‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘อ่อนค่า’ที่31.38บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘อ่อนค่า’ที่31.38บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินไร้ปัจจัยบวก นักลงทุนมีทั้งขายทำกำไรและรอดูปัจจัยใหม่ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก กดเงินบาทอ่อนค่าและมีแนวโน้มอ่อนค่ามากหลังสงกรานต์ จากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19กลับมาเป็นปัญหาสำคัญ

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.38 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.36 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.35 - 31.45 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวม ยังไม่มีทิศทางการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน โดยผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ เริ่มขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น หลังจากที่ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่าง S&P500 ปรับตัวขึ้นต่อแตะจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All Time High) ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดก็ยังคงรอปัจจัยใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้ถูกรับรู้เข้าไปในราคาสินทรัพย์ อาทิรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน หรือ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 รอบโลก โดยเฉพาะ แนวโน้มการระบาดของ COVID-19 ในฝั่งยุโรป    

ภาพของตลาดการเงินที่ยังไร้ปัจจัยบวก หรือ ปัจจัยลบใหม่ๆ ทำให้ ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย0.15% ส่วน ในฝั่งตลาดยุโรป ผู้เล่นส่วนใหญ่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังดัชนีตลาดหุ้นยุโรปพยายามทำจุดสูงสุดใหม่

เนื่องจาก สถานการณ์ COVID-19 ยังคงมีการระบาดทีรุนแรง ขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นของผู้คนต่อวัคซีน AstraZenecca-Oxford ก็ยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้ การแจกจ่ายวัคซีนในยุโรปขาดความคืบหน้า กดดันให้ ดัชนีSTOXX50 ของยุโรป ปิดลบ 0.34% ขณะที่ ดัชนีหุ้นอังกฤษ (FTSE100) สามารถปรับตัวขึ้น 0.9% ตามความเชื่อมั่นการฟื้นตัวเศรษฐกิจอังกฤษ หลังการแจกจ่ายวัคซีนสามารถเร่งตัวขึ้นชัดเจน จนควบคุมการระบาดได้ดีขึ้น

ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยเพียง 1bos สู่ระดับ 1.67% หลังรายงานผลการประชุมเฟดล่าสุด สะท้อนว่า บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น และการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้เฟดจะต้องรีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน

ด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดย ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ ระดับ 92.41 จุด กดดันให้ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงเล็กน้อยสู่ ระดับ 1.187 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนเงินเยน(JPY) ก็อ่อนค่าลงใกล้สู่ระดับ 109.9 เยนต่อดอลลาร์

สำหรับวันนี้ ตลาดจะประเมินภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่คาดว่า จะอยู่ที่ระดับประมาณ 7 แสนราย สะท้อนภาพว่า การจ้างงานในสหรัฐฯ ส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown หลังจากที่สหรัฐฯ สามารถเร่งการแจกจ่ายวัคซีนได้ นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟด ถึงแนวโน้มหรือโอกาสที่เฟดจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวแข็งแกร่ง

และในฝั่งไทย การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19กลับมาเป็นปัญหาสำคัญ หลังสายพันธุ์ที่ระบาด ตอนนี้ คือ สายพันธุ์อังกฤษ ที่สามารถแพร่เชื้อได้เร็ว และอาจทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ ทำให้ ผู้เล่นในตลาดอาจเลือกลดความเสี่ยงการถือครองสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยไปก่อนในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่า การปรับฐานของตลาดหุ้นไทยอาจไม่รุนแรงมากนัก เพราะนักลงทุนสถาบันรวมถึง นักลงทุนต่างชาติ ต่างก็รอโอกาสเพิ่มสถานะถือครอง เมื่อตลาดปรับฐาน

สำหรับ ค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทจะเคลื่อนไหวไปตามทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งคาดว่า โอกาสที่จะเห็นเงินบาทแกว่งตัวเหนือกว่า ระดับ 31.30 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าลงยังมีอยู่สูง

โดยจังหวะที่เงินบาทอาจจะอ่อนค่าลงได้มาก อาจเป็นช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ ที่คาดว่าจะมีโฟลว์จ่ายเงินปันผลให้นักลงทุนต่างชาติไม่น้อยกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ดังนั้น เงินบาทอาจอ่อนค่าไปได้มากถึง 31.50-31.75 บาทต่อดอลลาร์หากจังหวะเงินจ่ายปันผล มาพร้อมกับ เงินดอลลาร์ที่ทรงตัวหรือแข็งค่าขึ้น และแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงในไทย ตามความกังวลสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของโควิดสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งเราคงมองว่า ไตรมาสที่ 2 อาจเป็นไตรมาสสุดท้ายที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าหนักในปีนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงิน พร้อมกับ ใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงค่าเงินเพิ่มเติม อาทิ Options ควบคู่ไปกับการทำ Forward