ไทยสร้างไทยในมือ “สุดารัตน์” ปลุกรุ่นใหม่-ระดมรุ่นเก่าลุยการเมือง

ไทยสร้างไทยในมือ “สุดารัตน์” ปลุกรุ่นใหม่-ระดมรุ่นเก่าลุยการเมือง

“วันนี้ไม่ใช่ความคิดแค่เหลืองแดง กลายเป็นเรื่องของช่วงวัย ไทยสร้างไทยจึงขอเป็นสะพานเชื่อมให้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ มาช่วยกันทำให้บ้านเมืองเดินไปได้”

หลังตัดสินใจแยกทางกับพรรคเพื่อไทย (พท.) แยกทางกับ “นายใหญ่-นายหญิง” เพราะความไม่ลงรอยกับ “น้องสาวนายใหญ่” แถมยังโดนเครือข่ายคนเดือนตุลาฯ ยึดพรรคพท.จนสูญเสียอำนาจจำ

“คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” จึงตัดสินใจสร้างพรรคการเมืองของตัวเองขึ้น โดยยื่นจดทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยใช้ชื่อว่าพรรคไทยสร้างไทย

“สุดารัตน์” ได้เปิดใจถึงแนวคิด แนวนโยบาย แนวทางการทำงาน ของพรรคไทยสร้างไทยในรายการ คม ชัด ลึก Exclusive ไว้อย่างน่าสนใจ

“สุดารัตน์” เริ่มเล่าว่า สำหรับพรรคไทยสร้างไทย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทางธุรการ ทั้งการเขียนข้อบังคับพรรค ระเบียบพรรค และนโยบายพรรค หลังจากนั้นก็จะประชุมกรรมการบริหารพรรค เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรคใหม่ ตอนนี้เหมือนเรากำลังสร้างบ้านหลังใหม่ อยากสร้างให้เป็นบ้านที่ดีที่สุด เพราะจะเป็นงานชิ้นสุดท้าย

ส่วนตัวอยากให้บ้านหลังใหม่นี้เป็นที่พื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะเสียสละเข้ามาทำงานการเมือง ได้ใช้เป็นสถานที่ทำงาน เพื่อขับเคลื่อนไปในอนาคตที่ดี เราใช้ชื่อว่าไทยสร้างไทย เพื่อมาร่วมสร้างประเทศไทย ร่วมสร้างอนาคตของประเทศไทยร่วมกัน

“ดิฉันอยู่การเมืองมา 29 ปี เคยให้สัญญากับครอบครัวว่า หากจะทำงานการเมือง 30 ปี จะหยุดทำงานการเมือง แต่บังเอิญมีปัญหากับพรรคเก่า แต่ทีมงานหลายคนขอให้ช่วยทำงานชิ้นสุดท้าย สร้างองค์กรดีๆสักหนึ่งองค์กร จึงมาทำหน้าที่เป็นเสาเข็ม สร้างองค์กรใหม่ เป็นสะพานเชื่อมให้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ มาช่วยกันทำให้บ้านเมืองเดินไปได้”

“สุดารัตน์” ตอบคำถามถึงการนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยว่า ส่วนตัวคิดว่าการเมืองแบบใหม่ เราคิดแบบเดิมไม่ได้ เราต้องสร้างทีม ช่วงแรกเราอาจจะรับหน้าที่ ในฐานะที่คนทั้งประเทศรู้จัก แต่เราต้องสร้างทีม เราจะแสวงหาคนใหม่ แต่ไม่ได้ปิดโอกาสคนเดิม

“คนรุ่นใหม่มองเห็นว่าการเมืองเรื่องใกล้ตัว การเมืองกำหนดอนาคต กำหนดชีวิตของเขา ทำให้คนรุ่นใหม่อยากเข้ามาทำการเมืองมากขึ้น เราจึงต้องไปเชิญชวนคนมีความสามารถเข้ามา เพื่อต่อยอดในสิ่งที่คนรุ่นใหม่มีความถนัด มาช่วยกันสร้างบ้านเมือง ส่วนนักการเมืองเก่าๆก็ยังมีความจำเป็น เพื่อมาช่วยเสริมฐานรากในสิ่งที่ตัวดิฉันกำลังทำอยู่”

สำหรับการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานของพรรคไทยสร้างไทยจะคิดใหม่ทั้งหมด เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นแค่คนที่วิเคราะห์สถานการณ์การเงินเก่ง ทำหน้าที่คอยเตือนว่าสภาพการเงินของประเทศมีตัวไหนที่น่ากลัว ซึ่งรมว.คลังอาจจะต้องมีถึง 10 คน ใครที่เก่งด้านไหนก็ต้องทำงานเป็นทีมเศรษฐกิจ เช่น บางคนเก่งเรื่องการหาเงิน บางคนเก่งเรื่องดิจิตัลมาร์เก็ตติ้ง บางคนเก่งเรื่องธุรกิจอาหาร เราก็ต้องหาคนมาทำงานให้ตรงกับงาน

“วันนี้เรายังมองว่าเกษตรกรเป็นภาระของประเทศ เกษตรกรไทยจะต้องไม่ไปจำนอง จำนำ สินค้าทางเกษตรอีกต่อไป เราต้องทำให้ราคาสินค้าเกษตรมีราคาดี เราต้องเป็นศูนย์กลางอาหารปลอดภัย ขายได้ทั่วโลกในราคาที่สูงขึ้น และปลูกผลผลิตทางการเกษตรตามปริมาณที่โลกต้องการ โดยเราจะนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วย เราจะผลิกให้เกษตรกรไทยเป็นผู้หาเงินให้กับประเทศ”

ขณะเดียวกัน “สุดารัตน์” วิพากวิจารณ์การแก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ว่า รัฐบาลพยายามกักคนให้ห่างจากโรค แต่ไม่พยายามกักตัวโรค ส่วนตัวเคยเสนอไว้ว่าเราต้องกักโรค เช่น เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ตรงไหน ถึงแม้จะมีคนเคลื่อนย้ายออกไป เราสามารถตามไทม์ไลน์ของคน แล้วตรวจให้เยอะที่สุด แต่เราตรวจคนน้อยมาก ทำให้เกิดการแพร่ระบาดมาก

“ที่สำคัญการเปิดให้คนกลับบ้านช่วงเทศกาล ยิ่งทำให้โรคระบาดแพร่ออกไปอีก เพราะเราเกิดการแพร่เชื้อก่อนเทศกาลสงกรานต์ แต่รัฐบาลไม่ยอมกักโรค แต่กลับปล่อยให้คนเดินทางกลับบ้าน จนแพร่เชื้อไปยังต่างจังหวัด”

สำหรับการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล ส่วนตัวมองว่าวัคซีนจะช่วยด้านเศรษฐกิจ แต่อยู่ในรูปแบบวัคซีนเร่งด่วน ทำให้วัคซีนของทุกบริษัทที่ผลิตกันอยู่ ไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร

“ขอร้องรัฐบาลให้จองวัคซีนของทุกบริษัทที่ผลิตได้ ไม่ใช่แค่จองของ 2 บริษัท รัฐบาลต้องรีบจัดหาให้เร็วที่สุด เพราะจะสร้างความมั่นใจทางเศรษฐกิจ คนตายเพราะโควิดก็มี แต่คนตายเพราะเศรษฐกิจจะมีมากขึ้น เราจึงจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนที่มีอยู่ในตลาดให้มาก และรวดเร็วที่สุด”

“สุดารัตน์” มองการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ที่รัฐสภา แต่ให้ไปถามความเห็นของประชาชนก่อน ซึ่งหากรัฐบาลจริงใจสามารถนำวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมครม.ได้เลย ว่าจะไปถามประชามติจากประชาชนหรือไม่ ซึ่งสามารถใช้กฎหมายประชาชาติฉบับเก่าไปได้ ไม่ต้องรอกฎหมายประชามติฉบับใหม่

“อำนาจในการถามประชามติอยู่ที่ครม. นายกฯเป็นหัวหน้าครม. สามารถนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมได้เลย ว่าจะถามประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ที่จะแก้รัฐธรรมนูญ ตรงนี้หากเราฝันว่านายกฯนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม.จริง ถ้าประชาชนบอกแก้ก็ต้องแก้ ก็ไปตั้งส.ส.ร. ถ้าประชาชนบอกว่าไม่แก้ก็ไม่ต้องทำอะไร อันนี้คือกุญแจดอกแรกสุดที่จะแก้รัฐธรรมนูญอยู่ในมือนายกฯ เราถึงต้องถึงต้องขอร้องนายกฯ เพราะกฎหมายบอกไว้อย่างนั้น”

ส่วนตัวต้องการให้เริ่มทำประชามติก่อน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันต้องใช้กลไกของ ส.ส.ร. เพราะถ้าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยฝั่งรัฐบาล ประชาชนก็ไม่ยอมรับ ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยพรรคฝ่ายค้าน ฝั่งรัฐบาลก็ไม่ยอมรับ ดังนั้นให้อำนาจตรงนี้เป็นของประชาชนจะดีกว่า ให้ประชาชนเข้าไปร่าง เมื่อร่างเสร็จก็ทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง

“การแก้ไขรายมาตราเห็นสมควรแค่เรื่องเดียว หากมีการแก้ไขกันจริงๆ คือต้องตัดอำนาจของ ส.ว. 250 คน ในการโหวตเลือกนายกฯ แต่หากจะแก้รายมาตราอย่างที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ อันนั้นอย่างทำเลย มันยิ่งไปเติมฟืน เติมความไม่พอใจ มันคือการแก้เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง ฉะนั้นอย่าทำเลย ทำไปก็แทนที่จะดับไฟ กลับไปเติมไฟเสียอีก”

“สุดารัตน์” เสนอทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือการทำตามที่ศาลบอก 1.ทำประชามติสอบถามประชาชนจะให้แก้หรือไม่ 2.หากประชาชนบอกว่าให้แก้ ก็ดำเนินการเลือก ส.ส.ร. เข้ามาแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งกระบวนการตรงนี้เป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้เป็นแนวทางเอาไว้

“สุดารัตน์” ทิ้งท้ายว่า ตั้งแต่ออกจากพรรคเพื่อไทย ไม่ได้มีการพูดคุยกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มาทำพรรคการเมืองของตัวเองเพราะผ่านมา 20 กว่าปี เมืองไทยเราอยู่กับที่ มันเดินต่อไปไม่ได้ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมีมากขึ้น

“วันนี้ไม่ใช่ความคิดแค่เหลืองแดง กลายเป็นเรื่องของช่วงวัย เราจึงเชิญชวนให้ทุกคนเริ่มต้นใหม่ มาเริ่มต้นสร้างประเทศไทยด้วยกัน”