จับตา ‘ล็อกดาวน์’ พื้นที่ ‘โควิด-19’ ระบาดหนัก

จับตา ‘ล็อกดาวน์’ พื้นที่ ‘โควิด-19’ ระบาดหนัก

จับตามาตรการ “ล็อกดาวน์” คุมโควิด-19 เฉพาะพื้นที่ หากยังระบาดหนัก ด้าน สธ. เปิดลิสต์ “พื้นที่สีแดงเข้ม” 9 จังหวัด ยอดติดเชื้อหลักร้อย

  

เมื่อวันที่ 14 เม.ย.64 พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสมช. และ ผอ.ศปก.ศบค. ได้กล่าวเกี่ยวกับมาตรการรับมือการระบาดของ “โควิด-19” ที่ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มต่อเนื่อง โดยล่าสุด รัฐบาล ได้มีคำสั่งให้ใช้มาตรการ Work From Home จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2564 เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ พร้อมขอความร่วมมือภาคเอกชนให้พนักงานทำงานที่บ้านในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยนั้น 

อีกหนึ่งมาตรการที่หลายฝ่ายจับตามอง นั่นคือ จะมีการ "ล็อกดาวน์" หรือไม่นั้น พล.อ.ณัฐพล ได้เปิดเผยเพิ่มเติมถึงการประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการพิจารณามาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม โดยมีจังหวัดเสี่ยงพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ต้องจับตา ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ และภาคตะวันออกบางจังหวัด ที่ต้องจับตา และอาจมีการยกระดับมาตรการคุมโควิดในพื้นที่ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะ “ล็อกดาวน์” จังหวัดที่กล่าวมา แต่จะทำงานคู่กับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด โดย สธ. จะเป็นผู้ประเมินการระบาดพร้อมขีดความสามารถในการรับมือ เพื่อนำมาประกอบการปรับมาตรการให้เหมาะสม

เลขาสมช. ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการยกระดับมาตรการแบ่งโซนสีพื้นที่ตามการติดเชื้อแต่อย่างใด แต่ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่จะยกระดับมาตรการขึ้น เนื่องจากขณะนี้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก รวมไปถึงประชาชนเองการฝ่าฝืนมาตรการ

“การควบคุมการระบาดขณะนี้ ยังใช้มิติการมองเป็น 3 มิติ คือ  มิติ “พื้นที่” ที่ต้องเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อสูง มิติ “กิจการ” ใดที่เสี่ยง และ “กิจกรรม” ใดที่เสี่ยง โดย​นายกรัฐมนตรีได้สั่งการ เมื่อวันที่ 13 เมษายน ให้เตรียมยกระดับ โดยขณะนี้ทีมงานได้เตรียมการไว้แล้ว  เช่น การยกระดับพื้นที่ที่ผ่อนคลาย ให้เป็นพื้นที่สีแดง  แต่ศบค. ระวังไม่ให้กระทบกับประชาชนโดยรวม ทั้งนี้นโยบายรายพื้นที่ จะไม่ทำเหมือนทั้งประเทศ เพราะจะกระทบประชาชน ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ต่อการนำมาตรการล็อกดาวน์ใช้ในพื้นที่แต่ต้องรอฟังข้อมูลจากสาธารณสุขอีกครั้ง” พล.อ.ณัฐพล กล่าวให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ 

 

  • เปิด 9 จังหวัด พื้นที่สีแดงเข้ม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา 2019 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ได้กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยว่า การระบาดรอบนี้เร็ว เพราะเชื้อเปลี่ยนไปเป็นสายพันธุ์อังกฤษ B 1.1.7. ซึ่งเป็นสายพันธุ์ระบาดค่อนข้างเร็ว แต่ความรุนแรงของโรคไม่ได้มากกว่าปกติ โดยส่วนใหญ่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการประมาณ 90% 

สำหรับการควบคุมสถาาการณ์ที่ขณะนี้ตัวเลขพุ่งขึ้นนั้น ที่ผ่านมาได้มีมาตรการปิดจุดเสี่ยง สถานบันเทิงตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. และเมื่อ13เม.ย.นายกรัฐมนตรีมีการสั่งการให้หน่วยงานภาครัฐมีมาตรการ Work from Home เต็มรูปแบบหลังสงกรานต์จนถึงสิ้นเดือน เม.ย. และขอความร่วมมือภาคเอกชนด้วยเช่นกัน จะช่วยในเรื่องการควบคุมโรคได้

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีพื้นที่ระบาดที่ต้องจับตา โดย นพ.โอภาส กล่าวว่า หากแบ่งตาม "ระดับสีทางระบาดวิทยา" ข้อมูล ณ วันที่ 14 เม.ย.2564 โดยเฉพาะ “พื้นที่สีแดงเข้ม” คือ จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 รายขึ้นไป ขณะนี้มี 9 จังหวัด คือ 

1.กรุงเทพฯ 

2.เชียงใหม่ 

3.ชลบุรี 

4.สมุทรปราการ 

5.นราธิวาส 

6.ประจวบคีรีขันธ์ 

7.สมุทรสาคร 

8.ปทุมธานี และ

9.สระแก้ว 

โดยจังหวัดเหล่านี้จำเป็นต้องมีมาตรการในการควบคุมการเคลื่อนที่ของคน ไม่ว่าคนเข้าคนออก มาตรการควบคุมจุดเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าสถานบันเทิง หรือการจัดปาร์ตี้ระหว่างบุคคล ต้องเข้มงวดทั้งจุดเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง และบุคคลเสี่ยง 

  

  • ลดกิจกรรมเสี่ยง ลดการติดเชื้อ

ทั้งนี้ นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาจำนวนผู้ป่วยรายวัน ระยะ 1 เดือนข้างหน้า มีการคาดการณ์ทางวิชาการและระบาดวิทยาว่า หากไม่มีมาตรการใดๆ ในทางทฤษฎีตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งถึง 9,140 ราย แต่เมื่อมีมาตรการปิดสถานบันเทิงในจังหวัดเสี่ยงตัวเลขจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 ราย ซึ่งตัวเลขขณะนี้ก็ใกล้เคียงกัน แต่ยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือในการปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล งดปารตี้กลุ่มคนใกล้ชิด จะลดตัวเลขผู้ป่วยเหลือ 934 ราย

แต่ในมุมสาธารณสุขก็ยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการ เพราะการมีผู้ติดเชื้อระดับหลายร้อยคนจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างได้ จึงต้องเพิ่มมาตรการลดกิจกรรมการรวมตัวที่ไม่จำเป็น ทั้งกิจกรรมสาธารณะ หรือกิจกรรมในครอบครัว อย่างปาร์ตี้ส่วนบุคคลอยู่ในครอบครัว แต่มารวมตัวกันจากหลายๆที่ก็ทำให้ติดเชื้อ จะทำให้ผู้ป่วยลดเหลือ 593 ราย ซึ่งภาพรวมก็ยังไม่พอ จึงต้องเพิ่มมาตรการ เช่น การทำงานที่บ้าน WFH ก็จะลดตัวเลขติดเชื้อเหลือ 391 ราย โดยการคาดการณ์ตรงนี้จะมีเสนอและปรับเพิ่มมาตรการต่างๆ ต่อไป