'ด่านตรวจ' ยุค 'บิ๊กปั๊ด'  เปิดช่อง ปชช.ตรวจ'ตำรวจ'

'ด่านตรวจ' ยุค 'บิ๊กปั๊ด'  เปิดช่อง ปชช.ตรวจ'ตำรวจ'

คณะทำงานได้ศึกษา 'ข้อดี -ข้อเสีย' จนได้ข้อสรุปว่าการไม่มีด่านตรวจ ส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายและมีผู้กระทำผิดเพิ่มตามลำดับ เช่น เมาแล้วขับ การขับขี่จักรยานยนต์ในช่องทางห้ามวิ่ง ไม่สวมหมวกกันน็อค รวมถึงลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว

เสร็จเรียบร้อยเป็นรูปธรรม สำหรับแนวทางปรับปรุงขั้นตอนการตั้ง ด่านตรวจ ที่ "บิ๊กปั๊ด" พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) หมายมั่นปั้นมือ แก้ไขปัญหาดังกล่าวเมื่อช่วงรับตำแหน่งใหม่ๆ หลังมีประชาชนร้องเรียนกันหนาหูถึงความไม่โปร่งใสและเป็นธรรม

ล่าสุดเมื่อ 3 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา “พล.ต.อ.สุวัฒน์” ได้ลงนามในหนังสือเรื่องมาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจเพื่อบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก และความผิดอื่นที่เกี่ยวกับรถ หรือการใช้ทางควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพในทุกพื้นที่ และสอดคล้องกับมาตราการป้องกันแพร่ระบาดโควิด-19

พร้อมกำชับให้ทุกพื้นที่เตรียมแผนการตั้ง “จุดตรวจ” เพื่อใช้ปฏิบัติในช่วงสงกรานต์นี้ หวังหยุดตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน “7 วันอันตราย” ที่คร่าชีวิตประชาชนมากที่สุด โดยเน้น “โปร่งใส มีมาตรฐาน ตรวจสอบได้” ตามมาตรฐานที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติปรับปรุง
สำหรับนโยบายที่ "บิ๊กปั๊ด" มอบเป็นแนวทางให้ทุกพื้นที่ยึดเป็นแนวทางเดียวกันในการตั้ง

“ด่านตรวจรูปแบบใหม่” จะต่างกับด่านตรวจในอดีต ในเรื่องขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติเพื่อครอบคลุมการป้องกันการทุจริตและข้อครหาจากประชาชน อาทิ การตั้งจุดตรวจต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ระดับผู้บังคับการขึ้นไปและต้องมีแผนการปฏิบัติที่ชัดเจน

"จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์" ต้องมีป้ายแสดงถึงมาตรฐานการตรวจวัดแอลกอฮอล์ ที่ผู้รับการตรวจมองเห็นชัดเจน รวมถึงสถานที่ตั้งให้ยึดตามข้อมูลผู้กระทำความผิดและอุบัติเหตุเมาแล้วขับในเขตพื้นที่ รวมถึงสภาพการจราจร ความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนและตำรวจ ความสะดวก มีที่จอดยานพาหนะของผู้ขับขี่ มีไฟฟ้าสำหรับใช้ที่จุดตรวจฯ เช่น สำหรับกล้องวงจรปิด สัญญาณไฟวูบวาบ และเครื่องพิมพ์ผลการตรวจ

และต้องมีแผงกั้นที่มีเครื่องหมายการจราจรว่า “หยุดตรวจ” ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ส่วนเวลากลางคืนต้องมีไฟส่องสว่างให้มองเห็นชัดเจนไม่น้อยกว่า 150 เมตร และก่อนถึงจุดตรวจให้มีแผ่นป้ายแสดงยศ ชื่อ นามสกุล และตำแหน่ง ของหัวหน้าด่านตรวจ หรือจุดตรวจดังกล่าว ใช้กิริยาวาจาสุภาพ ในการสื่อสารกับประชาชน ควบคู่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ บันทึกข้อมูลการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ตามแผนการปฏิบัติ ลงในระบบการจัดทำแผนการตั้งจุดด่านตรวจกวดขันวินัยจราจร (Police Traffic Checkpoint Control) ตามที่ ผบ.ตร. เน้นย้ำ
     

ขณะเดียวกัน ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ทุกนาย ให้บันทึกการปฏิบัติหน้าที่ด้วยกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อยืนยันหลักความโปร่งใสการตรวจสอบได้

สำหรับการตรวจวัดแอลกอฮอล์ ให้มีการตรวจเบื้องต้นและแบบยืนยันผล และต้องบันทึกการตรวจทั้งสองแบบด้วยกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว แบบดิจิทัลชนิดใส่ซิมเน็ต เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาสามารถตรวจสอบได้แบบเรียลไทม์

ทั้งนี้ สาเหตุหลัก พล.ต.อ.สุวัฒน์ ต้องการรื้อฟื้นการตั้งด่านตรวจกลับมาใช้อีกครั้ง หลังตั้งคณะทำงานศึกษา “ข้อดี -ข้อเสีย” จนได้ข้อสรุปว่าการไม่มีด่าน ส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายและมีผู้กระทำผิดเพิ่มตามลำดับ เช่น เมาแล้วขับ การขับขี่จักรยานยนต์ในช่องทางห้ามวิ่ง ไม่สวมหมวกกันน็อค ปัญหายาเสพติด รวมถึงลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว

จึงมองว่าการตั้งด่านตรวจยังมีความจำเป็น สามารถดำเนินการได้หากมีการเพิ่มมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการทุจริตและข้อครหาของจากประชาชนให้รัดกุม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และพร้อมที่จะถูกร้องเรียน

นี่คือ “ด่านตรวจรูปแบบใหม่” ยุค "บิ๊กปั๊ด" เป็น ผบ.ตร. ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นการป้องปรามและสกัดผู้ทำผิดกฎหมาย ทั้งการจราจร อาชญากรรม สิ่งผิดกฎหมายบนท้องถนนเท่านั้น แต่ยังเปิดให้ประชาชนได้ตรวจสอบการทำงานของตำรวจได้เช่นกัน