'เทนเซนต์' รุกเอเชียเปิดศูนย์ข้อมูลในอินโดฯ

'เทนเซนต์' รุกเอเชียเปิดศูนย์ข้อมูลในอินโดฯ

เทนเซนต์ โฮลดิงส์ กลุ่มบริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ของจีน เพิ่มเดิมพันเพื่อแข่งขันให้บริการคลาวด์กับบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่างกูเกิล และไมโครซอฟท์ด้วยการตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งแรกในอินโดนีเซีย ภายในปลายปีนี้และเล็งสร้างแห่งที่สองในไทยหรือในเกาหลีใต้

“โปชู หยาง” รองประธานอาวุโสของเทนเซนต์ คลาวด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งมีฐานดำเนินงานในเสิ่นเจิ้น บอกว่า บริษัทมีแผนตั้งศูนย์ข้อมูลเพิ่มหลายแห่ง รวมทั้งในเกาหลีใต้ ไทย และในตะวันออกกลางโดยที่ผ่านมา บริษัทเน้นเปิดศูนย์ข้อมูลในภูมิภาคยุโรปและสหรัฐ แต่เนื่องจากปัญหาความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างจีนและชาติตะวันตก ทำให้บริษัทต้องหันมาพึ่งตลาดเอเชียมากขึ้น บริษัทจึงวางแผนเพิ่มศูนย์ข้อมูลอีกประมาณ 30-50% ภายในปลายปีนี้

ในช่วงที่โรคโควิด-19ระบาดหนัก ธุรกิจการประชุมทางไกลผ่านวิดีโอ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การศึกษาผ่านออนไลน์ ธุรกิจเกม และไลฟ์สตรีมในภูมิภาคเอเชียเติบโตอย่างรวดเร็วเนื่องจากผู้บริโภคใช้เวลาอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ และเพื่อรองรับความต้องการด้านออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น บรรดาบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆอย่าง กูเกิล ของอัลฟาเบท เฟซบุ๊ค อเมซอน ไมโครซอฟท์ รวมทั้งยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซอย่างอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิง ต่างแข่งกันสร้างศูนย์ข้อมูลเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัลของเอเชีย

ข้อมูลของซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า ปีที่แล้ว การลงทุนด้านศูนย์ข้อมูลในเอเชียแปซิฟิกเพิ่ม4 เท่าเป็น 2,200 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปี 2562 และในบรรดาประเทศอาเซียน อินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในตลาดคลาวด์ที่มีการแข่งขันสูงที่สุด ที่ผ่านมา ทั้งกูเกิล ไมโครซอฟท์ อเมซอน และเฟซบุ๊ค ต่างประกาศแผนสร้างศูนย์ข้อมูลแห่งแรกในประเทศนี้ ซึ่งมีประชากร 270 ล้านคนถือว่ามากที่สุดอันดับ 4 ของโลก

ในส่วนของอาลีบาบาเอง เปิดศูนย์ข้อมูลสองแห่งในอินโดนีเซียและมีแผนจะเพิ่มแห่งที่สาม

“ผมคิดว่าอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในตลาดคลาวด์ที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนี่เป็นครั้งแรกที่เราเตรียมเปิดศูนย์ข้อมูลสองแห่งในปีเดียวในตลาดนี้ สะท้อนให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญกับตลาดอินโดนีเซียมากแค่ไหน”หยาง กล่าว

ศูนย์ข้อมูลใหม่ของเท็นเซนต์ ซึ่งตั้งอยู่ในย่านธุรกิจของกรุงจาการ์ตา จะทำหน้าที่สนับสนุนแก่อุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึง อุตสาหกรรมการบริการทางการเงิน อีคอมเมิร์ซ บันเทิง เกม และการศึกษา การมีโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ในท้องถิ่นจะช่วยลดปัญหาการดีเลย์ในกระบวนการถ่ายโอนข้อมูล ช่วยให้บริษัทเปิดให้บริการรูปแบบต่างๆที่แข่งขันได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับการใช้โครงสร้างพ้นฐานคลาวด์ในต่างประเทศ

“การตั้งศูนย์ข้อมูลของเราจะช่วยให้เราเข้าถึงธุรกิจในท้องถิ่นมากขึ้น”รองประธานอาวุโสของเทนเซนต์ คลาวด์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

การ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยชั้นนำโลก ระบุว่า เทนเซนต์ เป็นผู้เล่นรายใหญ่สุดอันดับ4ในตลาดคลาวด์ของเอเชียแปซิฟิก รองจากอาลีบาบา อเมซอน และไมโครซอฟท์ ลูกค้าในท้องถิ่นของเทนเซนต์ รวมถึง แบงก์ นีโอ คอมเมิร์ซ มีฐานดำเนินงานในกรุงจาการ์ตา ซึ่งจะใช้ฐานข้อมูลของเทนเซนต์สนับสนุนการบริการธนาคารดิจิทัล

ขณะเดียวกัน หยางเชื่อมั่นว่า เทคโนโลยีการเงินจะเติบโตอย่างมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเทนเซนต์ไม่มีแผนที่จะให้บริการด้านการธนาคารเสมือนจริงด้วยตัวเอง ขณะนี้ บริษัทกำลังหารือกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อให้การสนับสนุนด้านข้อมูลสำหรับการบริการแก่สาธารณะชน

ปัจจุบัน มีผู้ให้บริการด้านคลาวด์รายใหญ่ของโลกคือ

1. อเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส เอส 3 (เอดับเบิลยูเอส) เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2549

2. ไมโครซอฟท์ อะซัวร์ ดาต้า เลค เปิดตัวในปี 2554

3. กูเกิล คลาวด์ สตอร์เอจ

4. ออราเคิล คลาวด์

5. ไอบีเอ็ม คลาวด์

6. อาลีบาบา คลาวด์ ที่ปัจจุบันเปิดตัวในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย แต่ยังไม่เป็นที่นิยมในประเทศตะวันตกเท่ากับ กลุ่มบิ๊ก 3 คือ กูเกิล, เอดับเบิลยูเอส และไมโครซอฟท์ แต่ก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม อาลีบาบา คลาวด์เป็นผู้ให้บริการคลาวด์ชั้นนำในจีน และมีฐานผู้ใช้จำนวนมากในเอเชีย มีเครื่องมือวิเคราะห์ความปลอดภัยและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่หลากหลายเช่นเดียวกับแพลตฟอร์มในสหรัฐ