ทิศทาง 'อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์' หลังโควิด-19

ทิศทาง 'อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์' หลังโควิด-19

แม้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในไทย จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากผู้ป่วยไปโรงพยาบาลน้อยลง อย่างไรก็ตามการมุ่งเป็น Medical Hub และ สังคมสูงวัย พร้อมการสนับสนุนด้านการลงทุนภาครัฐ มีการคาดการณ์ว่าปี 2564 - 65 อุตฯ ดังกล่าวจะโตกว่า 6.5% ต่อปี

ปี 2564-2565 คาดว่ามูลค่าการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 6.5% ต่อปี จากปัจจัย การเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน รวมถึงจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคที่ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น

รวมทั้ง การลงทุนของธุรกิจโรงพยาบาลทั้งการสร้างใหม่และการขยายพื้นที่ให้บริการจะทำให้ความต้องการอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์เพิ่มขึ้น และ นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ในการให้สิทธิพิเศษการลงทุนกับกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือแพทย์และชิ้นส่วน การเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องของบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของ BOI และมาตรการยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วน/วัตถุดิบเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา ส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยเติบโตต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่มแรงกดดัน ด้านการแข่งขัน โดยเฉพาะกลุ่มSME ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในธุรกิจนี้

160243312713

"ทนพ.สุรพงษ์ เศรษฐปราโมทย์"  กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโนเมด (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในผู้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ก่อนโควิด-19 ถือว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องอยู่ในเกณฑ์ที่สูง เมื่อเทียบกับภูมิภาคอาเซียนด้วยกันโดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์สำหรับผู้สูงอายุ เพราะปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ รวมถึงการให้ความสำคัญกับระบบสาธารณสุขของรัฐบาล

"เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยที่เคยเป็นเป้าหมาย Medical Tourism อันดับต้นๆ ของโลก ทั้งด้านการตรวจสุขภาพ การรักษา และทันตกรรม กลับได้รับผลกระทบ ประกอบกับระบบสาธารณะสุขมากกว่า 80% หยุดให้บริการ ผู้ป่วยในกรณีการเจ็บป่วยทั่วไปและไม่ร้ายแรงงดการมาโรงพยาบาล ส่งผลให้อุตสาหกรรมการแพทย์ซบเซา โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีลูกค้าหลักเป็นโรงพยาบาลยอดขายของแต่ละบริษัทในไตรมาสที่ 2 - 3 ลดลงไม่น้อยกว่า 20-30 % เมื่อเทียบกับยอดขายในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา”

ขณะเดียวกัน “การนำเข้าเครื่องมือแพทย์” ในช่วงแรกที่มีการระบาดเป็นไปอย่างลำบาก เนื่องจากงดเที่ยวบินจากต่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถนำเข้าได้หรือใช้เวลานานกว่าปกติในส่วนของ“การส่งออก”ได้รับผลกระทบจากลูกค้าในต่างประเทศลดการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่ไม่จำเป็นต่อการรักษาลงและนำเงินไปสั่งซื้อเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นต้องในช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นสินค้าที่ประเทศไทยผลิตไม่ได้

160243312677

"ทนพ.สุรพงษ์ เศรษฐปราโมทย์"  กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโนเมด (ประเทศไทย) จำกัด

อย่างไรก็ตามจากการที่ผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทยเพิ่มเครื่องจักรและกำลังการผลิต และมีโรงงานที่ก่อตั้งขึ้นใหม่อีกนับ 10 โรงงาน ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวกับสุขอนามัยเช่น ถุงมือยาง หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ฯลฯ เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะประชาชนตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการป้องตนเอง ตามชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal

การปรับตัวอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ “ทนพ.สุรพงษ์” อธิบายว่าต้องมีการปรับตัวไม่ว่าจะเป็น “การปรับเปลี่ยนตัวสินค้า” เนื่องจากโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้ป่วยและผู้ให้บริการ คือ โรงพยาบาลและคลินิกต่างๆ เปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาภายในโรงพยาบาลเท่านั้น ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง อาการไม่รุนแรง ซึ่งเปลี่ยนมาใช้วิธีการรับยาผ่านทาง อสม.หรือส่งยาถึงบ้าน

160243417645

“ดังนั้น สินค้าต่อไปในอนาคตจะต้องเป็นรูปแบบที่ให้คนไข้สามารถใช้งานได้เองที่บ้านเพื่อบ่งบอกอาการของโรคว่าควรจะไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือไม่ รวมถึงซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่จะช่วยให้แพทย์และคนไข้สามารถที่จะพบกันได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเท่านั้น และ การปรับเปลี่ยนช่องทางการการจัดจำหน่าย ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในเรื่องสถานที่จัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และการโฆษณาเครื่องมือแพทย์”

ทั้งนี้ ความท้าทายในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในอนาคต “ทนพ.สุรพงษ์” ให้ความเห็นว่าภาครัฐต้องกลับมาทบทวนว่าถึงเวลาหรือยัง ที่ประเทศไทยควรจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์อย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการลดการนำเข้าและพึ่งพาเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ จากนั้นค่อยพัฒนาและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆของผู้ประกอบการ เครื่องมือแพทย์ของไทยเพื่อให้ต่อยอดไปสู่การผลิตสู่ภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลก โดยเฉพาะสนับสนุนให้หน่วยงานในมหาวิทยาลัยซึ่งมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเป็นจำนวนมากมีงานวิจัยที่สามารถนำมาต่อยอดการพัฒนาในเชิงอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ได้

160243312681

  • วัสดุสิ้นเปลืองต้องการสูง

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์โตต่อเนื่องตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยและผู้สูงอายุคาดการณ์ในปี 2563 มีแนวโน้มเติบโตขึ้น 3% กลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์จะมีความต้องการสูง ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงอย่างกลุ่มครุภัณฑ์การแพทย์ได้รับผลกระทบจากผู้เข้ารับบริการในโรงพยาบาลลดลง

สภาอุตสาหกรรม ระบุว่าตลาดเครื่องมือแพทย์ภายในประเทศไทยปี 2562 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 120,000 ล้านบาท (ราคาขายส่ง) ขณะที่ข้อมูลจาก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่า มูลค่านำเข้า ส่งออก อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ปี 2562 แบ่งเป็น นำเข้า 69,746 ล้านบาท ได้แก่ วัสดุทางการแพทย์ 28,253 ล้านบาท คิดเป็น 40.5% ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 29,780 ล้านบาท คิดเป็น 42.7% และ น้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค 11,731 ล้านบาท คิดเป็น 16.8% ในส่วนมูลค่าการ ส่งออก คิดเป็น 106,358 ล้านบาท ได้แก่ วัสดุทางการแพทย์ 93,860 ล้านบาท คิดเป็น 88.3% ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 10,981 ล้านบาท คิดเป็น 10.3% และ น้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค 1,516 ล้านบาท คิดเป็น 1.4% 

160243417716

บทวิเคราะห์ “อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์” โดย ศูนย์วิจัยกรุงศรี ระบุ ปี 2562 มูลค่าการค้าเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ในตลาดโลก (ผลรวมของมูลค่าการส่งออกและนำเข้า) อยู่ที่ 80 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% จากปี 2561 โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นครุภัณฑ์ทางการแพทย์คิดเป็นสัดส่วน 75.1% รองลงมาคือ วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ (สัดส่วน 20.8%) และน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค (สัดส่วน 4.1%)

ประเทศที่มีการส่งออกเครื่องมือแพทย์รายใหญ่ที่สุด ได้แก่ เยอรมนี มีสัดส่วน 16.6% รองลงมา ได้แก่ สหรัฐฯ (สัดส่วน 10.8%) ญี่ปุ่น (สัดส่วน 8.3%) และจีน (สัดส่วน 8.2%) ขณะที่ประเทศที่นำเข้าเครื่องมือแพทย์รายใหญ่ที่สุด ได้แก่ ที่สหรัฐฯ มีสัดส่วน 23.6% รองลงมา ได้แก่ เยอรมนี (สัดส่วน 9.1%) จีน (สัดส่วน 6.5%) และฝรั่งเศส (สัดส่วน 4.8%) ไทยเป็นประเทศที่ส่งออก ลำดับที่ 17 (สัดส่วน 1.3%) และนำเข้า 29 (สัดส่วน 0.6%) ของโลก

มูลค่าการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยปี 2563 มีแนวโน้มเติบโต 3% (ชะลอจาก 5.5% ปี 2562) ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์จะเติบโตได้ต่อเนื่อง จากความต้องการใช้อุปกรณ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 และมาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีมูลค่าไม่สูงนัก ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงอย่างกลุ่มครุภัณฑ์การแพทย์ได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้เข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่มีแนวโน้มลดลงจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่เชื้อ