ยุโรปเลิกต่อสัญญาวัคซีน'แอสตร้าเซนเนก้า-เจแอนด์เจ’

ยุโรปเลิกต่อสัญญาวัคซีน'แอสตร้าเซนเนก้า-เจแอนด์เจ’

ยุโรปเลิกต่อสัญญาวัคซีน'แอสตร้าเซนเนก้า-เจแอนด์เจ’โดยจะหันไปให้ความสนใจกับวัคซีนที่ผลิตโดยใช้กระบวนการเมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ (mRNA) แทน เช่น วัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา

การระงับใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (เจแอนด์เจ) เป็นการชั่วคราว กลายเป็นประเด็นร้อนไปทั่วโลก เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่ทั่วโลกกำลังเร่งฉีดวัคซีนให้แก่พลเมืองในประเทศให้ได้มากที่สุด เหตุนี้ทำให้ผู้ที่ไม่มีความมั่นใจในวัคซีน ยิ่งมีความไม่มั่นใจมากขึ้น เพราะขนาดบริษัทยาชั้นนำของโลกอย่างเจแอนด์เจ ยังมีข้อบกพร่อง และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ยุโรป พิจารณาไม่ต่อสัญญาสั่งซื้อยาจาก 2 บริษัทเวชภัณฑ์โลก และหนึ่งในนั้นคือ "เจแอนด์เจ"

หนังสือพิมพ์ลา สแตมปา ของอิตาลี รายงานอ้างแหล่งข่าวในกระทรวงสาธารณสุขอิตาลีว่า คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) จะไม่ต่อสัญญาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าและบริษัทเจแอนด์เจในปีหน้า โดยยุโรปจะหันไปให้ความสนใจกับวัคซีนที่ผลิตโดยใช้กระบวนการเมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ (mRNA) แทน เช่น วัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา

การตัดสินใจไม่ต่อสัญญาวัคซีนต้านโควิด-19 จากบริษัทยาชั้นนำทั้งสองแห่งมีขึ้นในช่วงที่มีรายงานข่าวว่าสหรัฐ แอฟริกาใต้ อียู ตัดสินใจระงับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทเจแอนด์เจเป็นการชั่วคราว หลังพบรายงานการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) และสำนักงานอาหารและยา (เอฟดีเอ) ของสหรัฐ ออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับข้อแนะนำให้สหรัฐระงับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของเจแอนด์เจชั่วคราว ในระหว่างที่ทั้งสองหน่วยงานกำลังตรวจสอบกรณีการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่อาจเป็นอันตรายในผู้หญิง 6 รายจากกลุ่มผู้ได้รับการฉีดวัคซีนของบริษัทนี้มากกว่า 6.8 ล้านโดสในสหรัฐ

ในแถลงการณ์ยังระบุว่า ความผิดปกติที่พบเรียกว่า ภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน (CVST) ซึ่งเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการที่ต่างไปจากวิธีการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันตามปกติ ถ้าใช้วิธีรักษาตามปกติ คือ การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่เรียกว่า “เฮพาริน” อาจเป็นอันตราย

สำหรับผู้ป่วยทั้ง 6 ราย เป็นผู้หญิงทั้งหมด มีอายุระหว่าง 18-48 ปี โดยเกิดอาการหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 6-13 วัน

“นพ.ปีเตอร์ มาร์กส” จากเอฟดีเอ กล่าวยืนยันว่า มีผู้ป่วยเสียชีวิต 1 รายด้วยภาวะแทรกซ้อนของอาการลิ่มเลือดอุดตัน ส่วนอีกคนมีอาการวิกฤติ

ทั้งสองหน่วยงานแนะนำให้ประชาชนที่ได้รับวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันแล้วเริ่มมีอาการปวดหัวรุนแรง, ปวดท้อง, ปวดขา หรือมีอาการหายใจลำบาก ภายในช่วงเวลา 3 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีนให้รีบติดต่อแพทย์

ในส่วนของวีคซีนต้านโควิดจากบริษัทโมเดอร์นา และไฟเซอร์-ไบออนเทคนั้น“ดร.แอนน์ ชูแชท”รองผู้อำนวยการใหญ่ของซีดีซียืนยันว่ายังไม่มีรายงานเกี่ยวกับภาวะไม่พึงประสงค์กับผู้รับวัคซีน ทั้งอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ และหายใจติดขัด

ขณะที่ “ดร. อาเมซ อะดาลจา” ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากศูนย์ความมั่นคงด้านสุขภาพ มหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ของสหรัฐ ขอร้องไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก พร้อมกล่าวว่า “หากมีความเชื่อมโยงกันระหว่างวัคซีนของเจแอนด์เจกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันจริง อาการดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง 6 เคส จาก 7 ล้านโดสที่มีการแจกจ่ายไปทั้งหมด ซึ่งความเสี่ยงในการเกิดอาการดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าภาวะลิ่มเลือดอุดตันซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรับประทานยาคุมกำเนิด เพราะฉะนั้น เราไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินไป”

นอกจากนี้ เอฟดีเอ ระบุด้วยว่า จะระงับการใช้วัคซีนของเจแอนด์เจ ตามช่องทางการกระจายวัคซีนของรัฐบาลกลาง รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีนที่เป็นจุดใหญ่ๆ และคาดว่ารัฐต่างๆ ตลอดจนผู้ให้บริการฉีดวัคซีนรายอื่นๆ จะปฏิบัติตามเช่นเดียวกัน

ซีดีซีจัดประชุมฉุกเฉินกับคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการฉีดวัคซีนในวันพุธ (14เม.ย.)ตามเวลาสหรัฐ เพื่อหารือและทบทวนกรณีผลข้างเคียงทั้งหมด และประเมินน้ำหนักความรุนแรงของเหตุดังกล่าว

ส่วน“เจเน็ต วู้ดค็อก”ผู้ช่วยผู้อำนวยการเอฟดีเอ คาดการณ์ว่าคำแนะนำให้ระงับการฉีดวัคซีนของเจแอนด์เจชั่วคราวน่ามีระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่วัน

ในส่วนของเจแอนด์เจ แถลงว่า "รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว กรณีภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ ซึ่งรวมถึงผู้มีภาวะเกล็ดเลือดตํ่า หลังจากได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัท ปัจจุบันยังไม่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนถึงความเกี่ยวโยงระหว่างอาการผิดปกติที่พบได้ยากนี้กับวัคซีนต้านโควิด-19 ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน"

บริษัทยังระบุว่ากำลังตรวจสอบกรณีเช่นนี้กับหน่วยงานด้านสุขภาพของยุโรป ซึ่งได้ตัดสินใจชะลอการให้วัคซีนของเราในยุโรปออกไปก่อน

สหรัฐได้ปรับแผนเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้ประชาชนที่มีกำหนดเข้ารับการฉีดวัคซีนของเจแอนด์เจ เปลี่ยนมาฉีดวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นาแทน ส่วนอียู ระงับการเปิดตัวโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของเจแอนด์เจชั่วคราวเช่นกัน โดยเดิมจะเริ่มในสัปดาห์นี้ เนื่องจากเกิดผลข้างเคียงกับผู้ฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นอาการคล้ายกับผู้ได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า

วัคซีนของเจแอนด์เจ พัฒนาโดยใช้เวคเตอร์ของอาดีโนไวรัส แบบเดียวกับวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งกำลังถูกตั้งคำถามเรื่องการทำให้เกิดลิ่มเลือดเช่นกัน โดยล่าสุดสำนักงานยาแห่งยุโรป (อีเอ็มเอ) เพิ่งได้ข้อสรุปว่า ควรบรรจุเรื่องการทำให้เกิดลิ่มเลือดผิดปกติร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำในรายการผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ยากของวัคซีนตัวนี้ด้วย หลังจากพบว่าวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำแม้จะพบได้ยากมาก แต่บางประเทศในยุโรปจำกัดอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะได้รับการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากเป็นโรคที่มักพบในคนที่อายุยังน้อย

นอกจากนี้ วัคซีนของเจแอนด์เจยังแตกต่างจากวัคซีนของบริษัทอื่นๆอย่าง ไฟเซอร์, โมเดอร์นา และแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ต้องฉีดเพียงโดสเดียวต่อคน ขณะที่ของบริษัทอื่นต้องฉีดวัคซีน 2 โดส

คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) นัดประชุมในวานนี้ (14 เม.ย.) เพื่อหารือเกี่ยวกับกรณีการพบผู้ที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังได้รับวัคซีนของ ขณะที่ทางเอฟดีเอจะเริ่มการตรวจสอบกรณี