'บัญชีนวัตกรรมไทย' ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

'บัญชีนวัตกรรมไทย' ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

ปัจจุบัน ประเทศไทยนำเข้าเครื่องมือแพทย์มูลค่ากว่า 6.5 ล้านบาท จึงมีความพยายามผลักดันงานวิจัยของไทย รวมถึงนโยบาย "บัญชีนวัตกรรมไทย" เพื่อลดการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ และเตรียมพร้อมสู่ Medical Hub

ขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้านทางการแพทย์ของไทย อยู่อันดับ 5 ของโลก โดยภาครัฐตั้งเป้าว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า จะเติบโต 30-40% ถือเป็นความท้าทาย และต้องเตรียมพร้อมในการรองรับประเทศ ปัจจุบัน โรงพยาบาลในประเทศไทยมีการรับรองมาตรฐาน (Joint Commission International : JCI) กว่า 59 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงพยาบาลของรัฐ 46 แห่ง ถือว่ามากที่สุดในเอเชีย ขณะที่ธุรกิจทางการแพทย์ มีแนวโน้มขยายตัวเรื่อยๆ เพราะเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัวในปี2564 คือ ประชากร 1 ใน 5 เป็นผู้สูงอายุ

“ศ.นพ. กีรติ เจริญชลวานิช” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ รพ.ศิริราช กรรมการแพทยสภา กล่าวในงาน สัมมนาออนไลน์ “อุตสาหกรรมและธุรกิจเครื่องมือแพทย์ รู้ก่อน เตรียมตัวก่อน” ผ่านระบบ Zoom ว่า อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 5 อันดับ ได้แก่ เบาหวาน หัวใจหลอดเลือด ปอดติดเชื้อ มะเร็ง ไตวายเรื้อรัง ต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์มากขึ้น วงเงินที่ใช้ในการดูแลรักษาพยาบาลสูงขึ้นทุกปี มีการลงทุนด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์มากขึ้น

ขณะที่ ภาพรวมของไทยอุปกรณ์ทางการแพทย์และวัสดุทางการแพทย์ของไทย รวมถึงครุภัณฑ์ และน้ำยาทางการแพทย์นำเข้า 6.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนการส่งออกปี 2563 ไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท ทำให้ปัจจุบัน มีการพยายามผลักดันให้เกิดนวัตกรรมการแพทย์ใหม่ๆ ที่ผลิตโดยคนไทย ที่มีคุณภาพและใช้ในประเทศ ลดการนำเข้า

นโยบายภาครัฐที่สนับสนุนผู้ประกอบการในธุรกิจ เครื่องมือแพทย์ไทย รวมไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2563 ให้การรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย หรือ Made in Thailand (MiT) ภายใต้หน่วยงานรับผิดชอบ คือ สภาอุตสาหกรรมฯ 

“พีระวัฒน์ ทองคำ” ที่ปรึกษากลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อธิบายว่าสินค้าที่ได้รับการรับรอง ต้องเป็นสินค้าที่ผลิตในไทย ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ หรือ Local Content ไม่น้อยกว่า 40%

เครื่องมือแพทย์เกือบทั้งหมดที่ผลิตในประเทศสามารถขึ้นทะเบียน MiT ได้ ใช้เวลา 2 เดือน ต่ออายุทุกปี ซึ่งระยะเวลา 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลข ณ วันที่ 10 มีนาคม 2564 มีผู้ยื่นแล้ว 1,000 ใบ และอนุมัติ 450 ใบ (รวมทุกอุตสาหกรรมไม่เฉพาะเครื่องมือแพทย์) หากโครงการยั่งยืนจะเป็นประโยชน์ของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และอื่นๆ ด้วย

ขณะที่นโยบายขึ้น “บัญชีนวัตกรรมไทย” ภายใต้หน่วยงานรับผิดชอบ คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เริ่มตั้งแต่ปี 2558 โดย อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ที่จะเป็นนวัตกรรมไทยได้ ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดจากการวิจัยโดยองค์ความรู้ภายในประเทศ มีคนไทยเข้าไปมีส่วนร่วม แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีการทดสอบ และมีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัยต่อผู้ใช้

"การทดสอบความปลอดภัยจะเป็นประเด็นมากเพราะเป็นของใหม่ หมายความว่ายังไม่มีมาตรฐานสากลยอมรับ แตกต่างจาก “ยา” หรือ “เวชภัณฑ์” หากเป็นยาที่มีอยู่แล้ว แต่ทำในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากล ก็สามารถขึ้น "บัญชีนวัตกรรมไทย" ได้ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้น "บัญชีนวัตกรรมไทย" บางอย่างข้อจำกัดไม่เหมือนกัน ซึ่งสภาอุตสาหกรรม ก็พยายามพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐว่าหากต้องการผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ให้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การที่ให้เครื่องมือแพทย์ไทยที่ไม่เคยผลิตได้ ผลิตขึ้นมาทดแทนการนำเข้ามาตรฐานสากลได้ จะแก้เพลนพอยท์ของประเทศได้ ลดการนำเข้า และหากพัฒนาไปได้ สู่การต่อยอด”

ที่ปรึกษากลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ ระบุว่า “บัญชีนวัตกรรมไทย" มีอายุมากที่สุดคือ 8 ปี หากเคยขายมาแล้ว 3 ปี ในประเทศ นวัตกรรมไทยจะเหลือ 5 ปี และนำผลิตภัณฑ์ตัวเดิมมาต่ออายุไม่ได้ ยกเว้น การนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นนวัตกรรมใหม่จึงจะต่ออายุได้อีก แต่ข้อดีของ บัญชีนวัตกรรมไทย คือ หากหน่วยงานมีความสนใจจัดซื้อจัดจ้าง สินค้าที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย สามารถใช้วิธีเฉพาะเจาะจงในการจัดซื้อได้ หน่วยงานภาครัฐสามารถใช้งบประมาณ 30% ซื้อสินค้านวัตกรรมไทยได้

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558 – ก.พ. 2564 ในเวลา 6 ปี มีบัญชีนวัตกรรมไทย (ทั้งหมดไม่เฉพาะเครื่องมือแพทย์) 470 รายการ รายการที่สิ้นสุดบัญชีนวัตกรรม 44 รายการ มี 1 รายการที่ขอยกเลิก และคงเหลือที่ประกาศบัญชีนวัตกรรมไทย 425 รายการ ในส่วนของด้านการแพทย์ ที่ได้บัญชีนวัตกรรมไทย ได้แก่ “ยา” 215 รายการ “เวชภัณฑ์ทางการแพทย์” 26 รายการ “วัสดุการแพทย์” 16 รายการ เท่านั้น โดยรายการที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือแพทย์ต้องเป็นของใหม่ ปลอดภัย มีการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ ทำให้บัญชีนวัตกรรมไทยเดินช้ากว่า เป็นเพนพอยท์อย่างหนึ่งของบัญชีนวัตกรรมไทย ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดคุยกับคณะกรรมการถึงเกณฑ์การพิจารณา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐต่อไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก "บัญชีนวัตกรรมไทย" หน่วยงานรับผิดชอบ คือ สวทช. ซึ่งขณะนี้ ภาครัฐได้มีการผลักดันผ่าน BCG โมเดล และ "บัญชีนวัตกรรม" อยู่ในส่วนของ B (Bio Economy) หลักพิจารณาคือ นวัตกรรม ปลอดภัย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้กว่าจะได้ครั้งหนึ่งต้องใช้เวลา แต่มีความยั่งยืน เพราะเป็นนโยบายที่อยู่มานานกว่า 6 ปี และเป็น BCG โมเดลอีกด้วย

161729373576

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ทิศทาง 'อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์' หลังโควิด-19

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เสริมศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ดันไทยสู่ Medical Hub

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สศอ.จี้แผน อุตฯเครื่องมือแพทย์ ร่วม 3 องค์กรผลิตใช้ในไทย