'หมอธีระ' โพสต์เฟซบุ๊ค 'สัปดาห์หน้า โควิดระบาด' กำชับให้ประชาชนอยู่บ้าน

'หมอธีระ' โพสต์เฟซบุ๊ค 'สัปดาห์หน้า โควิดระบาด' กำชับให้ประชาชนอยู่บ้าน

"หมอธีระ" ไม่สนคำเตือน สธ.-จุฬาฯ โพสต์เฟซบุ๊คต่อ ระบุ "สัปดาห์หน้าสำคัญ โควิดระบาด" กำชับให้ประชาชนอยู่บ้าน

11 เม.ย.64 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์สถานการณ์ โควิด-19 ผ่านทางเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” ระบุว่า...
 
สถานการณ์ทั่วโลก 11 เมษายน 2564... อินเดียติดเพิ่มกว่าแสนห้าต่อวัน คาดว่าอีกสองวันจะแซงบราซิลขึ้นอันดับสองของโลก เยอรมันน่าจะมียอดรวมเกินสามล้านคนพรุ่งนี้ ส่วนโรมาเนียทะลุล้านคนเป็นประเทศที่ 24 แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 677,143 คน รวมแล้วตอนนี้ 135,941,671 คน ตายเพิ่มอีก 11,385 คน ยอดตายรวม 2,938,557 คน 

- อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 65,003 คน รวม 31,868,219 คน ตายเพิ่ม 715 คน ยอดเสียชีวิตรวม 575,568 คน อัตราตาย 1.8% 

- บราซิล ติดเพิ่ม 69,592 คน รวม 13,445,006 คน ตายเพิ่มถึง 2,400 คน จำนวนเสียชีวิตต่อวันมากที่สุดในโลก ยอดเสียชีวิตรวม 351,334 คน อัตราตาย 2.6%

- อินเดีย ขณะนี้จำนวนติดเชื้อต่อวันสูงที่สุดในโลกมาอย่างต่อเนื่อง ติดเพิ่มมากถึง 152,682 คน รวม 13,355,465 คน ตายเพิ่ม 837 คน ยอดเสียชีวิตรวม 169,304 คน อัตราตาย 1.3%

- ฝรั่งเศส ยังไม่มีรายงานใหม่ ยอดรวม 4,980,501 คน ยอดเสียชีวิตรวม 98,395 คน อัตราตาย 2%

- รัสเซีย ติดเพิ่ม 8,704 คน รวม 4,632,688 คน ตายเพิ่ม 402 คน ยอดเสียชีวิตรวม 102,649 คน อัตราตาย 2.2%

อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่นต่อวัน

แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า
แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง

เกาหลีใต้ กัมพูชา และไทย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน  สิงคโปร์ เมียนมาร์ และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง เวียดนาม และออสเตรเลีย ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
 

หากเราเหลียวมองสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศตอนนี้ และมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ก็คงพอเข้าใจได้ว่า การระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้นนั้นเป็นศึกที่หนักหนา และจำเป็นต้องใช้สติ และความรู้ ในการวางแผนต่อสู้
 
เหนืออื่นใด ต้องดูบทเรียนการต่อสู้ของคนอื่น ว่าเขาแพ้หรือชนะ เพราะเหตุผลกลใด มีปัจจัยใดที่น่าจะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ปัจจัยใดเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความพ่ายแพ้
 
และที่สำคัญคือ ต้องดูบทเรียนการต่อสู้ของเราเองด้วย ว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นเช่นไร เปรียบเหมือนการพัฒนาคุณภาพแบบ PDCA cycle --> Plan Do Check Act ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้คนทุกคนต้องช่วยกันทำ

เพราะการมองจากมุมหนึ่งอาจคิดว่าทำเต็มที่แล้ว ในขณะที่หากมองรอบด้านจากคนทุกคนในสังคม ที่ล้วนมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างชัดเจนไม่ว่าจะจากการระบาดของโรค หรือผลกระทบจากการดำเนินมาตรการใดๆ หรือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังต่อสู้ก็ตาม ก็อาจเห็นบทเรียนที่ทำให้เราได้ทราบว่า สถานการณ์ลักษณะใดใช้อาวุธใดแล้วจะได้ผล อาวุธใดจะไม่ได้ผล หรือมีแนวทางอื่นที่จำเป็นต้องไปดำเนินการหรือไม่
 
หลักสำคัญที่จะเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จในการต่อสู้ คือ
 
การสนับสนุนให้ประชาชนมีความรอบรู้ รู้เท่าทันสถานการณ์อย่างชัดเจน รู้ว่าตอนนี้มีอาวุธอะไรบ้าง ข้อดีข้อจำกัดเป็นเช่นไร เปรียบเหมือนเราเลี้ยงดูลูกหลานให้เติบโตขึ้น หากทำให้เค้ารู้ มีทักษะในการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจภายใต้ข้อมูลความรู้ที่ครบถ้วน

เวลาเจอปัญหาใดในอนาคต ก็จะมีโอกาสอยู่รอดปลอดภัย นี่คือพื้นฐานของแนวคิด "health literacy"

หากไม่รู้เท่าทัน กว่าจะรู้ตัว ภัยก็มาถึงตัวเรียบร้อยแล้ว หรือหากมีอาวุธแต่ไม่รู้จักอาวุธนั้นเป็นอย่างดี ก็จะใช้ประโยชน์จากมันไม่ได้อย่างเต็มที่ หรือมีความประมาทเกิดขึ้นในเรื่องต่างๆ ได้
 
พื้นฐานเหล่านี้หากเราทุกคนช่วยกันทำอย่างพร้อมเพรียง ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชนระดับครัวเรือน สมรรถนะการต่อสู้ก็จะเพิ่มขึ้นและอยู่อย่างยั่งยืน เป็นประโยชน์ทั้งต่อศึกเฉพาะหน้าอย่างโควิด-19 และภัยคุกคามอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
 
เงื่อนเวลาในการตัดสินใจดำเนินมาตรการต่างๆ ในการปะทุรอบนี้นั้นสำคัญมาก และได้แจ้งผู้เกี่ยวข้องโดยตรงให้รับทราบไปแล้วเมื่อวานนี้
 

เรียนเน้นย้ำ ชวนพวกเราทุกคนให้มาร่วมกันป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดนะครับ...สัปดาห์หน้าสำคัญมาก...

อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อตัวเราและครอบครัว และเพื่อประเทศชาติ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นจริงๆ และระยะเวลาสั้นๆ ใส่หน้ากากปิดจมูกปิดปากเสมอ หากใส่สองชั้น ข้างในเป็นหน้ากากอนามัย และข้างนอกเป็นหน้ากากผ้า จะช่วยทำให้ฟิตกับใบหน้าและป้องกันได้ดีขึ้นกว่าชั้นเดียว ล้างมือบ่อยๆ หากอยู่ข้างนอก หรือจับสิ่งของสาธารณะ

Work from home เต็มรูปแบบ แต่ใครหากไปที่ทำงาน ก็ขอให้ใส่หน้ากากในที่ทำงานด้วย เลี่ยงการประชุมแบบเจอหน้า ใช้ออนไลน์จะปลอดภัยกว่า

อาหารการกิน...ซื้อกลับ จะปลอดภัยกว่า คอยติดตามข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และคอยสังเกตอาการตนเองและสมาชิกในครอบครัว หากไม่สบาย ควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ รีบไปตรวจรักษา เตรียมตัว เตรียมสถานที่ เตรียมข้าวของเครื่องใช้จำเป็นไว้บ้าง เผื่อไม่สบาย จะได้แยกกักตัวเองออกจากสมาชิกในบ้าน และบันทึกไทม์ไลน์ประจำวันของเราไว้ทุกวัน จะได้ช่วยให้ทีมสอบสวนโรคทำงานง่ายขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

ที่มา: เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat