'กรมควบคุมโรค' คาดช่วง 'สงกรานต์' มีโอกาสเกิด 'อุบัติเหตุ' ทางถนนสูงขึ้น

'กรมควบคุมโรค' คาดช่วง 'สงกรานต์' มีโอกาสเกิด 'อุบัติเหตุ' ทางถนนสูงขึ้น

"กรมควบคุมโรค" ขอให้ประชาชนดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลขณะเดินทางช่วง "สงกรานต์" ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ตรวจสอบยานพาหนะให้พร้อมใช้งาน และพักผ่อนให้เพียงพอก่อนออกเดินทาง และเน้น "ริน รด พรม ใส่หน้ากาก ไม่สาดน้ำ"

"กรมควบคุมโรค" เผยแพร่ "พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์" ฉบับที่ 15/2564 ประจำสัปดาห์ที่ 15 (วันที่ 11-17 เม.ย. 64)

โดยจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ข้อมูลสถิติจากศูนย์ความปลอดภัยทางถนน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 - 4 มกราคม 2564 พบการเกิดอุบัติเหตุสะสม รวม 3,333 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 392 ราย กลุ่มอายุที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ อายุ 20-24 ปี จังหวัดที่พบการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ เชียงราย ขอนแก่น และอุดรธานี"

"การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ (วันที่ 10-15 เมษายน 2564) อาจมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากประชาชนใช้รถใช้ถนนในการเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้

"กรมควบคุมโรค" ขอให้ประชาชนดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลขณะเดินทาง ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทั้งช่วงก่อนขับรถและขณะขับรถ ตรวจสอบยานพาหนะให้พร้อมใช้งาน และพักผ่อนให้เพียงพอก่อนออกเดินทาง ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ ต้องสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง

ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของปีนี้ ขอให้จัดกิจกรรมโดยเน้น "ริน รด พรม ใส่หน้ากาก ไม่สาดน้ำ" เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทย และขอความร่วมมือประชาชนทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด

โดยสวมหน้ากาก 100% ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง และหลีกเลี่ยงไปในที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก รวมถึงสถานที่เสี่ยงต่างๆ เพื่อป้องกันการรับเชื้อหรือแพร่เชื้อให้กับคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และลดการแพร่ระบาดของโรคในชุมชนด้วย

นอกจากนี้ ขอความร่วมมือประชาชนและผู้ประกอบการร้านค้า ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างเคร่งครัด โดยขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามเวลาที่กำหนด ห้ามขายให้บุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และผู้ที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422"

ที่มา: ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค