8 ราย สมุทรปราการ 7 ราย อุดรธานี 7 ราย นครปฐม 7 ราย นราธิวาส 7 ราย ปทุมธานี 6 ราย ขอนแก่น 6 ราย นครราชสีมา 5 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 5 ราย สงขลา 3 ราย นนทบุรี 2 ราย และนครพนม 2 ราย นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ถูกกักตัวอีกจำนวนมาก.